เกษตรกรผู้ผลิตอาหารมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคชนบทที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหารายได้ลดลง และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น หลายครัวเรือนต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ปี 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไทได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านคดีหนี้สินเกษตรกร เพื่อแสวงหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในปัญหาหนี้สินด้วยการใช้กระบวนการทางกฎหมาย จากผลการศึกษาพบว่า ลักษณะการกู้ยืมของเกษตรกรกับแหล่งเงินกู้มี 2 รูปแบบที่มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องและสูญเสียที่ดิน
การกู้แบบใช้บุคคลค้ำประกัน พบกับแหล่งเงินกู้ เช่น ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีแนวคิดช่วยเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวกขึ้น โดยกำหนดให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกจับกลุ่มกันกู้และค้ำประกันกันเอง เกษตรกรเรียกการกู้ในลักษณะนี้ว่า “กู้ 3 คนค้ำ” หรือ “กู้ 4 คนค้ำ” ซึ่งพบว่าการกู้รูปแบบนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องมากขึ้น แม้ว่าเกษตรกรจะรับผิดชอบต่อหนี้สินของตนเอง แต่ไม่สามารถควบคุมการชำระหนี้ของเพื่อนเกษตรกรร่วมกู้คนอื่นได้ เพราะเพียงกลุ่มมีคนไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทุกคนก็สามารถตกเป็นจำเลยได้ทันที นอกจากนี้เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลบังคับคดีหรือยึดทรัพย์จากจำเลยคนอื่นมาขายทอดตลาดและชำระหนี้ ส่งผลให้เกษตรกรบางรายที่ดินหลุดมือเพราะตนเองเป็นผู้เซ็นค้ำประกัน
การกู้จำนอง เป็นการกู้โดยมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ มีการทำสัญญาเงินกู้และจดจำนองที่ดินไว้กับเจ้าหนี้ โดยไปทำเรื่องที่สำนักงานที่ดิน ทั้งนี้กฎหมายเปิดช่องให้ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำแทนได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของลูกหนี้ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาเงินกู้ เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้มีสิทธิฟ้องร้องเพื่อให้ศาลสั่งบังคับให้นำที่ดินแปลงที่จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เกษตรกรที่ตกเป็นจำเลยมีทั้งโจทก์เป็นเจ้าหนี้นอกระบบและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน พบว่าหลายครั้งเกษตรกรเริ่มต้นกู้จำนองด้วยยอดเงินที่ต่ำกว่าราคาประเมินของที่ดินหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ภายหลังไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะเสนอให้กู้เพิ่ม โดยนำเงินกู้ยอดใหม่มาจ่ายหนี้ยอดเก่าที่มีดอกเบี้ยและเงินค่าปรับ จนยอดเงินกู้สูงเท่ากับราคาประเมินหลักทรัพย์หรือบางรายสูงกว่าราคาประเมินจนเกษตรกรไม่สามารถชำหนี้ได้ สุดท้ายถูกเจ้าหนี้ฟ้อง ซึ่งในลักษณะนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนทางศาลทำให้ลูกหนี้มีโอกาสสูญเสียที่ดินสูงมากเพราะลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้และถูกบังคับคดี
การกู้จำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบ พบว่าการกู้ครั้งแรกเกษตรกรนำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหนี้ถือไว้ การกู้ในช่วงนี้เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ลูกหนี้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยและเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้เจ้าหนี้จะให้ทำสัญญาจำนอง ทำให้ยอดเงินกู้ในสัญญาจำนองอาจสูงกว่ายอดหนี้เดิม ทั้งที่เกษตรกรมีการผ่อนชำระให้เจ้าหนี้มาบ้างแล้ว อีกแบบหนึ่งเป็นการจำนองลับหลังลูกหนี้โดยลูกหนี้ไม่รู้เรื่อง เพราะในการกู้ครั้งแรกเกษตรกรจะนำโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้ แต่เจ้าหนี้จะให้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้ด้วย โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดว่ามอบอำนาจให้ใคร เรื่องอะไร และเมื่อเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็จะนำหนังสือมอบอำนาจนี้ไปจดจำนองเองโดยไม่แจ้งเกษตรกร มารู้ตัวเมื่อถูกหมายเรียกจากศาลในคดีผิดสัญญากู้ยืมจำนอง
บทเรียนการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร
1) เมื่อได้รับหมายศาล หน้าที่สำคัญของเกษตรกร คือ อ่านสำนวนคำฟ้องให้ละเอียด ซึ่งจะระบุสัญญาการกู้ยืม ยอดเงินต้น อัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการชำระเงิน รายละเอียดการชำระเงินที่ผ่านมาของลูกหนี้ ยอดหนี้คงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระและค่าปรับกรณีผิดชำระหนี้ เกษตรกรต้องเทียบรายละเอียดในสาระคำฟ้องกับสำเนาสัญญาเงินกู้ว่าตรงกันหรือไม่ หากรายละเอียดไม่ตรงกัน แปลว่าคำฟ้องนั้นไม่ชอบและเกษตรกรสามารถหยิบมาเป็นประเด็นต่อสู้ในชั้นศาลได้ รวมทั้งต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม เช่น เอกสารสัญญาเงินกู้ สัญญากู้จำนอง หลักฐานการชำระเงิน หลักฐานเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแนวทางการต่อสู้คดี
2) ประเด็นการต่อสู้คดีทางกฎหมาย เช่น จำเลยไม่มีเจตนาจำนอง การจำนองทำโดยจำเลยไม่รู้ไม่เห็น สัญญาเงินกู้ปลอม เพราะขณะกู้ไม่มีการทำสัญญาและตัวเลขที่ระบุในคำฟ้องไม่ใช่ตัวเลขของยอดเงินกู้จริง จำเลยไม่ผิดสัญญาเงินกู้ เพราะในสัญญาจำนองระบุเพียงจะมีการชำระดอกเบี้ยทุกเดือนไม่ได้ระบุถึงการชำระเงินต้น และการคำนวณดอกเบี้ยของเจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้จุดมุ่งหมายจากผลการต่อสู้คดีด้วยกระบวนการทางกฎหมาย หากจำเลย(เกษตรกร)เป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรลูกหนี้ไม่ต้องชำระหนี้ “เป็นหนี้ ต้องใช้หนี้” แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกรมากขึ้น โดยปกติเกษตรกรลูกหนี้ไม่ค่อยเลือกการสู้คดี และมักยอมตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ ซึ่งมักอยู่บนฐานของความไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าทนายความมาศาล ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจหากสู้คดีแล้วผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร การมีกลุ่มองค์กรและทนายความสนับสนุนเกษตรกร ช่วยเหลือด้านคดีความหนี้สินจึงมีส่วนสำคัญให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 16 เมษายน 2564
ผู้เขียน : สมจิต คงทน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.