วิถีเกษตรกระแสหลักที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตจากภายนอกทั้งหมด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช แรงงาน ค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ และด้วยระบบการผลิตแบบเคมี ยิ่งทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลผลไม้ มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก ราคาถูกแต่คนซื้อน้อย จนเกิดปรากฏการณ์เกษตรกรเจ้าของสวนนำของจำนวนมากออกมาเททิ้ง เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบอาชีพนี้ เข้าสู่วงจรยิ่งทำยิ่งจนแถมยังติดหนี้สิน เพราะต้นทุนการผลิตพุ่งไม่หยุด ต้องกู้เงินร้านปุ๋ยร้านยา ขายผลผลิตได้ก็ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ก่อน เพื่อได้มีเครดิตกู้ใหม่รอบต่อไปกลายเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น
ในกระแสธารการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ถาโถมเข้ามานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมได้ (ต้องใช้เงินซื้อในราคาสูงขึ้นทุกปี) แต่หากเราตั้งหลัก ยึดแนวทางการพึ่งพาตนเอง แสวงหาต้นทุน โอกาสที่มีอยู่เดิม เช่นเดียวกับแนวทางดำเนินงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน ที่เป็นระบบการผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง ตามวิถีธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทางมูลนิธิชีวิตไทสนับสนุนส่งเสริมชาวนาและเกษตรกร โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ หน่ายงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สนับสนุนความรู้ เทคนิคด้านการผลิตและการสร้างตลาดอินทรีย์ในระดับต่าง ๆ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัย ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนทำการเกษตร ช่วยเรื่องสุขภาพของคนในครัวเรือน ผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยไร้สารเคมี สามารถเพิ่มมูลค่า มีช่องทางจำหน่ายชัดเจน
สมใจ ปลีอ่อน หรือใจ ชาวนาบ้านท่าสะตือ ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทั้งนาเช่าและนาตนเอง ทำนาประมาณ 20 ไร่ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นนาลุ่ม ทำให้การทำนาของสมใจไม่ค่อยได้ผลผลิตเท่าที่ควร และการทำนาก็ค่อนข้างยากลำบาก ต้องทำนาในช่วงเวลาที่พร้อมกันกับนาแปลงอื่นๆ ถ้าทำนาล่าช้ากว่านาแปลงอื่นๆ ก็จะประสบกับปัญหาน้ำท่วมแปลงนา ปี 2564 สมใจเหลือพื้นที่นำนา 17 ไร่ เนื่องจากพื้นที่นา 3 ไร่ถูกน้ำท่วม ไม่สามารถทำนาได้ “ไม่ทันน้ำท่วม” เนื่องจากอาชีพทำนามีรายได้ไม่แน่นอน รายรับน้อยกว่ารายจ่าย จึงทำให้สมใจมีภาระหนี้สินสะสม 4 แสนกว่าบาท และเป็นการแก้หนี้ด้วยการกู้เพิ่ม ในปี 2563 สมใจจึงตัดสินใจประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้หลายทางทั้งในและนอกภาคเกษตร ได้แก่ นวดแผนไทย บริบาลผู้ป่วย เลี้ยงไก่ชนเพื่อขายไก่เนื้อ และปลูกผักสวนครัวที่ริมแม่น้ำน้อย
การปลูกผักสวนครัวที่ริมแม่น้ำน้อยเป็นอาชีพ เป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1 งาน มีช่วงเวลาในการปลูกผักประมาณ 6 เดือน คือ เดือนธันวาคมถึงเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำหลากท่วมในพื้นที่ ผักที่ปลูกจะเน้นนำมาบริโภคเอง เพื่อลดรายจ่ายด้านอาหารของครอบครัว และบางส่วนขายเพื่อนบ้านในชุมชน แปลงผักของสมใจปลูกผักหลายชนิด เช่น มะเขือ มะละกอ บวบ กะเพรา กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก ถั่ว แครอท ฯลฯ สภาพดินริมฝั่งแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้แปลงผักได้ผลผลิตดี และเสริมด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์แบบกลับกองสำหรับใช้เองในแปลง เน้นวัสดุและมูลสัตว์พื้นที่ใกล้เคียง เช่น มูลแพะ มูลวัว ฟางข้าว เศษหญ้าสด และ น้ำหมักสับปะรด
สมใจบอกว่า “พี่ทำแบบง่าย ๆ โดยนำวัสดุฟางข้าว เศษหญ้าสด วางชั้นล่างสุด แล้วโรยด้วยมูลสัตว์ให้ทั่วกอง วางแบบนี้เป็นชั้น ๆ จนวัสดุหมด และราดให้ทั่วกองด้วยน้ำหมักสับปะรด ช่วยย่อยสลาย อาทิตย์ละครั้งพร้อมทั้งกลับกองปุ๋ย ใช้เวลาหมักนานประมาณ 1 เดือน ปุ๋ยจะร่วนซุยมีสีดำ สามารถนำมาใช้ผสมดินปลูก ดินเพาะได้" หรือถ้าท่านสามารถใช้วิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แบบไม่พลิกกลับกองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
สามารถศึกษารายละเอียดการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกองตามลิงค์นี้
แปลงผักและผลผลิต แครอทปลอดสารพิษริมแม่น้ำน้อยของพี่ใจ
นอกจากนี้ สมใจได้เลี้ยงไส้เดือนดินด้วยตนเอง เพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนมาผสมดินปลูกผัก พื้นที่แปลงผักขนาดเล็ก ใช้สัดส่วนปุ๋ยมูลไส้เดือนครึ่งกิโลกรัม สัดส่วนมูลไส้เดือน 1 ส่วน เศษวัสดุที่จะใช้ปลูก 4 ส่วน และได้นำมูลไส้เดือนส่วนที่เหลือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมกับผู้สนใจในชุมชน
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 สมใจได้เข้าอบรมการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนดิน ให้ได้ปุ๋ยนำไปใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงไส้เดือนดิน พันธุ์ที่นิยมเลี้ยง คือ พันธุ์ AF เป็นไส้เดือนดินที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์รวดเร็วมาก มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน จึงชอบอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงสำหรับวิธีการเลี้ยงไส้เดือนเริ่มจาก
1. นำปุ๋ยคอกแช่น้ำ 2-3 วัน และถ่ายน้ำออก (ทำสองครั้งรวม 6-7 วัน) เพื่อให้ปุ๋ยคอกนิ่มและเย็นพร้อมเป็นอาหาร สิ่งนี้เรียกว่า “เบดดิ้ง”
2. ปล่อยไส้เดือนลงในภาชนะเลี้ยง (3 ขีดต่อกะละมัง หรือ 1 กิโลกรัมต่อรองซีเมนต์)
3. พรมน้ำแบบละออง วันละครั้งหรือมากกว่าเมื่ออากาศร้อน เพื่อให้เบดดิ้งมีความชื้นและเย็น
4. นำเศษผักหรือผลไม้ใส่ลงภาชนะเลี้ยงเพื่อเสริมธาตุอาหาร และ
5. ปาดมูลบริเวณผิวภาชนะ หลังเริ่มเลี้ยงไส้เดือน 5-7 วัน และทำการร่อนมูลไส้เดือนเพื่อคัดแยกมูลกับสิ่งเจือปนอื่น
อบรมวิธีการเลี้ยงไส้เดือนดิน
เตรียมแปลงปลูกผัก มูลใส้เดือนพร้อมใช้จากพี่ใจ
ด้วยแนวทางการปรับระบบการเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ และการพัฒนาอาชีพเสริมรายได้อย่างจริงจัง (ไม่ทำนาอย่างเดียว ที่มีความเสี่ยงสูง) ส่งผลให้สมใจและชาวนาตำบลบางขุดหลายราย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน ลดต้นทุนลงได้ (โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีซึ่งตอนนี้ขยับราคาสูงขึ้นอีกเท่าตัว) หลายคนมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 บาท และกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมโครงการ มีการออมเงินเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน แม้ยังไม่สามารถนำไปสู่การปลดเปลื้องหนี้สินได้อย่างเป็นรูปธรรมนัก เนื่องจากภาระหนี้สินมีอยู่มาก ประกอบกับรายได้ที่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่หลายคนก็สามารถนำเงินที่ได้จากการขายผลผลิตไปผ่อนและลดภาระหนี้ได้บางส่วนแล้ว
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 26 เม.ย. 2565
ผู้เขียน : สมจิต คงทน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.