2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยและสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาโรคระบาดยังคงอยู่ต่อไป ปัญหาใหม่ก็วิ่งเข้ามา ปัญหาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ครัวเรือนจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าช่วงโควิด-19 และจากการสำรวจของธนาคารโลก กรณีที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ครัวเรือนที่ยากจน ยากจนมากขึ้นอีก เพราะรายจ่ายด้านพลังงานและอาหารเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ นั่นหมายความว่าต้นทุนชีวิตของคนจนจะแพงกว่านั่นเอง กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อย” เพราะเมื่อราคาค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ก็จะกระทบต่อเนื่องไปยังรายจ่ายของครัวเรือนด้วย
“รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนช่วยประหยัดพลังงานลดค่าใช้จ่ายตนเอง...” ถ้อยแถลงของรัฐบาลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกรอบ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565
“เรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกใช้เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน เมื่อรายได้ลดลง ราคาสินค้าพลังงานสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายดำรงชีวิตประจำวันสูงขึ้นเกือบ 50% ทำให้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ขอให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ต้นทุนชีวิตคนจนแพงทั้งแผ่นดิน
ปัญหาเศรษฐกิจและต้นทุนราคาสินค้าที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อยอย่างรุนแรงมากที่สุด เพราะรายได้ที่หามานั้น จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน คือ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เฉลี่ยประมาณ 50-70% ของรายได้ โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันดีเซล ต้นทุนสำคัญในการผลิตขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารและของใช้จำเป็น อาทิเช่น แก๊ซหุงต้ม ไข่ไก่ น้ำมันพืช หมู ไก่ แพงขึ้นเฉลี่ยกว่า 5-20% เมื่อต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของคนกลุ่มนี้ที่ยังเท่าเดิม แล้วปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนจะอยู่รอดได้อย่างไร ต้องบอกว่าแม้คนจนเหล่านี้จะพยายามแล้ว ก็ยังอยู่ยาก และอาจพากันอดตาย
ต้นทุนการผลิตของชาวนาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
จากภาวะต้นทุนและภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากไม่ต่างจากคนจนเมืองและผู้ใช้แรงงาน แม้ว่าชาวนาส่วนหนึ่งจะสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารด้วยการทำเกษตรหลากหลายไว้บริโภคเองในครัวเรือน แต่ชาวนาส่วนใหญ่มีต้นทุนชีวิตติดลบมานานแล้ว จากรายได้ภาคการเกษตรที่ลดลงจากภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและความเสียหายจากภาวะสภาพภูมิอากาศ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินชาวนาและเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 รวมถึงยังมีหนี้งอกออกมาจากโครงการพักชำระหนี้ของรัฐ เพราะดอกเบี้ยไม่ได้พักด้วย เข้ามาซ้ำเติมจนเกิดเป็นหนี้สะสม
การปลูกข้าวฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ย่อมได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นไปกว่า 100% และจะปรับสูงขึ้นแบบขั้นบันไดอีกไม่ต่ำกว่า 20% การปรับตัวของชาวนาหากมีการนำปุ๋ยอินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ชีวภาพมาใช้แทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร จะทำให้ต้นทุนการผลิตการทำนาลดลงจาก 4,000 บาทต่อไร่ ลดลงเหลือ 2,000 บาทต่อไร่ (ที่มา: สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย 25 เม.ย. 2565 )
การปรับตัวของชาวนาและคนจน รับมือต้นทุนชีวิตแพง
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลแถลงหรือขอความร่วมมือเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต่างปรับตัวและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายตามเงินในกระเป๋าอยู่แล้ว โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้จ่ายแต่สิ่งจำเป็น หารายได้เสริม วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ฯลฯ ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า เกษตรกร แรงงานและประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งก็เผชิญปัญหา “รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น” จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี แถมคนส่วนหนึ่งยังตกงาน ถูกเลิกจ้าง ถูกลดค่าแรง ทั้งนี้ทางออกต่อวิกฤตปัญหาปากท้องประชาชนที่มีประสิทธิภาพต้องมองทั้งระดับปัจเจกและโครงสร้าง ต้องมองไกลไปกว่าการ “ปรับพฤติกรรม” หรือ ““ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากรัฐบาลคือนโยบายการลดและบรรเทาภาระความเดือดร้อนเฉพาะหน้า การลดต้นทุน/ภาระค่าครองชีพ ควบคู่กับการนำเม็ดเงินจากภาครัฐมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และจับต้องได้นั่นคือ “เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น” เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกคนมีรายได้มาสู้กับภาวะต้นทุนชีวิตแพงทั้งแผ่นดิน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 3 พ.ค. 2565
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.