พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยถึงประเด็น “บ้านและที่ดินทรัพย์สินสุดท้าย” ต้องมีมาตรการรักษาเสถียรภาพของคุณภาพชีวิตคนไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติกาล โดยมีมูลค่ามากกว่า 14.128 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 90.6 ของ GDP (ข้อมูล ธปท.30 มิถุนายน 2564 ) ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่มีอีกเป็นจำนวนมาก
ในการกู้เงินส่วนใหญ่ลูกหนี้ต้องใช้เอกสารสิทธิโฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ “จำนอง และขายฝาก” เพื่อประกันการในการกู้เงินและมักเป็นที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง(บ้านที่อยู่อาศัย)ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นสุดท้ายเพื่อดำรงชีวิต เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในกรณีที่ดินจำนองเจ้าหนี้จะฟ้องคดีต่อศาลเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจะส่งคำพิพากษาไปยังกรมบังคับคดีจะมีการยึดทรัพย์และขายทอดตลาด
ถ้าขายแล้วยังไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถสืบทรัพย์อื่นและยึดทรัพย์อื่นขายทอดตลาดจนกว่าจะชำระหนี้ได้ครบทั้งหมด ส่วนกรณีที่ดินขายฝากหากลูกหนี้ไม่ชำระเงินไถ่ถอนภายในกำหนดก็หมดสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากโดยสมบูรณ์ ผู้รับซื้อฝากไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องบังคับคดี ทำให้ลูกหนี้จะเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและไร้ที่ทำมาหากิน
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายให้การคุ้มครองทรัพย์สินบ้านและที่ดินที่เป็นสินทรัพย์สุดท้ายไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด จะมีกำหนดไว้เพียงทรัพย์ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องนุ่งห่มหลับนอน ราคาไม่เกิน 20,000 บาท ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเท่านั้น (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ มาตรา 301) ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินชิ้นสุดท้าย “จำนอง-ขายฝาก และถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด” ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเกิดความยากไร้และมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
การจำนองและขายฝากที่ดินกฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับพนักงานที่ดินซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ พบว่าในปีพ.ศ. 2557-2564(8 เดือน) มีที่ดินหรือหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียน คือ “จำนอง” มีดังนี้ ปี 2557 จำนวน 1,161,297 แปลง, ปี 2558 จำนวน 1,268,848 แปลง, ปี 2559 จำนวน 1,312,197 แปลง, ปี 2560 จำนวน 1,171,166 แปลง,ปี 2561 จำนวน 1,265,769 แปลง ,ปี 2562 จำนวน 1,242,133 แปลง และ ปี 2563( 8 เดือน) จำนวน 750,158 แปลง
“ขายฝาก” มีดังนี้ ปี 2557 จำนวน 84,333 แปลง,ปี 2558 จำนวน 91,516,ปี 2559 จำนวน 85,835,ปี 2560 จำนวน 77,498 แปลง,ปี 2561 จำนวน 69,363 แปลง,ปี 2562 จำนวน 46,011 แปลง และในปี 2563 (8 เดือน) จำนวน 25,723 แปลง
ในกรณีการ “ยึดทรัพย์ และขายทอดตลาด” ข้อมูลจากกรมบังคับคดี ปี พ.ศ.2557-2563(6เดือน) คือ ปี 2557 จำนวน 14,452 คดี ที่ดิน 34,070 แปลง ราคาประเมินรวม 23,859,953,708 ล้านบาทเศษ,ปี 2558 จำนวน 13,996 คดี ที่ดิน 35,136 แปลง ราคาประเมินรวม 25,974,921,611 ล้านบาทเศษ,ปี 2559 จำนวน 1583 คดี ที่ดิน 4,057 แปลง ราคาประเมินรวม 5,217,198,799 ล้านบาทเศษ,ปี 2560 จำนวน 2,447 ที่ดิน 6,563 แปลง ราคาประเมินรวม 6,850,321,170 ล้านบาทเศษ,ปี 2561 จำนวน 3770 คดี จำนวนที่ดิน 9,501 แปลง ราคาประเมินรวม 7,925,553,481 ล้านบาทเศษ ปี 2562 จำนวน 5,357 คดี ที่ดินท14,572 แปลง ราคาประเมินรวม 11,718,737,638 ล้านบาทเศษ และในปี 2563( ช่วง 6 เดือน ถึง 9 กรกฎาคม 2563) จำนวน 2,187 คดี ที่ดิน 5,608 แปลง 5,276,680,849 ล้านบาทเศษ
ประเทศไทยประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ถือที่ดินเป็น “สินทรัพย์” ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่ให้สิทธิแก่เจ้าของอย่างเต็มที่ ที่ดินจึงเป็นสินค้าที่กักตุนไว้เก็งกำไรอย่างไม่จำกัดเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งของฐานะ ส่วนประชาชนที่เป็นเกษตรกรและผู้ยากไร้ถือว่าที่ดิน “เป็นแหล่งผลิตหรือเครื่องมือในการผลิต” ต้องทำงานกับที่ดินมีการใช้แรงงานหรือขยันทำงานจึงจะมีเงินรายได้เกิดขึ้น
ส่วนตัวมีข้อเสนอเร่งด่วนในช่วงวิกฤติโควิด -19 รัฐควรสนับสนุนงบประมาณให้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่รัฐบาลจัดงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 เพียง 31 ล้านบาทเศษเท่านั้น ควรเพิ่มภารกิจ หน้าที่และอำนาจเป็น “กองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของคนไทย” อีกภารกิจหนึ่ง เป็นโครงการในระยะ 10 ปีโดยรัฐสนับสนุนงบประมาณผูกพันประมาณ 2 แสนล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) เพื่อซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเป็นที่ดิน สิ่งก่อสร้างบนที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ลูกหนี้ได้นำไปจำนอง ขายฝากไว้กับเจ้าหนี้ทั้งในระบบ นอกระบบ และจากกรมบังคับคดี ซึ่งที่ดินดังกล่าวมักเป็นหลักทรัพย์ชิ้นสุดท้ายของประชาชนพักอาศัยและเป็นที่ทำกิน ที่รัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ลูกหนี้ซื้อคืนกลับ
โดยการพักชำระหนี้ประมาณ 10 ปี และไม่มีดอกเบี้ย หรือให้เช่า หากมีดอกเบี้ยก็ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี หลังจากกองทุนซื้อหนี้แล้วจัดให้มีมาตรการติดตาม นำมาตรการฟื้นฟูต่างๆที่รัฐดำเนินการอยู่แล้วเป็นกลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือเพื่อ”รักษาเสถียรภาพของคุณภาพชีวิตคนไทย”ให้มีรายได้เพียงพอมีคุณภาพชีวิตที่ดีและชำระชำระหนี้ได้ โดยทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน “ลูกหนี้จะไม่ถูกฟ้องร้อง ไม่สูญเสียบ้านและที่ดินทำกิน และจะได้ทรัพย์คืน เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ และรัฐบาลจะไม่สูญเสียบุคลากร (ทรัพยากรมนุษย์) และเสียหาย” การช่วยเหลือขายคืนให้ลูกหนี้ในราคาเท่าทุน แต่กองทุนสามารถบริหารที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ซื้อมาเพื่อให้ดำเนินการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐอีกตามหลักเกณฑ์ที่มีธรรมาภิบาลโปร่งใส
การแก้ปัญหาระยะยาวควรยกเลิกกฏหมายขายฝากเพราะที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้และไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้ กับแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ให้การคุ้มครองลูกหนี้ กรณีบ้านและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินสุดท้ายที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพื่อการยังชีพได้ ช่วยเหลือความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม ในช่วงวิกฤติโควิดครั้งนี้มาตรการรัฐ หลายโครงการจะมุ่งช่วยเหลือคนรวยหรือภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้ในอดีตช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้น กับ ธปท. ได้เคยช่วยเหลือกลุ่มคนที่เป็นคนรวยมาแล้ว
โดยให้ “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” รับโอนหนี้สินของเอกชนที่อยู่ใน 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ คือโอนหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาทมาแล้ว และ ปรส. ได้ขายสินทรัพย์เสร็จสิ้นได้เพียงประมาณร้อยละ 20 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 23 ปีแล้ว หนี้ ปรส. ยังเหลืออยู่เกือบ 8 แสนล้านบาท แต่การช่วยเหลือประชาชนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินสุดท้ายของคนไทยทั้งประเทศยังไม่ปรากฏ ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเป็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องคุ้มครองให้ประชาชนอยู่รอดและสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยังยืนได้
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 10 ก.ค. 2564
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.