สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบทำให้ชาวนาและเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงและเปราะบางสูงอยู่แล้ว ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินและปัญหาทางการเงินหนักมากขึ้น โดย 76% ของครัวเรือนเกษตรกรพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร ส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง และเงินโอนจากลูกหลาน ในขณะที่รายได้ในภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงจากภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตตกต่ำ
โดยครัวเรือนเกษตรกร 90% มีปัญหาหนี้สิน 72% เป็นหนี้ในระบบเฉลี่ย 430,000 บาท 25% เป็นหนี้สินเชื่อลิสซิ่งหรือสินเชื่อเช่าซื้อ และ 54% ของครัวเรือนอยู่ในโครงการพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ มีหนี้หลายก้อนจากหลายแหล่ง จึงมีสถานะหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น รวมถึงใช้วิธีการหมุนหนี้ คือ เป็นหนี้ก้อนใหม่เพื่อจ่ายคืนหนี้เก่า ในขณะที่นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลทำให้เกิดวงจรสะสมหนี้ เป็นภาระหนี้ไม่จบไม่สิ้น (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค 10 ก.ย. 2564)
เมื่อมองลึกลงไปในระดับพื้นที่ยิ่งเห็นรูปธรรมปัญหาชัดขึ้น ผลการสำรวจข้อมูลหนี้สินและผลกระทบการแพร่บาดโควิด-19 ของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 9 แห่ง ใน 5 จังหวัด ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และพิษณุโลก โดย มูลนิธิชีวิตไท เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า เกษตรกรเป้าหมาย 150 ครัวเรือน มีหนี้สิน 126 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 84 หนี้สินเฉลี่ย 499,038 บาทต่อครัวเรือน
ในด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ นโยบายการช่วยเหลือเข้าถึงได้ยาก ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในภาวะลำบาก ด้วยผลผลิตเสียหาย ขายผลผลิตไม่ได้ ราคาตกต่ำ ตลาดในท้องถิ่นถูกปิด บางครอบครัวมีลูกหลานหรือญาติที่เคยเป็นกำลังหลักในการหารายได้ ต้องถูกลดเวลาทำงาน หรือถูกเลิกจ้างงาน ทำให้ขาดรายได้ที่ต้องนำมาใช้จ่าย หลายรายต้องผิดนัดชำระหนี้ ตลอดจนขาดทักษะบางเรื่องที่จำเป็นในยุคนี้ เช่น การทำตลาดออนไลน์
สถานการณ์ปัญหาและปัจจัยภายนอกที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ส่งผลให้ชาวนามีความสุ่มเสี่ยงและเปราะบางสูงขึ้นต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและปัจจัยสร้างความมั่นคงในชีวิตของครัวเรือน จึงเป็นโจทย์ท้าทายต่อการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรในการพึ่งพาตนเอง ไม่สร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งจากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรของมูลนิธิชีวิตไท จึงมีข้อแนะนำวิธีหลุดพ้นจากพันธนาการหนี้สินที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทตนเองได้ ดังต่อไปนี้
1) แก้ปัญหาหนี้เก่า ด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินหรือหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกร 2) วิเคราะห์ด้านสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด เนื่องจากสัมพันธ์กับอาชีพและรายได้ 3) วิเคราะห์รายรับรายจ่าย หนี้สิน อาชีพ ต้นทุนการผลิต การประกันความเสี่ยง 4) ปรับวิธีคิดใหม่ ปรับโครงสร้างการผลิต มีความมุ่งมั่นตั้งใจพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หาทางลดหนี้และรักษาที่ดินไว้ให้ได้ 5) วางแผนการเงินในครัวเรือน วิเคราะห์อาชีพปัจจุบันว่าสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ต้องทำอาชีพเสริมแบบไหนเพื่อแก้หนี้ได้จริง 6) สร้างพฤติกรรมทางการเงินใหม่ ออมก่อนใช้เมื่อมีเงินนำไปชำระหนี้ก่อน
7) วางแผนพัฒนาเสริมรายได้ ยกระดับเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร วิเคราะห์ความเป็นไปได้และผลสำเร็จของอาชีพนั้น ๆ ที่เห็นภาพชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) ไปถึงปลายน้ำ (การตลาด) เพื่อให้ได้แผนพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรกลุ่มนั้น ๆ มากที่สุด 8) ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ จดบันทึกขั้นตอนการผลิต ปัญหาอุปสรรคในแต่ละขึ้นตอน 9) การประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการทบทวนและแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์
9 ขั้นตอน ซึ่งเป็นทางออกจากพันธนาการ “หนี้” ข้างต้น ได้ผ่านการทดสอบและลงมือปฏิบัติโดยกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินมาแล้ว และเห็นผลความสำเร็จ ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของเกษตรกรเป็นอันดับแรก และสร้างระบบกลุ่มที่ช่วยดูแลกันแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผลที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติจริง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กลุ่มชาวนาและเกษตรกร บางส่วนสามารถบรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้ได้ บางส่วนสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้สำเร็จ
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 5 ต.ค. 2564
ผู้เขียน : สมจิต คงทน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.