จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงวิกฤติต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรและความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาวิกฤติรายได้และความสามารถชำระหนี้ลดลง ทั้งรายได้เงินโอนจากลูกหลานส่งมาให้ลดลง รายได้จากภาคเกษตรลดลง จากปัญหาตลาดถูกปิด สินค้าการเกษตรราคาตกต่ำ เมื่อเกิดวิกฤติด้านรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เกษตรกรจะเดินเข้าสู่การฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี และถูกยึดที่ดินทำกินขายทอดตลาดในที่สุด
จากการสำรวจลักษณะการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 พบว่า จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้นกว่า 149.24 ล้านไร่ มีจำนวน 77.60 ล้านไร่ หรือร้อยละ 52 เป็นพื้นที่เช่า และจำนวน 71.64 ล้านไร่ หรือร้อยละ 48 เป็นพื้นที่ของเกษตรกรเอง แต่ในจำนวนนี้มี 29.73 ล้านไร่ติดภาระจำนอง และ 1.15 แสนไร่ อยู่ในกระบวนการขายฝาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่ที่ดินจะหลุดมือจากเกษตรกรไปเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบหรือสถาบันการเงิน หากเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ข้อมูลจากกรมบังคับ พบว่า แนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 -ก.ย 2563) สถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 226,862 คดี (ทุนทรัพย์ 372,366.4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 222,657 คดี (ทุนทรัพย์ 491,050 ล้านบาท) โดยที่ผ่านมากรมบังคดีได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาและอยู่ระหว่างการบังคับคดีในโครงการ “บังคับคดีร่วมใจไกล่เกลี่ยช่วยเหลือเกษตรกรถูกยึดทรัพย์จำนอง” ผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2564 สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ ทั้งสิ้น 49 เรื่อง จำนวนเงิน 12 ล้านบาท ทำให้มีการชะลอ งดการบังคับคดีกับที่ดิน และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยเป็นที่ดิน จำนวน 222 ไร่ และบ้านอยู่อาศัย จำนวน 7 หลัง
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าภายใต้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายทอดตลาดฉบับใหม่ ปี 2560 เพื่อแก้ปัญหาการขายทอดตลาดที่ล่าช้า อาจเป็นอุปสรรคทำให้หน่วยงานที่มีภาระกิจช่วยเหลือเกษตรกรไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ทันท่วงที หรือทำให้เกษตรกรมีโอกาสสูญเสียที่ดินง่ายขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการขายทอดตลาดที่แทบจะปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ทรัพย์สินกลับคืนมา เนื่องจากระยะเวลาซื้อทรัพย์คืนมีจำกัด ลูกหนี้ไม่มีเวลาคัดค้านการขายทอดตลาด หรือเจรจาเพื่อซื้อทรัพย์สินคืนได้
ในส่วนของกลไกหน่วยงานปกติที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกร ข้อมูลจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) มีเกษตรกรที่ยื่นขอความช่วยเหลือภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจนซึ่งมีปัญหาการสูญเสียสิทธิที่ดินจากการจำนองและขายฝาก จำนวน 900 ราย เข้าหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือ 630 ราย ระหว่างปี 2559-2562 บจธ. ได้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนไปแล้ว 334 ราย รวมเนื้อที่ 2,319 ไร่เศษ และในปีงบประมาณ 2565 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้รับการพิจารณางบประมาณแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เพียง 25 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 25 ราย
ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากผลกระทบโควิด-19 เช่น ทางด่วนแก้หนี้ คลินิกแก้หนี้ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สิน ตอนนี้มีคดีหนี้โดยรวมในแต่ละปีประมาณ 8 แสนคดี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยได้ประมาณ 1 แสนคดี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีคดีหนี้สินพักชำระหนี้อยู่ประมาณ 3 ล้านราย มี 8 แสนรายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูรายได้ หรือประมาณ 28% แต่ธ.ก.ส. ช่วยได้เพียง 4 หมื่นราย ในส่วนเกษตรกรที่เข้าโครงการของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประมาณ 5 แสนราย ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้เพียง 3 หมื่นราย (ที่มา: ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19”)
จะเห็นได้ว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น แม้ภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ขีดความสามารถที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ ภายใต้กลไกปกติของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาหนี้สิน จากการถูกยึดที่ดินและขายทอดตลาดที่ดิน ทั้งก่อนและหลังโควิด-19 ความช่วยเหลือยังอยู่ในวงจำกัดและไม่เพียงพอกับขนาดปัญหาขนาดใหญ่ที่สะสมมานาน จึงมีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและมีแนวโน้มที่จะสูญเสียที่ดินทำกินเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเพิ่มเติมทั้งทรัพยากร งบประมาณและกลไกความช่วยเหลือพิเศษทั้งระยะสั้นและระยะยาวลงไปช่วยเหลือเกษตรกรให้มากขึ้น
สำหรับข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรภายใต้วิกฤติโควิด คือ ขอให้กรมบังคับคดีชะลอการบังคับคดีเกษตรกรไว้ก่อน และคดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน ทั้งนี้จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย นอกจากนี้ในระยะต่อไปขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงกลไกการดำเนินงานเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน ควบคู่กับการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ส.ค. 2564
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.