ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศเกษตรกรรม” มาช้านาน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งหนึ่งยังดำรงอยู่ในวิถีเกษตร ภาคเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งรายได้ของประชากรจำนวนมาก มีการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 30 ของการจ้างงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก มักจะมองว่าการให้คุณค่า และบทบาทภาคเกษตรกรรมแบบเก่า คืออุปสรรคในการหลุดออกจากประเทศรายได้ปานกลาง เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 11.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2561 ผลิตภาพของแรงงานในภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีฐานะยากจน รายได้จากภาคเกษตรอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ในปี 2540 เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง และปี 2563 เกิดวิกฤติโควิด-19 ภาคเกษตรชนบทเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่รองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ลูกหลานในภาคอุตสาหกรรมที่ตกงาน เราสามารถพิจารณาได้ว่าโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม และเกษตรกรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญของระบบอาหารและยังเป็นระบบที่เปราะบางมาก เมื่อโลกหยุดนิ่งเพื่อให้การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านพ้นไป แต่เกษตรกรและภาคเกษตรกรรมต่างพยายามสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการให้แก่ประชากรโลก
ช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 โครงสร้างภาคเกษตรกรรมของไทยเข้าสู่ยุคแรงงานผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แรงงานหนุ่มสาวเลือกที่จะออกจากบ้านไปทำงานในเมืองหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีรายได้ที่แน่นอน เวลาการทำงานที่แน่นอน และมีความสะดวกสบายกว่าการทำงานภาคเกษตรกรรมที่ยังคงวนเวียนอยู่กับการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อลงทุนการผลิต ให้พอได้มีเงินเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว
ช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ครัวเรือนเกษตรกรน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ผ่านปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศอย่างชัดเจน หลายคนอาจมีมายาคติว่าภาคเกษตรจะมีศักยภาพในการรองรับการจ้างแรงงานให้กับคนที่กลับไปภูมิลำเนาได้เหมือนสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ปัญหาภัยแล้งและปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ของภาคเกษตรไทยในปัจจุบัน (Attavanich et al. 2019) อาจทำให้เป็นไปได้ยากขึ้น
แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กระทบกับกระบวนการการผลิตของภาคเกษตรในส่วนต้นน้ำมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรเจ็บหนัก คือ การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรไม่สามารถขนส่งไปถึงมือลูกค้า อีกทั้งครัวเรือนเกษตรกรไทย ยังไม่สามารถพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาด หลายครอบครัวจึงเผชิญภาวะรายได้ลดลง และอาจมีความยุ่งยากในการหาเงินมาจ่ายหนี้ เกษตรกรได้แต่ยอมรับความเสี่ยงที่จำเป็นและยืนหยัดเพื่อครอบครัว ชุมชน และประเทศบ้านเกิด รวมทั้งเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนมามีบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ค้า เพื่อหาหนทางในการเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤติโควิด-19 อาจเป็นโอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย คือ การที่แรงงานรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินหน้าทำการเกษตร ลดการกระจุกตัวของที่ดิน ขยายโครงข่ายแหล่งน้ำ รวมถึงหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตร และพัฒนาทักษะทางธุรกิจและดิจิตอลให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้รายได้จากภาคเกษตรจะกลับมามีบทบาทในฐานะ "รายได้หลัก" ของครัวเรือนอีกครั้ง
แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตทางการเกษตรหากสภาวะทางเศรษฐกิจทำให้ราคาตกต่ำอาจส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่กลับมาทำเกษตรได้ไม่ยั่งยืน เพราะถึงแม้จะมีการพัฒนาโดยนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำเกษตร แต่ต้นทุนในระยะเริ่มแรกอาจมีราคาที่สูงพอสมควร และเมื่อได้ผลผลิตมายังสามารถขายได้ในราคาต่ำอยู่เหมือนเดิม ย่อมไม่คุ้มค่า ไม่มีเหตุจูงใจในการทำเกษตรกรรม เมื่อวิกฤติโควิด-19 ในระยะยาวจบลง แรงงานรุ่นใหม่เหล่านี้อาจกลับไปทำงานในเมืองหรือในโรงงานอุตสาหกรรมตามเดิมก็ย่อมเป็นไปได้
อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดที่เป็นแรงขับให้คนรุ่นใหม่คืนถิ่น (Smart Farmer) และต้องการอยู่รอดในชุมชน ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับภูมิทัศน์รูปแบบการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิม คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความสนใจทำเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร มีการใช้กลยุทธ์ผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้านกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่ไม่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน รวมถึงการใช้โอกาสที่ผู้บริโภคหันมาดูแลและใส่ใจการผลิตอาหาร เลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ ทำการตลาดซื้อขายล่วงหน้า และช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนสามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการ สร้างแบรนด์ และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง โดยใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูงจนต้นทุนต่ำกว่าในอดีตอย่างมาก แม้ว่าชั่วโมงการทำงานของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรอย่างพวกเขาก็เลือกที่จะทำงานในภาคเกษตรนี้ต่อไป เพื่อที่จะได้อยู่พร้อมหน้าครอบครัว และดูแลปากท้องของครอบครัวและสังคมไปพร้อมกัน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 มิ.ย. 2564
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.