เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน ที่กลุ่มชาวนาและเกษตรกรปักหลักชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลอยู่ริมถนนในกรุงเทพฯ ข้อเรียกร้องประการแรกของกลุ่มชาวนาคือขอให้มีการชะลอการบังคับคดีและยึดทรัพย์ขายทอดตลาด สะท้อนให้เห็นว่าการถูกบังคับคดีและการขายทอดตลาดกำลังเป็นปัญหาสำคัญของชาวนาและเกษตรกรไทย
ตัวเลขจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ระบุว่ากลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่กองทุนฯ ตั้งเป้าว่าจะให้การช่วยเหลือในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3,425 รายนั้น เป็นเกษตรกรที่กำลังถูกบังคับคดีถึง 1,966 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 715 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.40 ของมูลหนี้ทั้งหมดที่กองทุนฯ ตั้งเป้าซื้อในปีงบประมาณนี้ นี่เป็นเพียงตัวเลขของเกษตรกรที่อยู่ในสารบบที่จะได้รับความช่วยเหลือในปีนี้ มีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับการถูกบังคับคดี แต่ยังไม่ได้อยู่ในโควตาการได้รับความช่วยเหลือในปีนี้ หรือแย่กว่านั้นคือไม่ได้อยู่ในสารบบของกองทุนฯ เลย
นอกจากกลุ่มเกษตรกรที่ถูกฟ้องบังคับคดีแล้ว ยังมีเกษตรกรลูกหนี้อีกกลุ่มหนึ่งที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว และอยู่ในข่ายที่ไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ซึ่งอีกไม่นานก็จะถูกเจ้าหนี้ร้องต่อศาลขอให้มีการบังคับคดี โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีมานี้ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวนเกษตรกรที่หนี้อยู่ในสถานะของการถูกบังคับคดีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสารบบของกองทุนฟื้นฟูฯ นี่คือเหตุผลว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูฯ 2 พันล้านบาทแล้ว เกษตรกรกลุ่มนี้ยังไม่กลับบ้าน เพราะข้อเรียกร้องพวกเขาคือการขอให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อนยังไม่ได้รับการตอบสนอง
การบังคับคดีเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ที่มุ่งให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ ที่ไม่ได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ในขณะที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมให้เจ้าหนี้กลับกลายเป็นการบีบบังคับให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูก เนื่องจากในการขายทอดตลาด ซึ่งเป็นรูปแบบการขายทรัพย์ที่ถูกบังคับคดี โดยทั่วไปราคาขายจะต่ำกว่าราคาท้องตลาด โดยเฉพาะการขายทรัพย์ในครั้งหลังราคาจะต่ำมาก
ทั้งนี้การขายทอดตลาดในกระบวนการบังคับคดีส่วนใหญ่กำหนดการขายที่ 6 ครั้ง ราคาเริ่มต้นของการขายครั้งแรกกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาของกรมบังคับคดีเอง ซึ่งมักอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของราคาท้องตลาด หากครั้งแรกขายไม่ได้ การขายทอดตลาดในครั้งที่ 2 ราคาเริ่มต้นจะลดลงไปอีก 10% หากมีการขายครั้งที่ 3 และ 4 ราคาก็จะลดลงจากราคาเริ่มต้นครั้งแรกครั้งละ 10% ราคาที่ดินที่ถูกบังคับคดีจึงต่ำกว่าราคาที่ควรขายได้จริงอย่างมาก หลายครั้งที่พบว่าผู้ที่เข้าร่วมเสนอราคามีเพียงเจ้าหนี้ หรือนักลงทุนที่เข้าใจกระบวนการขายทอดตลาด ที่มักรอซื้อในการขายทอดตลาดครั้งหลังๆ เพื่อให้ได้ราคาต่ำสุด หากราคาขายไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้เจ้าหนี้สามารถร้องขอต่อศาลให้ยึดทรัพย์อื่นของเกษตรกรลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดอีกจนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ตามที่ศาลสั่ง
การถูกบังคับคดีไม่เพียงเป็นการบีบให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูกที่เป็นปัญหาเชิงปัจเจก การบังคับคดีหนี้เกษตรกรยังส่งผลต่อภาพการเกษตรของประเทศในภาพรวม เพราะทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรเพิ่มขึ้น มีข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตรในปี 2562 ว่ามีที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศรวม 149,252,451 ไร่ เป็นที่ดินของตนเอง 41,713,855 ไร่ (ลดลงจากปี 2556 ที่มีอยู่ 71.64 ล้านไร่) เป็นที่ดินเช่าผู้อื่น 29,226,840 ไร่ และทำฟรีโดยไม่เสียค่าเช่า (บนที่ดินของผู้อื่นรวมทั้งที่ดินของรัฐ) 47,618,619 ไร่ ในขณะที่มีที่ดินเพื่อการเกษตรอยู่ระหว่างจำนอง/ขายฝาก 30,630,138 ไร่ ขณะเดียวกันข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่าจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดของกองทุนฯ ประมาณ 5.67 ล้านคน มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ 5.16 แสนคน คิดเป็น 7.76% เป็นหนี้เร่งด่วน (NPL ขึ้นไป) 1.8 แสนคน
ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการบังคับคดีกลายเป็นกระบวนการเร่งให้ชาวนาและเกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตและต้นทุนที่สำคัญในชีวิต และระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของสังคมด้วย ดังนั้นการตอบรับข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวนาและเกษตรกรเรื่องการชะลอการบังคับคดีจึงไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินเกษตรกร หากยังช่วยรักษาที่ดินภาคเกษตรไว้ในมือเกษตรกรรายย่อย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 มี.ค. 2565
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.