Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
สื่อนอกตีข่าว ชาวนาไทยเจอวิบากกรรมซ้ำเติมจากสภาพอากาศแปรปรวน กระทบทั้งรายได้และผลผลิตข้าวสู่ตลาด
วันที่ 22 เมษายน 2565 ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day) สำนักข่าวแชลแนลนิวส์เอเชีย (CNA) สื่อของสิงคโปร์ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเนื่องในวันคุ้มครองโลก ซึ่งตรงกับตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โดยสื่อสิงคโปร์นำเสนอในประเด็น ความท้าทายจากสภาพอาการแปรปรวนที่เกษตรกรชาวนาไทยต้องเผชิญ (Rice and the Climate Crisis: Thai rice farmers struggle against climate-driven challenges) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายงานพิเศษ 4 ชิ้นที่แชลแนลนิวส์เอเชียรายงานเนื่องในวันคุ้มครองโลก
สื่อสิงคโปร์รายงานว่า “มนัส ตากแฟง” ชาวนาไทยวัย 67 ปี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในเกษตรผู้ปลูกข้าวที่กำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนของโลก ซึ่งทำให้ผลผลิตในช่วงการเก็บเกี่ยวของฤดูกาลนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก
“มนัส” เป็นชาวนาธรรมดาซึ่งครอบครัวของเขาประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวเลี้ยงชีพ บนผืนดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ครอบครัวใช้ทำกินมานานหลายชั่วอายุคน มนัสเผยว่า หลายปีแล้วที่ภูมิประเทศรอบผืนนาของเขาเปลี่ยนไป ถูกรายล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมเกิดใหม่หลายแห่ง ผู้คนที่พลุกพล่านมากขึ้น เช่นเดียวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี
Photo by Madaree TOHLALA / AFP
“ตอนนี้ ผมไม่รู้ว่าฤดูร้อนจะเป็นฤดูร้อน หรือฤดูหนาวจะเป็นฤดูหนาว … ปีนี้เรามีน้ำมาก แต่ผลผลิตข้าวไม่ได้มีมากตามปริมาณน้ำ แถมผลผลิตข้าวยังน้อยกว่าในปีที่มีน้ำน้อย .. อากาศตอนนี้เทียบไม่ได้กับสมัยก่อน แต่ก่อนฤดูฝนก็มีฝนตก แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง”
เช่นเดียวกับ วิชาติ เพชรประดับ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกรายในจังหวัดปราจีนบุรี ผู้กำลังรอคอยการเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย ในพื้นที่นาของเขาซึ่งเคยถูกน้ำท่วมในปลายปีที่แล้ว
วิชาติ วัย 36 ปี ไม่ต่างกับชาวนาไทยหลายรายที่ต้องเช่าที่นาเพื่อเพาะปลูกข้าว เนื่องจากไม่มีเงินทุนพอจะเป็นเจ้าของที่นาของตัวเองได้ ช่วงปลายปีที่แล้วนาข้าวของเขาต้องถูกน้ำท่วมเป็นเวลานานกว่าจะสามารถระบายน้ำออกได้ อีกทั้งผลจากน้ำท่วมยิ่งทำให้เขามีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น “น้ำยังท่วมนาอยู่ ข้าวก็เน่า ผมพยายามเก็บเกี่ยวแล้วแต่ไม่ได้อะไรเลย .. ยิ่งผมพยายามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสียเงินมากเท่านั้น”
ประเทศไทยมีสัดส่วนค้าข้าวประมาณ 1 ใน 4 ของโลก เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงในอันดับต้น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวน โดยประเทศไทยเป็นชาติที่ติดอันดับที่ 9 ของโลกในดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก
สภาพอากาศที่แปรปรวนบ่อยขึ้นและหนักขึ้น ทั้งแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทุ่งนาเสียหายอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและมีความบ่อยมากขึ้นสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในไทย ในปี 2019 ประเทศไทยเผชิญกับปริมาณน้ำฝนน้อยสุดในรอบทศวรรษ เกิดภาวะแล้งอย่างรุนแรง ระดับในแม่น้ำโขงลดต่ำถึงวิกฤต การเพาะปลูกข้ามได้รับความเสียหายอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณน้ำฝนโดยรวมของปี 2021 จะมากขึ้น แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมในหลายภูมิภาค
ในอดีตชาวนาไทยมักใช้ความรู้และประสบการณ์จากแต่ละช่วงฤดูกาล ประเมินว่าช่วงใดเหมาะแก่การเริ่มหว่านไถ่ ทว่าเรื่องนี้กำลังเผชิญความท้าทายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวน
นิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ซึ่งมีเครือข่ายชาวนารวมถึงรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ยังยอมรับว่า แม้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปลูกและสนับสนุนกระบวนการปลูก แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สภาพอากาศคือความท้าทายหลักของเกษตรกรไทย
“สถานการณ์แตกต่างไปจากตอนที่ผมเปิดเครือข่ายครั้งแรกเมื่อปี 1997 อย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน ปัญหามันรุนแรงมาก .. พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากไม่มีน้ำ ตอนนี้เกี่ยวกับฝนและน้ำเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์” เขากล่าว
ทั่วไทยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมราว 8.1 ล้านครัวเรือน จำนวนนี้เพียง 26% เข้าถึงระบบชลประทาน อีกทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีอายุมาก และขาดการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยี วิกฤตสภาพอากาศจึงไม่เพียงแค่กระทบต่อผลผลิตเท่านั้น แต่ยังทำให้ช่วงความไม่เท่าเทียมขยายกว้างมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ในอนาคตที่ต่างกันออกไป การผลิตข้าวอาจเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชลประทาน ในขณะเดียวกันก็ลดจำนวนลงอย่างมากในพื้นที่ระบบชลประทานยังเข้าไม่ถึงและยังต้องพึ่งน้ำฝนตามธรรมชาติ
ทว่าแม้ภายใต้สถานการณ์ปานกลาง เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยอาจคาดหวังให้ผลผลิตข้าวโดยรวมลดลงมากกว่าร้อยละ 10 มันจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพของอาหารในภูมิภาค
“นี่ถือเป็นเรื่องจริงจังมาก หากสภาพอากาศแปรปรวนและเกิดภัยแล้งเป็นเวลานาน เกษตรกรผู้อยู่นอกเขตชลประทานจะหายไป นั่นหมายถึง 74% ของครัวเรือนในไทยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม .. คำถามคือเราควรหาทางป้องกันและพยายามทำอะไรสักอย่างก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้นหรือไม่
Photo by Romeo GACAD / AFP
แม้ว่าการบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศโลกแปรปรวน คือการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบชลประทาน เพื่อจำกัดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคต ทว่าวิธีนี้ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งการขาดคาดการณ์ที่เหมาะสม เงินลงทุน เทคโนโลยีการเกษตร หรือการสนับสนุนให้เกษตรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เหล่านี้ทำให้อนาคตปัญหานี้กลับมาวนลูปเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อการเกษตรของไทย
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนคือ ภาครัฐควรปรับโครงสร้างวิธีการให้เงินสนับสนุนทางการเงินต่อเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศ ตอนนี้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไขในกรณีเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม วิษณุให้เหตุผลว่าวิธีการนี้ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม ที่จะส่งผลไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนและประสบความสำเร็จมากขึ้น
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวตายเพราะภัยแล้งก็จะได้เงิน แค่นั้นแหละ. แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในปีหน้า? รัฐบาลต้องจ่ายอีก .. มันไม่ได้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติใดๆ ของเกษตรกรเพื่อปรับปรุงผลผลิตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต เรามีคู่แข่งอยู่ทั่วโลก หากเราให้การสนับสนุนตลอดเวลา ในอนาคตเราจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน”
วิษณุเสริมว่า การพยายามสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวสนใจทำอาชีพนี้มากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนขีดความสามารถให้พวกเขาด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยีที่ทันสมัยในพื้นที่ชนบท การส่งเสริมแหล่งน้ำมากขึ้นและให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เหล่านี้จะถือเป็นการใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดของภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรไทยได้ดียิ่งขึ้น
แปลและเรียบเรียงจาก Channelnewsasia
https://www.channelnewsasia.com/sustainability/thailand-rice-farming-climate-challenges-2627961
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 เม.ย. 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.