ในอดีตการขายสินค้าของเกษตรกรจะมีอยู่ไม่กี่ช่องทาง ช่องทางหลัก คือ การขายทางตรง โดยตัวเกษตรกรเองขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง มีข้อดีคือเกษตรกรสามารถสื่อสารและแบ่งปันเรื่องราวของตัวสินค้าให้กับลูกค้าได้โดยตรง และอีกช่องทางคือ การขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางและการฝากขาย มีข้อดีคือสามารถกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถกำหนดราคาขายของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองได้มากนัก บางรายไม่สามารถโปรโมทสินค้าของตนเองได้เลย
ในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติหรือตลาดออฟไลน์ได้ ข้อดีของตลาดออนไลน์ คือ เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตัวเกษตรกรเองสามารถขายสินค้าได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการย่นระยะเวลาและระยะทางในการพบเจอกันของผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งตัวเกษตรกรเองสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอ
นอกจากนี้ตลาดออนไลน์ยังเป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง แต่ทั้งนี้ตัวเกษตรกรต้องคำนึงถึงคุณภาพและกลุ่มลูกค้า ไม่ควรตั้งราคาที่ค้ากำไรเกินควรและต้องเป็นไปตามความเหมาะสม
สำหรับช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรนั้น จากประสบการณ์ทำงานของมูลนิธิชีวิตไท พบว่า Facebook และ Line เป็น 2 ช่องทางอันดับแรกที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น ๆ ทั้งนี้ตัวเกษตรกรเองต้องมีการเตรียมข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขายสินค้าบนสื่อออนไลน์ อันได้แก่ ตัวสินค้าที่ต้องได้มาตรฐานและคุณภาพเท่ากันทุกชิ้น มีรูปลักษณ์ชวนดึงดูดผู้ซื้อ เรื่องราวของสินค้า การจัดส่งสินค้า และช่องทางการชำระเงิน อีกทั้งต้องมีการเตรียมข้อมูลและวิธีในการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า
เนื่องจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายเพราะฉะนั้นย่อมมีคู่แข่งที่มากกว่าการขายสินค้าแบบออฟไลน์แน่นอน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องมีการพัฒนาให้มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างมาตรฐานเพื่อขยายตลาดให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน PGS หรือ Organic Thailand ให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร การยื่นขอ อย. สำหรับสินค้าแปรรูป เป็นต้น
สำหรับปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่สำหรับการขายสินค้าออนไลน์ของเกษตรกร คือ การที่เกษตรกรยึดติดกับรูปแบบการขายสินค้าในรูปแบบเดิม คือ การรอให้ลูกค้าเข้าหา หรือการรอให้ลูกค้าเป็นคนเอ่ยถาม มากกว่าการเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าก่อน อีกทั้งยังปิดกั้นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนช่องทางและวิธีการขายสินค้าของตนเองให้ทันยุคสมัย และไม่รอที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือรอลูกค้าเข้าหาตนเองอีกต่อไป เกษตรกรกลุ่มนี้เลือกที่จะขายสินค้าพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวแบบฉบับของตนเอง ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีคู่ค้า มีแต่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรด้วยกัน เพื่อที่จะช่วยกันพยุงช่องทางตลาดในรูปแบบออนไลน์ให้เหล่าเกษตรกรทั้งหลายได้มีพื้นที่ขายสินค้า มีพื้นที่บอกเล่าความเป็นมา และมีรายได้เพิ่มขึ้นกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง หรือภัยธรรมชาติที่มาแบบไม่ทันคาดคิด
ท้ายที่สุดแล้วช่องทางการขายสินค้าของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ต่างกัน หัวใจสำคัญคือเกษตรกรต้องก้าวไปสู่การยกระดับจากผู้ผลิตวัตถุดิบอย่างเดียวไปสู่เกษตรกรผู้ประกอบการ ยกระดับสินค้าเกษตรพื้นฐานสู่สินค้าแปรรูปและสินค้านวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สร้างช่องทางการตลาดให้หลากหลาย กระจายความเสี่ยง รวมถึงมีการปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเคล็ดลับความสำเร็จของเกษตรกรที่จะอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในสังคมวิถีใหม่
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 พ.ย. 2564
ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.