สถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในรอบ 1 ปีที่่ผ่านมา ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 25-30 ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมด หรือมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 1,500-2,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ขยับสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวนาและเกษตรกรทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศไทยพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นหลัก ในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี (N-P-K) มีมูลค่ามากถึง 70,102 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิเช่น การอุดหนุนราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำได้เพียงระยะสั้นและมีข้อจำกัด ทั้งนี้ยังมีทางเลือกการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งควรดำเนินการส่งเสริมควบคู่กับการให้ความรู้แนวทางการจัดการการเพาะปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและมีรายได้เพิ่มขึ้น
แนวทางการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสม
ก่อนเริ่มต้นใส่ปุ๋ยหรือนำวิธีการปรับปรุงบำรุงดินมาใช้ในแปลง อันดับแรกเกษตรกรต้องรู้จักสภาพดินของตนเอง โดยนำตัวอย่างดินในแปลงของตนเองมาตรวจวิเคราะห์ ขั้นตอนคือ ขุดดินแต่ละจุด ลึก 1 หน้าจอบ จำนวน 9 จุด กระจายให้ทั่วทั้งแปลง จากนั้นนำดินทั้ง 9 จุด มาผสมกันแล้วตากให้แห้งในที่ร่มเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และร่อนจนละเอียด แบ่งดินมาเพียงครึ่งกิโลกรัมเพื่อมาใช้สำหรับการตรวจ จากนั้นนำตัวอย่างดินที่เก็บมาเรียบร้อยแล้วส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตใกล้บ้าน ซึ่งในรายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน จะมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใส่ปุ๋ยและการปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกอยู่ด้วย
จากนั้นจะนำไปสู่ขั้นตอนการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหนึ่งในขั้นตอนการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเริ่มจากการมีองค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของปุ๋ยแต่ละชนิดว่ามีแร่ธาตุอย่างไร ด้วยการประยุกต์จากวัสดุเหลือใช้ในแปลง ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยมูลสัตว์ เศษอาหาร เศษใบไม้ ขี้เถ้า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประกอบไปด้วยแร่ธาตุสำคัญ 3 ชนิดหลัก ดังนี้ 1) P คือ ฟอสฟอรัส พบมากในปุ๋ยมูลหมู วัว แพะ เหมาะกับพืชกินผล ให้ดอก 2) N คือ ไนโตรเจน พบในปุ๋ยมูลไก่ เป็ด ใช้เพื่อการบำรุงกิ่ง ใบ ราก เหมาะกับพืชกินใบ 3) K คือ โพแทสเซียม พบมากในขี้เถ้าแกลบ (ที่มา : รายงานการฝึกอบรมเรื่องแนวคิดและเทคนิคเกษตรทางเลือกกับการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดย อ.เกศศิรินทร์ แสงมณี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร )
เราสามารถได้ธาตุอาหารสำหรับพืชจากปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิดมีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืช คำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน มีดังนี้ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก) อัตรา 2-3 ตันต่อไร่/ปี และไถกลบปุ๋ยพืชสดร่วมด้วย ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยเสริมสร้างอินทรียวัตถุให้ดิน ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและชีวภาพ ทำให้โครงสร้างดินดี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช และการไถกลบพืชปุ๋ยสด ทำโดยก่อนปลูกพืช หว่านพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ หว่านปอเทือง, โสนแอฟริกัน 4-6 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วพร้า 4-10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วพุ่ม 6-8 กิโลกรัมต่อไร่ (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) แล้วไถกลบระยะออกดอก ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ (ประมาณ 15-20 วัน) ก่อนปลูกพืช ซึ่งการไถกลบพืชปุ๋ยสดเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุแก่ดินได้
สำหรับแนวทางการฟื้นบำรุงดินหรือปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง แหนแดง 1 กิโลกรัมต่อแปลง 1 ตารางเมตร จะช่วยลดความเป็นกรดและดินเปรี้ยวได้ และหากผสมแหนแดง 1 กิโลกรัมต่อมูลวัว ครึ่งกิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร จะช่วยตรึงไนโตรเจนในดินทำให้ปลูกผักได้ดี การใช้แหนแดงในการตรึงดินเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าดินในพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัย เพราะแหนแดงจะไม่เติบโตในพื้นที่ที่เคยใช้ยาฆ่าหญ้าหรือมีสารเคมีค้างอยู่ แหนแดงยังมีคุณสมบัติอีกมากมายและสามารถใช้ควบคุมหญ้าแทนพาราควอตได้อีกด้วย
นอกจากการปรับปรุงดินให้เหมาะกับพืชที่ปลูกแล้ว การดูแลแปลงก็เป็นส่วนสำคัญ โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้เทคนิคการห่มดินหรือการคลุมดินด้วยฟาง หญ้า หรือแฝก ที่เหลือจากการทำนา เพื่อให้ดินรักษาความชื้นและเป็นการหมักดินได้ดี ใช้เวลาอย่างน้อย 15 วันในการเตรียมแปลงเพื่อให้กระบวนการหมักสมบูรณ์ก่อนเริ่มเพาะปลูกแต่ละรอบ
จะเห็นได้ว่าแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดินทดแทน เป็นทางเลือกในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตในภาวะราคาปุ๋ยเคมีแพงได้อย่างมาก ซึ่งวิธีการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังส่งผลให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อธรรมชาติ และสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยแรงจูงใจสำคัญของเกษตรกรเพื่อปรับตัวรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น คือ รายได้ที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้ทำเอง จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ยอินทรีย์อาจแพงกว่าปุ๋ยเคมี นอกจากนี้เกษตรกรต้องรู้จักบริหารจัดการการเพาะปลูกโดยลดต้นทุนการผลิตในส่วนที่ทำได้เองควบคู่ไปด้วย เช่น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลง การปรับปรุงบำรุงดิน ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์รายได้ที่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับต้นทุนด้านแรงงานและการใช้เวลาของเกษตรกรจากแนวทางการปรับตัวครั้งนี้
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 พ.ค. 2565
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.