"...งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่..."
...............................
หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการและประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ ภายในงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565
ที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคมของไทย เรามักจะติดกับดักเรื่องของกิจกรรม เวลาที่พูดถึงแผนพัฒนาก็จะมุ่งตรงไปสู่กิจกรรมของการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
ในบริบทข้างหน้า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาของเกษตรกรรายเล็กของเราซับซ้อนมากขึ้นและปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกษตรกรรายเล็กของเราต้องแปลงร่างและพลิกโฉม หรือที่เรียกว่า transform ท่ามกลางบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเรายึดติดกับกิจกรรม ที่มักเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากของเดิม ก็อาจไม่เท่าทันบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จริง
สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องกิจกรรม คือ เราต้องช่วยกันกลั่น ‘หลักคิดนำทาง’ หรือ ‘guiding principles’ ที่จะช่วยสร้างอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย แม้ว่าผมไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญในด้านการเกษตร แต่ได้ติดตามงานต่างๆอยู่บ้าง จึงขอมองในมุมมองจากภาพใหญ่ว่า ถ้าจะคิดถึงเรื่อง guiding principles หรือหลักคิดนำทางที่สำคัญ จะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญ ซึ่งผมคิดว่า มีอย่างน้อย 5 เรื่องด้วยกัน
@เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย
เรื่องแรก เวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก การมองเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก เรามองอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก เพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องเอาคนไทย คุณภาพชีวิตของคน หรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยรายเล็ก เป็นเป้าหมายหลัก หรือเป็นหลักคิดนำทาง และนโยบายต่างๆที่จะตามมานั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรรายเล็กของประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน
หลายครั้งเวลาที่คิดถึงกรอบการพัฒนาหรือกรอบการแก้ปัญหา เรามักจะมองข้ามมิติเรื่องคนเป็นเป้าหมาย เราไม่ได้เอาคนเป็นศูนย์กลาง และหลายครั้งเราไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่า เกษตรกรรายเล็กได้อะไรจากนโยบายหรือมาตรการต่างๆที่เราทำ บางครั้งเราอาจให้ความสำคัญกับภาพใหญ่ เช่น ประเทศไทยต้องรักษาปริมาณการส่งออกข้าวให้ได้อันดับต้นๆของโลก เรากังวลกับห่วงโซ่อุปทานว่า เดี๋ยวจะขาดวัตถุดิบทางการเกษตร และการทำนโยบายอุดหนุนต่างๆ
บางครั้งเราก็พูดภาพใหญ่ๆ เช่น เรื่องผลิตภาพของภาคการเกษตรไทย โดยไม่ได้ยึดโยงลงไปถึงว่า เกษตรกรรายเล็กเขาอยู่ตรงไหนในจิ๊กซอว์เหล่านั้น ยิ่งถ้าเรามองจากเลนส์หรือแว่นตาของหน่วยงานราชการ หรือจากพรรคการเมืองที่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง และคะแนนนิยมด้วยแล้ว คนทำนโยบายในระดับมหภาคมักจะลืมเรื่องการมองผ่านแว่นตาหรือเลนส์ของเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย
จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาในวันนี้ เราจะได้ guiding principles ที่เป็นมุมมองของคนที่เอาเกษตรกรรายเล็กเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยคลี่ออกมาว่า ระบบนิเวศและกลไกสนับสนุนควรให้น้ำหนักกับเรื่องอะไรบ้าง หรือมิติใดบ้าง
@เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ติด ‘กับดักหนี้’ ทำให้ปรับตัวได้ยาก
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรายเล็กเป็นอย่างยิ่ง และไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ (ผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’) แต่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่งว่า จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ได้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรรายเล็ก คือ เรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพราะในขณะที่เกษตรกรรายเล็กของไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคต่างๆมากมายแล้ว ต้องปรับตัว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตร ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่พันธนาการการปรับตัวเหล่านั้น
มีงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ และมีหนี้คงค้างเฉลี่ยอยู่ที่ 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี และเกษตรกรผู้สูงอายุที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยก็มีหนี้อยู่ในระดับสูงด้วย
งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่
ถ้าไปดูที่มาว่า เกษตรกรเป็นหนี้จากอะไร ในรายงานศึกษาวิจัยพบว่าร้อยละ 73 เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร และเกษตรกรกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางมีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือนต่อปี และเวลาที่เขาขาดสภาพคล่อง เขาต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป
และยังพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้อย่างที่คาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องช็อกที่เกิดขึ้นทุกๆ 1 ใน 3 ปี ส่งผลให้เกษตรกรตกไปอยู่ในกับดักหนี้ และจากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ มีการประเมินว่ากว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ของครัวเรือนเกษตรกร จะมีปัญหาในการชำระหนี้
โจทย์สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตเกษตรกรไทยที่ต้องปรับตัว ก็มีคำถามสำคัญว่า เกษตรกรจะลงทุนปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในเวลาที่เราส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน และเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร
ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เมื่อเราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย และการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรด้วยการพักหนี้แบบเดิมนั้น ไม่ได้ช่วยให้หนี้หายไป และอาจไม่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวได้
@ต้องออกแบบ ‘โครงสร้างจูงใจ’ ที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เรื่องที่สาม การปรับตัวในลักษณะที่ต้องมีการพลิกโฉมอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อพูดถึงการปรับตัว แปลว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรไทย ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ต้องมีการออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ให้เหมาะสม และต้องเป็นโครงสร้างแรงจูงใจที่ต้องมองผ่านแว่นของเกษตรกรรายเล็กด้วย ไม่ใช่มองผ่านแว่นของผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานราชการ
ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาของการออกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หรือช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่การพักหนี้ ที่อาจจะไม่เข้าใจ และไม่สนใจกับผลที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของเกษตรกร รวมทั้งอาจสร้างปัญหาหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่เกิดผลเสียระยะยาวหลายอย่าง เป็นผลข้างเคียงระยะยาว เพราะอาจไม่ได้คิดให้รอบคอบตั้งแต่ตอนที่มีการกำหนดนโยบาย และโครงการเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของเกษตรกร
ดังนั้น ถ้ามองไปในอนาคต ผมคิดว่า incentive structure ที่เราจัดให้มีนั้น จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการปรับพฤติกรรมของเกษตรกร ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนของเกษตรกรด้วย โดยมีทิศทางอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ
ทิศทางแรก เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายเล็ก มุ่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นพรีเมียมโปรดักส์ เพราะการผลิตสินค้าเกษตรทั่วๆไปจะแข่งขันได้ยากมาก เนื่องจากเขาไม่ได้ประโยชน์จากการประหยัดของขนาด (economy of scale) เราจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยไปสู่การทำเกษตรประณีต หรือเกษตรอินทรีย์ เราต้องช่วยกันสร้าง incentive structure ที่จะจูงใจให้เกษตรกรไทยออกจากเกมที่ ‘เน้นเรื่องปริมาณ’ ไปเน้นในเรื่องเกม ‘คุณภาพ’
ทิศทางที่สอง เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ใช้ความรู้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มผลิตภาพให้ได้ในกระบวนการผลิต เกษตรกรไม่สามารถทำแบบเดิมๆได้ และอาจจะต้องมองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรน้ำ การอยู่ร่วมกับป่า โดยเรื่องเหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้าง incentive structure ที่เอื้อหรือสนับสนุนในระดับจุลภาค
ทิศทางที่สาม จะต้องให้เกษตรกรมุ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน การซื้อประกันภัยพืชผล หรือการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่จะรับความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกในเรื่องการกระจายความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนร่วมกัน
ที่สำคัญนโยบายใหญ่ระดับประเทศหรือในระดับมหภาคจะต้องสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง และต้องไม่บิดเบือนโครงสร้างของแรงจูงใจที่ควรจะเกิดขึ้นในระดับจุลภาพ ต้องไม่ทำลายโครงสร้างแรงจูงใจระดับฐานราก
อย่างไรก็ดี การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในการทำนโยบาย หรือมาตรการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าเรามุ่งไปทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ รับประกันต่างๆ ซึ่งก็ยังจำเป็น แต่ต้องมุ่งไปที่ผลผลิตคุณภาพสูงมากขึ้น และโครงสร้างของแรงจูงใจต้องมองทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมี 2 เรื่องที่สำคัญมาก คือ
ตลาดวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะต้องทำเรื่องแรงจูงใจให้เหมาะสมเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราเห็นเกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นเงินเชื่อ และไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นได้ หรือไปผลิตพืชอื่นได้ เพราะไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้
อีกเรื่องหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยปรับพฤติกรรมได้ แต่ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้ให้น้ำหนักตรงนี้มากเท่าไหร่ ถ้าเราสามารถโยงกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับการปรับพฤติกรรมโดยการออกแบบแรงจูงใจให้เหมาะสมก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพผลิตผลของเกษตรกรรายเล็ก ไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหาของหนี้สินเกษตรกรได้
และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธนาคารเพื่องการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องมีบทบาทสำคัญมาก และมีบทบาทอย่างจริงจัง เพราะถ้าเกษตรรายเล็กไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ธ.ก.ส.ก็จะมีปัญหาด้วยในอนาคต
@ต้องแก้ปัญหาเป็น ‘รายพื้นที่’-บริหารแบบ ‘รวมศูนย์’ ได้ผลลัพธ์น้อย
เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับอนาคตของเกษตรกรรายเล็กของไทย คือ โครงสร้างการทำงานที่ไปสนับสนุน ช่วยเหลือเกตรกรรายเล็ก ต้องต่างไปจากเดิม เพราะปัญหาที่เกษตรกรรายเล็กเผชิญมีความซับซ้อน มีหลากหลายมิติ และแต่ละพื้นที่มีผลที่แตกต่างกันสิ้นเชิง
แต่จะพบว่าการทำงานสนับสนุน หรือการจัดโครงสร้างแรงจูงใจต่างๆ โดยกลไกภาครัฐใจช่วงที่ผ่านมา จะเป็นการทำจากส่วนกลางลงไประดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก ก็ใช้งบประมาณสูง และเกิดผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปอนาคต รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น ซึ่งหากยังทำงานแบบเดิม จะไม่เกิดผลแน่นอน และรัฐบาลไม่สามารถทำได้มากเท่าเดิมด้วย
ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร จะต้องมีลักษณะล่างขึ้นบน (bottom up) มากขึ้น มุ่งตอบโจทย์ในบริบทของของชาวบ้าน เกษตรกรแต่ละพื้นที่ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อย่างน้อยก็แบ่งพื้นที่ที่ทำงานเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3S ได้แก่ กลุ่มเป็น Survive ทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ส่วนที่กลุ่มเป็นเป็น Sufficiency กลุ่มนี้จะทำอย่างไรให้เขาเข้าสู่เกมที่อยู่ได้อย่างพอเพียง
และกลุ่ม Sustainability ที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างไร โดยแต่ละพื้นที่เราจะเอาชีวิตเกษตรกรเป็นตัวตั้ง และแต่ละกลุ่มจะต้องการการช่วยเหลือที่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น นโยบายจากบนลงล่าง (top down) หรือนโยบายที่ไปจากส่วนกลางและทำเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่สามารถทำได้
เมื่อพูดถึงการพลิกโฉม การแปลงร่าง (transform) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ภายใน 1 ปี หรือฤดูเพาะปลูกเพียงฤดูเดียว และ incentive structure จะต้องโยงกับการบริหารความเสี่ยงที่ต้องใช้เวลา
ดังนั้น กลไกการส่งเสริมจะต้องมีลักษณะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ และการมีพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ก็ต้องมีการสร้างเครือข่ายที่หน่วยงานต่างๆเข้าไปร่วมกันทำได้ และมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และสามารถแก้ปัญหาต่อเนื่อง ขณะที่เครือข่ายที่ราชการทำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรตำบล เกษตรอำเภอนั้น ไม่สามารถทำงานในลักษณะที่เป็นพี่เลี้ยงได้
นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เกษตรกรรายเล็กพึ่งพิงรายได้เสริมเป็นจำนวนมาก โดยครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เสริมมากกว่ารายได้ที่มาจากการเกษตร ดังนั้น ถ้าจะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เราจะลืมจิ๊กซอว์เรื่องการสร้างรายได้เสริมและโอกาสในการหารายได้เสริมของเกษตรกรไม่ได้
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เราพบว่าเขาไปอยู่ในภาคบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ และขณะนี้การท่องเที่ยวของเรายังไม่ฟื้น และพบว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เช่น การทำเกษตรหลังนา ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับเศรษฐกิจชนบท เศรษฐกิจเมืองรอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
เรื่องที่ห้า เราจะต้องช่วยกันคิดเรื่อง guiding principles ที่จะทำให้เกษตรกรไทย สามารถรองรับภาวะวิกฤติทางภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบมากมาย เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเกิดโรคพืช และโรคสัตว์อุบัติใหม่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญในการปรับพฤติกรรม วิธีการปลูก วิธีการทำเกษตร ซึ่งด้านหนึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นระบบ และต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการปรับตัว เท่าทัน รองรับสภาวะภูมิอากาศที่ผันผวนได้
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 13 พ.ค. 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.