พี่สมใจกับแปลงผักอินทรีย์
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะผลกระทบด้านรายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร จากวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงเป็นแรงผลักและบทเรียนที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตภัยธรรมชาติ หรือวิกฤตปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ การเตรียมแผนชีวิต แผนการผลิต แผนการเงินและปรับตัวเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในชีวิตไม่ว่ารูปแบบใด สามารถช่วยให้อยู่รอดและผ่อนสถานการณ์จากหนักให้เป็นเบาได้
ความเป็นจริงสังคมส่วนใหญ่มักจะมองว่าเกษตรกรเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้มากนัก ทำงานหนัก ตากแดดตากลม ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตที่ตกต่ำ มีหนี้สินมากมาย รู้จักแต่การทำเกษตรเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว ถึงแม้จะมีภาพข่าวออกมาบอกว่าเริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าไปพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความทันสมัยหรือมีความโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงมีเกษตรกรบางรายพัฒนาการผลิตอย่างดีเยี่ยม แต่ยังคงไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สังคมมองอาชีพเกษตรกรไทยที่มีความยากลำบากได้ไม่มากนัก
จากการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิชีวิตไทในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรไม่เพียงจะเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่ยังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเดิมที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่อง นั่นคือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ภาวะน้ำท่วม ผลผลิตเสียหาย บางรายหมดตัวไปกับการลงทุนทำเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาลงทุนทำเกษตรต่อไป
ตัวอย่างบทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง พบว่า หากเกษตรกรมีการทำอาชีพที่หลากหลาย ปรับจากการทำเกษตรปลูกพืชชนิดเดียว สู่พืชหลากหลายชนิด ปรับจากอาชีพในภาคเกษตรอย่างเดียว สู่อาชีพเสริมนอกภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายช่องทางมารองรับ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน จะทำให้เกษตรกรลดการกู้เงินและเพิ่มหนี้สินของครัวเรือนได้ และบางรายมีรายได้เหลือมาลงทุนในการเกษตรเพิ่มเติมอีกด้วย
ป้าจำปากับอาชีพเสริมตัดเย็บกระเป๋าผ้า
ตัวอย่างเช่น ป้าจำปา หนึ่งในเกษตรกรที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเสริมเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากมีใจรักในงานผ้า จนบางช่วงกลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว และปัจจุบันเริ่มมีการปลูกพืชที่หลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น กล้วย พริก กะเพรา และเลี้ยงหมู เพิ่มเติมจากการปลูกข้าว คนต่อมา คือ ป้าสายทอง ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกมะพร้าว ปลูกตาล ปลูกกล้วย เพื่อใช้ในการทำขนมขายเป็นรายได้เสริม เป็นต้น เกษตรกรทั้งสองรายมีหนี้สินจากการทำนา ซึ่งในรอบการผลิตที่ผ่านมาต่างประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีปริมาณไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่ยังคงโชคดีที่มีรายได้จากการทำอาชีพเสริมเพื่อรองรับกับภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม
นอกจากนี้มีชาวนาและเกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาเห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนการลงทุนและต้นทุนการผลิต จากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายจากการทำนาใน 1 ปี เพื่อให้ได้รู้ว่าการทำนาของตนเองนั้นมีกำไรขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ กรณีตัวอย่าง พี่ศรีไพร ในรอบการปลูกข้าวปีที่ผ่านมาได้ลองจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำนาทั้งหมด 3 ไร่ จนกระทั่งได้เงินจากการขายข้าว พบว่า เหลือกำไรเพียง 2-3 พันบาทเท่านั้น
ในปีนี้พี่ศรีไพรจึงเริ่มวางแผนปลูกข้าวแบบลดต้นทุนการผลิตลง โดยใช้วิธีการทำนาน้ำน้อย การปลูกข้าวแบบปลอดภัยและแบบอินทรีย์ ซึ่งตัวอย่างการจดบันทึกรายรับรายจ่ายการผลิต เป็นตัวหนึ่งที่เกษตรกรไม่ค่อยทำกัน จึงทำให้ไม่ทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริงจากการทำนา นอกจากนั้นพี่ศรีไพรยังมีการแบ่งที่ดินของตนเองมาปลูกพืชแบบผสมผสาน รวมทั้งนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อจำหน่ายไปยังเครือข่ายต่างๆ ได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของเกษตรกรมีความสำคัญต่อความอยู่รอดและเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตหรือภาวะปกติ เนื่องจากอาชีพเกษตรกรต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศเป็นส่วนสำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวมากขึ้น ทั้งนี้การปรับตัวของเกษตรกรมีเป้าหมายเพื่อไปสู่การสร้างหลักประกันด้านรายได้และการกระจายความเสี่ยง หากเกษตรกรมีการวางแผนชีวิต แผนการผลิตที่หลากหลาย และแหล่งรายได้จากหลายช่องทาง และวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงช่วยบริหารจัดการการผลิตและช่วยเพิ่มกำไรให้ได้มากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เกษตรกรจะสามารถอยู่รอดและไม่เกิดวิกฤตชีวิต
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 15 ก.พ. 2565
ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.