ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนพัฒนาฯ มาแล้ว 12 ฉบับ โดยปัจจุบันเราอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกรอบ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13” และเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นไปใช้ประกอบและปรับปรุงการทำแผน โดยคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 โดยเป้าหมายหลักของแผนฯ คือ “พลิกโฉมประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” มีองค์ประกอบที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค 3.วิถีชีวิตที่ยั่งยืน 4.ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ และมี 13 หมุดหมาย (Milestone) ที่ไทยให้ความสำคัญในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) ประกอบด้วย
1. ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2. ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน 3. ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน 4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5. ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค 6. ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน 7. ไทยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้
8. ไทยมีพื้นที่และเมืองหลักของภูมิภาคที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทันสมัย และน่าอยู่ 9. ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม 10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11. ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12. ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13. ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ แผนฯ ฉบับนี้ จะไม่ได้ใช้เป็นแผนหลักในการพัฒนาประเทศเพียงแผนเดียวดังเช่นแผนฉบับ 1-12 ที่ผ่านมา แต่จะเปลี่ยนฐานะเป็นแผนระดับสอง ที่อยู่ภายใต้ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงมีข้อสังเกตและตั้งคำถามว่า สถานะแผนฯ 13 นั้นอยู่ตรงไหน และสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ของชาติหรือไม่ อีกทั้งในกระบวนการจัดทำแผนนั้น แทบจะไม่มีภาคประชาชนเป็นตัวแทนในการแสดงความคิด ต่อรอง หรือมีกลไกเชื่อมโยงกับภาคประชาชนเลย จึงเป็นข้อจำกัดที่อาจจะทำให้แผนฯ 13 ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน แม้ร่างแผนฯ ฉบับนี้ จะนำเสนอภาพรวมอย่างรอบด้าน ด้วยวาทกรรมที่น่าฟัง แต่กลับไม่มีแผนปฏิบัติการรองรับที่ชัดเจน โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีมิติของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมใดเลย ทั้งที่เศรษฐกิจในประเทศและโลกกำลังย่ำแย่ ลูกหลานเกษตรกรจำนวนมากต้องตกงานและกลับบ้านเกิด มีการผูกขาดจากทุนขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อการล่มสลายทางการค้าของชุมชน และเกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวมากขึ้น เพราะยังมุ่งเน้นอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมด้วยตัวเลข GDP จนทำให้ละเลยภาคเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน คนฐานราก หรือกลุ่มชาติพันธุ์ และเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปรับใช้ตลาดโลกมากขึ้น ทั้งที่บทเรียนจากวิกฤตหลายครั้งที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจท้องถิ่น จะสามารถค้ำยันประเทศเอาไว้ได้ในวิกฤตต่าง ๆ โดยตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญา"
ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมไทย จึงได้ร่วมกันระดมความคิดและมีข้อเสนอต่อการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ดังนี้
1. สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับบ้านเพื่อทำเกษตร ด้วยการจัดตั้งสถาบันเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจร 2. ส่งเสริมสิทธิการเข้าถึง กระจายการถือครองที่ดิน และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึง 3. สนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร รักษาอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิตได้ โดยไม่ต้องสร้างหนี้สินเพิ่ม 4. สนับสนุนแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนภาคประชาชน 5. สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาและบริหารจัดการตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง
6. สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน 7. สนับสนุนการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้มีการศึกษาและรวบรวมแล้วในระดับพื้นที่ เพื่อนำแล้วนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 8. สนับสนุนและพัฒนาความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน เพราะทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต รวมถึง สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ "ภาคเศรษฐกิจครัวเรือนชนบทก็ยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่รองรับปัญหาของเกษตรกรและลูกหลานที่ได้รับผลกระทบ" โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตเกษตรกรในชนบท 10. สนับสนุนการศึกษานอกระบบ ที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในชุมชน เช่น การสร้างศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนที่มีหลักสูตรความรู้จากประสบการณ์บทเรียนของเกษตรกร ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เป็นต้น
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 ก.ค. 2564
ผู้เขียน : นครินทร์ อาสะไวย์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.