ชาวนาทั่วประเทศ เคยมาเรียนที่ "โรงเรียนชาวนา" มูลนิธิข้าวขวัญ ได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ที่นี่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาความรู้การเกษตร ยังเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความเข้าใจเรื่องแม่โพสพ
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ทางมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ได้จัดพิธีบวงสรวงรูปเคารพแม่โพสพ แม่เมรัย(เทวนารีดูแลต้นกัญชา) ที่ช่างเฉลิม พึ่งแตง ครูช่างใหญ่เมืองเพชรบุรี ได้วาดภาพ และปั้นรูปประติมากรรมปูนปั้น ไว้อย่างงดงามศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ทางพี่นิด-พี่เบญจมาศ ศิริภัทร ภรรยาพี่เดชาและคุณพิม หลานพี่เดชา ได้มาพบดิฉันที่บ้านเมืองเพชรบุรี มารับรูปเคารพแม่โพสพกับแม่เมรัย ผลงานช่างเฉลิม เพื่อนำกลับเมืองสุพรรณไปทำพิธีบวงสรวงบูชาในวันนี้ พี่เดชาและคนสายข้าวขวัญ ลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาทั่วประเทศ และลูกศิษย์ชาวจีนไต้หวัน ศรัทธา เคารพแม่โพสพอย่างยิ่ง
แม่โพสพ ผู้ปกป้องต้นข้าว
สำหรับพวกเราแม่โพสพ แม่เมรัย ไม่ใช่บุคคลาธิษฐาน ภาพแทนความเชื่อใดๆ แต่ท่านคือ “เทพ” คือ “เทวนารี” ผู้ปกป้องดูแลต้นข้าว ต้นกัญชา ให้ความรู้ให้ปัญญาในการทำเกษตรอินทรีย์และใช้ยาพืชสมุนไพรต่างๆ กับพวกเรา
ดังที่พี่เดชา เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า
“เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผมเชิญคุณโดโรธี แมคลีน หนึ่งในผู้ก่อตั้งหมู่บ้านฟินด์ฮอร์น ผู้ได้ชื่อว่ามีความสามารถสื่อสารกับจิตวิญญาณในธรรมชาติ (รวมทั้งเทพ เทวดา ในความเชื่อของคนไทยด้วย) มาจัดฝึกอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญ 3 วัน เชิญคนไทยมาเข้าร่วม 30 คน
ผมทำงานเรื่องข้าว และชาวนามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 รวม 30 ปี ผมศึกษาเรื่องความเชื่อของชาวนาไทยในอดีตที่เคารพในพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระแม่โพสพ ผมเชื่อมาตลอดว่า เทพเหล่านี้ไม่มีตัวตนจริง ๆ เป็นเพียงความเชื่อสืบต่อ ๆ กันมา
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 เมื่อคุณโดโรธี แมคลีน และคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ติดต่อสื่อสารกับ พระแม่โพสพ ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้ผมเปลี่ยนความคิด และใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปี
ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ผมเชื่อว่า พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ และชาวนาบางคนที่สื่อสารกับท่านได้ ความรู้เรื่องข้าวนี้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันของชาวนาได้จริง”
เดชา ศิริภัทร, 4 สิงหาคม พ.ศ.2557
.....................
ข้อความข้างต้นนี้ที่ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ได้กล่าวไว้ใน “คำนิยม” หนังสือ นักบวช นักรบ นักฆ่า ของดิฉัน โดยยืนยันชัดเจนว่าตลอด 30 ปี ของการทุ่มเททำงานในเรื่องข้าวของ อ.เดชา จากที่เคยเชื่อว่าเทพต่างๆ ทั้งแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ เป็นเพียงแค่บุคลาธิษฐาน ไม่มีตัวตนจริงๆ
แต่เมื่อได้พบและฝึกอบรมกับคุณโดโรธี แมคลีน แม่มดฝรั่ง ผู้นำกลุ่มNew Age ของโลก อ.เดชาได้ใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โดยเชื่อมั่นแล้วว่า
“พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ”
บนพื้นดินที่ปลูกข้าว ก็ต้องทำพิธีเคารพแม่โพสพ (ภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว)
ที่มาโรงเรียนชาวนาไทย
อาจารย์เดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิข้าวขวัญ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานโดยตรงในเรื่องข้าว และเปิดโรงเรียนชาวนาให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์กับชาวนาไทย
มูลนิธิข้าวขวัญเป็นแหล่งเสริมสร้างปลูกฝังความรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร
ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี โดยมูลนิธิข้าวขวัญ โรงเรียนชาวนาไทย มีประวัติที่มาดังนี้คือ
มูลนิธิข้าวขวัญ กับการเกษตรยั่งยืน
ปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม(Appropriate Technology Association - ATA )
ปี พ.ศ. 2532 ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE )
ปี พ.ศ. 2541 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี
และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี (ที่อยู่คือ 13/1 หมู่ 3 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซ. 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72330)
โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, อ.บางปลาม้า, อ.อู่ทอง, และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศ
หลักสูตรเกษตรอินทรีย์ โรงเรียนชาวนาที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนของชาวนาไทยนี้ ปรากฏผลว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีชาวนาทั่วประเทศไทยมาเข้าเรียนการทำเกษตรอินทรีย์จากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ
และได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ดังเช่น การไม่เผาฟาง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำสมุนไพรขับไล่แมลง รวมทั้งการรู้จักแมลงดี-แมลงร้าย การเก็บและขยายจุลินทรีย์ การทำฮอร์โมนเพื่อการบำรุงต้นข้าว เป็นต้น
การพึ่งตนเองของโรงเรียนชาวนา
การที่ชาวนาพยายามหาสิ่งทดแทนสารเคมีทั้งหมด ทั้งการใช้จุลินทรีย์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การควบคุมแมลง การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชพื้นถิ่นชนิดต่างๆ เป็นเพียงการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิถีผลิต
ที่ในท้ายที่สุด กระบวนการและเทคนิคต่างๆจะเป็นหนทางกลับมาฟื้นฟูการพึ่งตนเองของชาวนา เพราะเมื่อชาวนาสามารถควบคุมแมลง ปรับปรุงดิน พัฒนาเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตัวเองแล้ว
สิ่งที่ปรากฏต่อมาจากนี้ก็คือ เทคนิคต่างๆเหล่านั้นก็แทบจะไม่จำเป็นในการนำมาใช้ในพื้นที่เกษตรอีกต่อไป เพราะสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในแปลงนาในพื้นที่เกษตร จะเกิดความสมดุลด้วยตัวมันเอง
ดังนั้นสาระสำคัญที่ชาวนาไทยได้รับความรู้ไปจากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ก็คือ “ใช้เพื่อที่จะไม่ต้องใช้อีก” เพราะในที่สุด ด้วยหนทางที่มูลนิธิข้าวขวัญสอนชาวนาที่มาเข้าโรงเรียนชาวนาเพื่อเรียนรู้ทั้ง 3 หลักสูตรนี้
เมื่อชาวนาได้ความรู้เต็มที่และนำกลับไปใช้ในแปลงนาของตนทั้ง 3 หลักสูตรแล้ว ระบบนิเวศยั่งยืนและสมดุลของธรรมชาติก็จะกลับคืนมา อันจะทำให้ชาวนาสามารถหลุดพ้นจากวังวนของการพึ่งพาปัจจัยภายนอกในทุกขั้นตอน
นั่นหมายถึงว่า นักเรียนชาวนาที่ใช้ 3 หลักสูตรของมูลนิธิข้าวขวัญจะสามารถ “ปลดแอก” และ “หลุด” ออกจากวิถีเกษตรแบบปฏิวัติเขียวที่ต้องเป็นหนี้ในการซื้อหาปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง
.
วิถีเกษตรยั่งยืนของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวไว้ในการสอนลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาว่า
“เทคนิคของเราเป็นการทำตามหนทางของพระพุทธเจ้า นั่นคือการไม่เห็นแก่ตัว พึ่งตนเอง ไม่ใช้ความรุนแรง หลักการนี้ปรับให้เป็นรูปธรรมก็คือเราไม่ฆ่าแมลง ไม่เบียดเบียนใคร
และใช้ปัญญาญาณจากธรรมชาติ ทุกสิ่งที่ทำต้องสอดคล้องครรลองธรรมชาติ เพราะเป้าหมายชีวิตของคนไทยแต่เดิมคือการบรรลุนิพพาน
ดังนั้นชาวนาจึงต้องทำงานในผืนนาด้วยวิถีธรรม ไม่ทำลายดิน ไม่ทำลายน้ำ ไม่ทำลายอากาศ วิธีการใช้แมลงดีควบคุมแมลงเลวของเรา เป็นรักษาสมดุลระหว่างแมลง ไม่ใช่มุ่งทำลายชีวิตเขา
เทคนิคนี้เราได้จากแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็จริง แต่ลูกศิษย์ของเรามีอยู่ทุกศาสนา ซึ่งทุกศาสนาก็ทำได้ และภาษิตโบราณของไทยยังมีอีกด้วยว่า คนฉลาดต้องตัดเกือกให้พอดีตีน คนโง่จะตัดตีนให้พอดีเกือก
จากภาษิตนี้เราเทียบได้ว่า เมล็ดข้าวคือเกือก ท้องทุ่งคือตีน ตีนจะเปลี่ยนไม่ได้ ส่วนเกือกมันเปลี่ยนได้ชั่วชีวิต แต่ชาวนาไทยทุกวันนี้กลับตัดตีนให้เหมาะกับเกือก
พวกเขาพยายามเปลี่ยนดินให้เข้ากับเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อหามาจากตลาด หรือได้รับมาจากรัฐบาล ข้าวขวัญจึงเข้าไปแก้ปัญหานี้โดยตรง เราไปแก้ปัญหาหลักที่เกือกหรือเมล็ดพันธุ์ คือต้องตัดเกือกให้เหมาะกับตีน เราจึงไปสอนให้ชาวนารู้จักการคัดเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับผืนนาในท้องถิ่นนั้น”
ชาวนากับแม่โพสพ
หากสิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในการสอนชาวนาด้วยหลักสูตรโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ จะไม่เพียงให้แต่ความรู้ต่างๆทางด้านเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนกับนักเรียนชาวนาเท่านั้น
หากทางมูลนิธิข้าวขวัญ ได้อบรมให้ความรู้ เขย่ากรอบความคิดของนักเรียนชาวนาอย่างหนักควบคู่ด้วย ในเรื่องการเคารพบูชา “แม่โพสพ” เพราะตลอด 30 กว่าปี ของการทำงานเรื่องข้าวกับชาวนาไทยมานี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวกับดิฉันว่า
“การสอนเทคนิคเกษตรอินทรีย์อย่างเดียวจะเปลี่ยนชีวิตชาวนาไม่ได้ เราจะต้องเปลี่ยนไปถึงรากความคิดของชาวนา ให้กลับมาเคารพแม่โพสพ มาอยู่กับความเมตตา จึงจะเปลี่ยนชาวนาให้มาใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ได้
หากสอนแต่เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ชาวนารู้แค่เทคนิค กลับเข้าท้องนาไป เห็นรอบข้างยังใช้ปุ๋ยใช้ยา เห็นโฆษณาเข้าหัวอยู่ทุกวัน ชาวนาสู้ไม่ไหวหรอก เดี๋ยวพวกเขาก็หันหลังให้เกษตรอินทรีย์ กลับไปใช้ปุ๋ยใช้ยาเหมือนเดิม มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
จะเปลี่ยนชาวนาได้ ต้องให้เขามาศรัทธาเชื่อมั่น และบูชาแม่โพสพ เป็นหลักทางใจให้ชาวนาไทยได้ยึดมั่นไว้ด้วย-นั้นแหละถึงจะเปลี่ยนชาวนา และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวนาไทยได้อย่างแท้จริง”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ก.ค. 2564
ผู้เขียน : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว