ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชักชวน “ชาวนา” ผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ทั้งคนปลูกข้าว คนปลูกผักผลไม้ และนักแปรรูปผลผลิตการเกษตร ใน จ.ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และพิษณุโลก มาเข้าร่วมกิจกรรม “บริโภคผักผลไม้ปลอดภัยเพื่อสุขภาวะชาวนา” พร้อมทั้งยังชักชวน “ผองเพื่อน” คือ “กลุ่มผู้บริโภค” ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่สนับสนุนกลุ่มชาวนามาอย่างยาวนาน มาร่วมกิจกรรม “21 วัน พิชิตจานสุขภาพ” พร้อมกับมี “เพื่อนใหม่” จากหลากหลายสาขาอาชีพทางโลกออนไลน์ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก
เป็นการรวมพลคนรักสุขภาพที่สนใจแนวคิด “ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต” (Lifestyle Management) ด้านพฤติกรรมการกินอยู่ เรียนรู้การบริโภคอาหารที่ดีและมีคุณค่าต่อร่างกายตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยในปริมาณที่เพียงพอ ผสมผสานการออกกำลังกาย และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและห่างไกลจาก “กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (Non-Communicable Diseases : NCDS) ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคไต ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนได้เริ่มมีอาการป่วย /กำลังป่วย /หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้แล้ว ซึ่งมีสาเหตุจาก “พฤติกรรมการกิน” เป็นหลัก เป็นปัญหาด้านการสาธารณสุขที่สร้างภาระติดพัน เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย
มีงานวิจัยทางการแพทย์มากมายได้พิสูจน์ให้เห็นผลประจักษ์ว่า การปรับพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผสมผสานควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยป้องกันและพลิกฟื้นอาการจากโรคกลุ่ม NCDS ได้เทียบเท่าหรือดีกว่าการรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว หากแต่ความเคยชินของผู้คนที่ยังไม่เข้าใจ และพึ่งพาการรักษาด้วยยามาโดยตลอด ก็อาจรู้สึกว่าการปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก จึงได้เชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ โดยยกตัวอย่างประกอบจากกรณีศึกษาต่าง ๆ และจากอาการป่วยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอง
เสริมด้วยความรอบรู้ด้านอาหาร ในมิติความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย โภชนาการ และความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตั้งแต่การเลือก การเตรียม การปรุง การกิน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่ช่วยในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติ บอกต่อ และขยายผลได้
ต่อด้วย “กิจกรรม Challenge” โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพอาหารเพื่อสุขภาพที่รับประทานในแต่ละมื้อ ส่งเข้ามาในไลน์ทางการ “นาเคียงเมือง” อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 21 วัน โดยเป็นเมนูอาหารที่สร้างสรรค์ โดยคงคุณค่าของสารอาหารไว้อย่างครบถ้วน มีความหลากหลาย ไม่เน้นการปรุงรสชาติที่หวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง และในมื้อนั้นควรมีอัตราส่วน 2:1:1 คือ ผัก 2 ส่วน ข้าวหรืออาหารจากแป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์หรือโปรตีน 1 ส่วน
ความงดงามที่เห็นได้จากสำรับอาหารของชาวนา คือ กับข้าวกับปลาแบบบ้าน ๆ ที่ปรุงง่าย ๆ จากพืชผักที่ปลูกเอง เช่น ผัดผักหรือแกงส้มจากผักรวมรอบบ้าน ผัดมะละกอใส่ไข่ แกงจืดตำลึงริมรั้ว เสริมโปรตีนด้วยปลาทอดหรือไข่ต้มจากแม่ไก่ที่เลี้ยงเอง แทบทุกบ้านจะมีน้ำพริกยืนพื้น พร้อมผักเหนาะทั้งผักสดและผักลวก และหลายบ้านจะนำสมุนไพรปลูกเอง เช่น เตยหอม ตะไคร้ อัญชัน มาทำน้ำสมุนไพรดื่ม
ขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ถึง “พลังความสุขของผู้ผลิตอาหารอินทรีย์” ทั้งคนปลูกข้าวที่บรรจงเลือกพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ทีละเมล็ดด้วยความใส่ใจ เพื่อให้ข้าวในฤดูทำนาครั้งหน้ามีคุณภาพดี เห็นความตั้งใจของคนปลูกผักที่ลงมือเพาะกล้า ทำปุ๋ย ปรุงดิน ดูแลให้ต้นกล้าผักเติบโตแข็งแรง รอเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้คนกินได้ผักที่รสชาติดี กรอบ อร่อย และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน
ขณะที่บรรดาผองเพื่อนของชาวนาที่เป็นผู้บริโภค หลายคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ก็ยังอุตส่าห์ทำแปลงผักเล็ก ๆ หรือปลูกผักในกระถางไว้ปรุงอาหารกินเอง และนำมาอวดโชว์เพื่อน ๆ อย่างภาคภูมิใจ ขณะที่หลายคนแม้ต้องซื้อหาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็มีความรู้ในการเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีและมีประโยชน์มาปรุงอาหาร ดังนั้น สำรับอาหารจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งเมนูต้ม ผัด แกง ทอด หรือนึ่งแบบไทย ๆ หรือดัดแปลงเป็นสัญชาติอื่น เช่น สลัดผัก พิซซ่าเพื่อสุขภาพ ผักโขมอบชีส เสริมโปรตีนด้วยเต้าหู้ ถั่วเหลือง หรือเนื้อปลา บางคนพยายามกินผักผลไม้ให้ครบทั้ง 5 สี (สีเขียว สีเหลืองหรือส้ม สีน้ำเงินหรือม่วง สีขาวหรือน้ำตาล และสีแดง) นำมาดัดแปลงทำทั้งอาหารคาว ขนม ของว่าง หรือนำมาทำน้ำผักผลไม้ปั่นเพื่อสุขภาพ
เมื่อเวลาผ่านไป สำรับอาหารในแต่ละวันได้กลายเป็นสื่อกลางให้เริ่มมีประเด็นพูดคุยในเชิงสร้างสรรค์ต่อกันมากขึ้น เช่น ศึกษาที่มาที่ไปของวัตถุดิบแต่ละท้องถิ่น เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารดีที่ควรกินสม่ำเสมอ กินได้บ้าง หรือไม่ควรกินเลย การติดตามและให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนสินค้าชุมชน ฯลฯ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยความเข้าอกเข้าใจต่อกัน พร้อมหนุนเสริมกัน และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ใช้ชีวิตวิถีใหม่เพื่อสุขภาวะไปทีละน้อย
ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ของคนกลุ่มหนึ่งบนโลกออนไลน์ แต่ก็นับเป็นการเริ่มจุดประกายสร้างพื้นที่พบปะสร้างสรรค์เล็ก ๆ ให้นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม ในฐานะ “พลเมืองอาหาร”ที่มีบทบาทหน้าที่เพื่อร่วมรักษาพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ที่อาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดระบบการผลิตและบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างมีพลังและยั่งยืนในอนาคต
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ม.ค. 2565
ผู้เขียน : นครินทร์ อาสะไวย์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.