จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่นำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเป็นผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของเกษตรกรมีราคาสูงขึ้น เมื่อดูราคาเปรียบเทียบปุ๋ยเคมีในปี 2565 ที่ปรับราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีราคาอยู่ที่กระสอบละ 700 บาท แต่ในปี 2565 มีราคาอยู่ที่กระสอบละ 1,300-1,600 บาท และราคาน้ำมันที่ในปีที่แล้วราคา 23-35 บาทต่อลิตร แต่ในปี 2565 ราคาอยู่ที่ 35-45 บาทต่อลิตร จากราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลกระทบทำให้ชาวนาและเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูง ชาวนาบางพื้นที่ต้องหยุดทำนาชั่วคราวเนื่องจากแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว ชาวนาบางรายต้องเสียค่าเช่านาเนื่องจากไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และชาวนาหลายคนมีภาระหนี้สินจำนวนมาก และอยู่ในวงจรเงินเชื่อปัจจัยการผลิตและการหมุนหนี้ ส่งผลให้การปรับตัวยาก
ความท้าทายของชาวนาและเกษตรกรที่มีภาระหนี้สินในการปรับตัวลดต้นทุนการผลิต ซึ่งไม่ใช่เพียงการปรับเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีราคาแพงมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น แต่ต้องปรับระบบการผลิตอินทรีย์ สู่การผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งการปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลา ผลผลิตข้าวอาจลดลง นั่นอาจหมายถึงรายได้ที่ลดลง โดยมีตัวอย่างความพยายามของกลุ่มชาวนาที่มีหนี้สิน และปรับรูปแบบการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้จากการขายข้าวด้วยตนเอง กลุ่มพันธมิตรการเกษตรบ้านนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีประธานกลุ่ม คุณบุญชู มณีวงษ์ ได้บอกเล่าว่าทางกลุ่มได้ปลูกข้าวแบบลดต้นทุนภายหลังประสบปัญหาปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ดังนี้
ต้นทุนการทำนาเปรียบเทียบรอบก่อนและหลัง ปี 2564 และ ปี 2565 ดังนี้ 1. ค่าไถดะ ไถแปร ลูบเทือก ราคาค่าจ้างอยู่ที่เดิมไร่ละ 500 บาท ปัจจุบันไร่ละ 600 บาท 2. เมล็ดพันธุ์ข้าว 1 ไร่ใช้เมล็ดพันธุ์หอมมะลิ 25 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็น 800 บาทต่อไร่ ราคาเท่าเดิม 3. ค่าจ้างหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้แรงงานตนเอง 4. ค่าปุ๋ย 1 ฤดูให้ปุ๋ย 3 รอบ ให้อย่างต่ำครั้งละ 25 กิโลกรัม (ครึ่งกระสอบ) ต่อไร่ โดยราคาปุ๋ยชีวภาพกึ่งเคมีเดิมอยู่ที่ 700-800 บาทต่อกระสอบ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,200-1,300 บาทต่อกระสอบ คิดเป็นต้นทุนต่อฤดูกาลอยู่ที่ 1,200-1,300 บาทต่อไร่ แต่หากดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นก็อาจปรับมาใช้ปุ๋ยชีวภาพเต็มรูปแบบราคาจะอยู่ที่ 500 บาทต่อกระสอบ 5. ค่าจ้างหว่านปุ๋ย ใช้เรงงานตนเอง 6. ค่าฮอร์โมนเร่งใบ ขวดละ 400-600 ต่อไร่อยู่ที่ 50-100 บาท 7. ค่ารถเกี่ยวข้าว 500 บาทต่อไร่ 8. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเดิมอยู่ที่ 1,300 บาทต่อไร่ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,785 บาทต่อไร่ โดยคำนวณต้นทุนการทำนาทั้งหมดจะอยู่ที่ 5,000 บาทต่อไร่ และผลผลิตข้าวที่ได้ต่อไร่จะได้ 600-800 กิโลกรัม ซึ่งหากทำนาปกติแบบไม่ลดต้นทุนก็มีจะต้นทุนอยู่ที่ 6,000-6,500 บาทต่อไร่ และหากมีค่าเช่านาจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีก การปลูกข้าวแบบลดต้นทุนถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 1,000 บาทต่อไร่เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ด้วยวิกฤตต้นทุนการทำนาที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 บุญชูและสมาชิกกลุ่มฯ ได้ลดการทำนาลงจากการทำนา 3 ครั้งต่อปี มาเป็นทำนา 2 ครั้งต่อปีแทน โดยถือเป็นการพักหน้าดินและระหว่างที่พักก็หมักปุ๋ยหมักดิน ให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ไว้เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยในรอบการผลิตครั้งต่อไป
บุญชูและสมาชิกกลุ่มฯ จะเน้นเรื่องการพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดในการผลิตข้าว เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นทุกวัน นอกจากการทำข้าวแบบลดต้นทุนแล้วทางกลุ่มยังนำข้าวที่ได้มาสีเป็นข้าวสารแพ็กใส่ถุงขายเองอีกด้วย รูปแบบการขายข้าวขึ้นอยู่กับลูกค้า หากเป็นลูกค้าชาวบ้านจะขายบรรจุกระสอบ กิโลกรัมละ 30 บาท หากซื้อถุง 1 กิโลกรัม ราคา 35 บาท และถุงแพ็กแบบสุญญากาศ ก็จะขายที่กิโลกรัมละ 50-55 บาท
บุญชูกล่าวว่า “ทางกลุ่มยังคงขายข้าวราคานี้ แม้จะเจอผลกระทบต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะหากปรับราคาให้สูงขึ้นตามท้องตลาดก็กลัวว่าชาวบ้านและผู้บริโภคที่ซื้อข้าวจากทางกลุ่มจะยิ่งลำบากในช่วงที่สินค้าต่างๆ พากันขึ้นราคากัน ข้อดีของการทำข้าวขายเองคือเรามีข้าวเก็บไว้กินเองด้วย ที่เหลือก็แบ่งขาย ถ้าขายให้โรงสีเป็นข้าวเปลือกจะได้ 6,000-6,500 บาทต่อเกวียน แต่ขายเองเป็นข้าวสาร 13,000-15,000 บาทต่อเกวียน ข้าวที่ทำก็ดีต่อสุขภาพเพราะทำข้าวแบบปลอดสาร จากเดิมด้วยความไม่รู้ อยากจะได้ข้าวปริมาณมากๆ ก็ทำแบบใส่ปุ๋ยเคมีใส่สารเคมี ผลสุดท้ายเราก็ต้องใช้เงินนั้นมารักษาตัวเอง ตอนนี้ชาวนาที่กลุ่มเราปลูกข้าวกินกันเอง เราไม่ค่อยเจ็บป่วย แข็งแรง ทำงานได้ปกติ ดีกว่าเราไปกินข้าวตามท้องตลาดที่เราไม่รู้ที่มาและขั้นตอนการผลิตว่าเป็นอย่างไร”
นอกเหนือจากการทำนา ทางกลุ่มยังให้ความสำคัญกับการสร้างช่องทางรายได้หลากหลายช่องทาง ทำอาชีพเสริมรายได้ ไม่ทำนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ ขนมปังอบกรอบ มะม่วงแช่อิ่ม อัญชันและสมุนไพรอบแห้ง เพื่อเป็นรายได้เสริม รวมถึงการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองกันในครอบครัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
สุดท้ายคุณบุญชู มณีวงษ์ ฝากไว้ว่าชาวนายุคปัจจุบันที่เผชิญภาวะวิกฤตรอบด้าน ทั้งภาวะต้นทุนและปัจจัยการผลิตสูง กำหนดราคาเองไม่ได้ ภาวะหนี้สูง นอกเหนือจากการเรียกร้องเชิงระบบและการปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรม ชาวนาต้องปรับตัวเองด้วยจึงจะอยู่รอด ทั้งปรับตัวด้านการผลิต การตลาด การบริหารการเงินและพึ่งพาตนเองด้านอาหาร จึงจะเกิดความยั่งยืนและมั่นคงในการทำนา ทั้งนี้ข้าวที่ปลูกเรามั่นใจได้ว่าดีต่อสุขภาพทั้งคนปลูกและคนกิน จึงจะเกิดความอยู่รอดร่วมกัน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิ.ย. 2565
ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.