ช่วงกลางเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของปี ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จไม่นาน ชาวนาในอดีตจะมีประเพณีและความเชื่อเรื่องการ “กินข้าวใหม่” ซึ่งมีนิยามหมายถึงการเฉลิมฉลองและขอบคุณธรรมชาติที่ประทานข้าว ปลา อาหารมาให้ ด้วยการนำข้าวใหม่ไปทำบุญ ทำกิน ทำทาน แบ่งปัน พักผ่อนและมีความสุข หลังจากที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมายาวนาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันประเพณีเหล่านี้ได้สูญหายไปจากสังคมชาวนาไทยส่วนใหญ่เสียแล้ว เนื่องจากรูปแบบการทำนาสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตข้าวเพื่อการค้าเป็นสำคัญ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ต้องรีบขายข้าวให้โรงสี นำเงินไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าหนี้ และซื้อข้าวกิน ซึ่งวิถีการผลิตรูปแบบนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
วิถีการทำนาสมัยใหม่ไม่เพียงทำให้ประเพณีเกี่ยวกับข้าวของชาวนาสูญหายไป แต่หายไปพร้อมกับคุณค่าวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิต จิตวิญญาณของผู้คน รวมถึงรากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาเดิมที่สั่งสมมา อย่างไรก็ตามเราคงหวนกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะวิถีการผลิตและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่อยากชวนมองไปสู่อนาคตและความยั่งยืนร่วมกัน เพราะปัจจุบันมีหลายสัญญาณบ่งชี้ว่าทิศทางการผลิตข้าวที่เน้นการปลูกข้าวไม่กี่สายพันธุ์เพื่อการส่งออกกำลังเดินสู่เข้าสู่ภาวะถดถอยและร่วงโรยมากขึ้นเรื่อย ๆ
สัญญาณบ่งชี้ว่าข้าวไทยอยู่ในภาวะถดถอยมายาวนาน นั่นคือ หนึ่ง การส่งออกข้าวปรับตัวลดลง ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2547 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 47 ปี ในปี 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.6 สอง ผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำกำไรในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจสีข้าวที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 12.7 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 25.2 ในปี 2563 สาม ภาระหนี้สินของครัวเรือนชาวนาเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคอีสานซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.8 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 77.6 ในปี 2563 (ที่มา : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์)
ในขณะที่รัฐบาลยังคงมีทิศทางนโยบายหลักในการค้ำยันอุตสาหกรรมข้าวที่กำลังเดินสู่ภาวะถดถอยนี้ต่อไปเรื่อย ๆ รอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) รัฐบาลได้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมกว่า 160,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 21,000 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 จำนวน 50,600 ล้านบาท และปีการผลิต 2564/65 ราคาข้าวตกต่ำอย่างหนัก ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มขึ้น จำนวน 89,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมโครงการคู่ขนานอีกกว่า 50,000 ล้านบาท)
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 เราคงไม่สามารถนำเงินจำนวนมหาศาลไปใช้กับนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ได้เรื่อยๆ เราต้องหันกลับมาสรุปทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ศึกษาเรียนรู้จากของเดิมว่าผิดพลาดตรงไหน และปรับตัวหาทิศทางใหม่
การสรุปและทบทวนจากจุดเริ่มต้นเพื่อฟื้นฟูคุณค่าของข้าวและคุณภาพชีวิตชาวนา คือการฟื้นคุณค่าไปสู่มูลค่า ชาวนาจะปลูกข้าวต้องมองถึงคุณค่า การเพิ่มมูลค่าการตลาด การเพิ่มสตอรี่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณภาพโดยตรง แต่เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมา การเชื่อมโยงอดีต และการพัฒนารูปแบบตลาดใหม่ ประการที่หนึ่ง คือ การฟื้นเรื่องราวสตอรี่ของข้าว แม้เทศกาลกินข้าวใหม่จะหายไป แต่เรื่องราวยังเหลืออยู่และให้ความสำคัญในการฟื้นฟูฐานทรัพยากรและรากฐานภูมิปัญญาเดิมที่ยังเหลืออยู่ ประการที่สอง แม้เราจะเปลี่ยนวิถีรูปแบบการทำนา แต่สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมก็ยังเหลืออยู่ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรความหลากหลายที่สำคัญในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิแดง มีคุณสมบัติเป็นข้าวน้ำตาลต่ำ และมีการนำไปวิจัยพบคุณสมบัติในการเป็นเซรั่มเครื่องสำอาง นี่คือหนทางที่สามารถพัฒนาได้
ประการที่สาม การฟื้นคุณค่าของข้าว ความหอม รสชาติ การมาใช้ในโลกยุคใหม่ที่คนไทยกินข้าวน้อยลง ในอดีตคนไทยกินข้าว 170 กก.ต่อคนต่อปี เหลือ 95 กก.ต่อคนต่อปี กรณีตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นกินข้าวน้อยลงเกือบเท่าตัว แต่ปรากฎการณ์คือ ชาวนาญี่ปุ่นผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น ราคาดีขึ้น เนื่องจากทิศทางการผลิตข้าวเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้ผลิตเป็นข้าวสารแบบในอดีต แต่ผลิตเพื่อกินเป็นยา แปรรูปเป็นขนม และเครื่องสำอาง เป็นต้น
นั่นคือทิศทางและข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดข้าวเพื่อหลุดออกจากภาวะถดถอยของการตลาดข้าวในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาคุณค่าข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) การพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวสี ข้าวโภชนาการสูง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี แต่ยังเป็นสัดส่วนน้อยมากเพียงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวทั่วไป ทำอย่างไรจะพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะเหล่านี้ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยไม่ควรทำเพื่อการค้าอย่างเดียว แต่ทำภายใต้ระบบการปลูกที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต คนปลูก คนกิน เพื่อวิถีการบริโภคและวัฒนธรรม ทำให้เรามีสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ม.ค. 2565
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.