ที่ผ่านมาเกษตรกรสนใจทำการเกษตรโดยการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก เพราะช่องทางตลาดและความต้องการพืชสมุนไพรมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สมุนไพรไทยหลายชนิด โดยเฉพาะที่มีสรรพคุณการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เริ่มเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้ความต้องการสมุนไพรไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการพัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว
และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หันมาส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรให้กับเกษตรกร 37 จังหวัด จัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ตลอดจนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ส่วนราชการและองค์กรเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
ข้อมูลด้านการตลาดพืชสมุนไพรไทยปี 2564 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดพืชสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกพืชสมุนไพรไทยอยู่ที่แสนล้านบาท ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “พืชสมุนไพร” มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้พืชสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %
ทางมูลนิธิชีวิตไทเองได้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสของการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกด้านรายได้และการดูแลสุขภาพในยุคโควิด จึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เครือข่ายในการทำงาน 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พิษณุโลก สระบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มะแว้ง อัญชัน ดีปลี ชุมเห็ดเทศ เพชรสังฆาต ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอ ในพื้นที่ มาให้ความรู้เรื่องการปลูกและแปรรูปสมุนไพร การหาตลาดรับซื้อสมุนไพรในประเทศ
รวมทั้งส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของความเป็นไทย นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง นำสมุนไพรใกล้ตัว เช่น ขมิ้น ข่า ตระไคร้ มะกรูด ไพร ใบมะขาม ส้มป่อย มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลาย เช่น ลูกประคบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำยาเอนกประสงค์ ยาหม่อง ยาสระผม สบู่ ชาสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ สามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่านำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นกับเกษตรได้อีกด้วย
สำหรับบทเรียนแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ผลิตพืชสมุนไพรสร้างรายได้ที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ พบว่า 1) ก่อนเริ่มต้องคุยกติกาและเงื่อนไขกับเกษตรกรให้เข้าใจชัดเจนก่อน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรที่ทำมาก่อน มองทั้งโอกาสและข้อควรคำนึงให้รอบด้าน 2) มาตรฐานรูปแบบการปลูกและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการมาตรฐานการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น PGS ,Organic Thailand ,IFOAM และรูปแบบผลผลิตที่รับซื้อส่วนใหญ่เป็นแบบแห้ง กระบวนการทำให้แห้งมีหลายวิธี ทั้งตากแดด โรงอบ และเตาอบ
3) เป้าหมายการตลาด หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก ทั้งนี้เป้าหมายเชิงปริมาณตลาด สถานการณ์จะเป็นกำหนดและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยปกติโควตารับซื้อผลผลิตกับเกษตรกรมีการเคลื่อนไหวตามคำสั่งซื้อ 4) กลไกการส่งเสริมผ่านระบบกลุ่ม การส่งเสริมและขยายพื้นที่การปลูกพืชสมุนไพรต้องทำผ่านระบบกลุ่ม อย่างน้อย 5-10 ราย และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการให้เกษตรกรทดลองปลูกในพื้นที่ไม่มากนักเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และรู้จักวิธีการจัดการผลผลิตพืชสมุนไพรชนิดนั้นให้ดีก่อน จากนั้นเมื่อตัดสินใจจะปลูกสร้างรายได้ต้องแน่ใจว่ามีช่องทางตลาดรองรับ 5) เน้นกระบวนการทำงานพัฒนาทางความคิด พัฒนาชุมชน พัฒนาธุรกิจและบริหารจัดการไปพร้อมกัน ในช่วงเริ่มต้นการทำงานอาจจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงในกระบวนการส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จึงปล่อยให้เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 1 มี.ค. 2565
ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.