ประเทศไทยถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการปลูกข้าวเพื่อการส่งออกมากที่สุด ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงสุดเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวแบบเข้มข้น (Rice Cropping Intensity) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภาพการผลิตสูงนั้น ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสุขภาพของชาวนาและเกษตรกรจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ผู้บริโภคยังได้รับความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีตกค้างในผลผลิตที่มาจากการเพาะปลูกแบบเข้มข้น
รวมถึงสถานการณ์ผลกระทบการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตภัยแล้ง วิกฤตฝุ่นควัน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงมีการกล่าวถึงแนวคิด “การทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์” ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น โดยมีโจทย์สำคัญคือแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาทำนาหรือทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ สู่วิธีการผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ พร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร
การทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์ เป็นทางเลือกหนึ่งของการเกษตรยั่งยืน การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบเชิงลบ ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านสินค้าและบริการผ่านระบบตลาด ที่เรียกว่าสินค้าเอกชน และสินค้าและบริการที่ไม่ผ่านระบบตลาด ที่เรียกว่าสินค้าสาธารณะ ซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปของบริการทางสิ่งแวดล้อมที่ให้แก่สังคมโดยรวม อาทิเช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตร การเพิ่มคุณค่าของเกษตรภูมิทัศน์ การป้องกันน้ำท่วม ความมั่นคงและความปลอดภัยในอาหาร รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวนาและชุมชนเกษตรกรรม
ทั้งนี้แนวคิดการทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์ ควรเป็นไปอย่างสอดคล้องระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ นั่นคือความสอดคล้องระหว่างต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาข้าวแบบเข้มข้น สู่การลดและเลิกการใช้สารเคมี การอนุรักษ์ดิน น้ำ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มความหลากหลายของพืชพรรณในนาข้าวให้มีพืชร่วม พืชยืนต้น พืชหมุนเวียนในแปลงนามากขึ้น
แม้ว่าด้านหนึ่งชาวนาจะสามารถใช้ประโยชน์ทางตรงด้านอาหาร และลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการพึ่งพาพืชผักที่ตนเองปลูกและเก็บหาจากธรรมชาติมาบริโภค (จากที่เมื่อก่อนไม่กล้านำพืชผักในแปลงนามาทำอาหาร เนื่องจากกลัวพิษภัยจากสารเคมีที่ตนเองและคนในชุมชนใช้) รวมถึงช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร แต่อีกด้านหนึ่ง คือ ต้นทุนดำเนินการปรับเปลี่ยน ต้นทุนค่าสูญเสียโอกาสในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยน และการหารายได้เพิ่มของชาวนาด้วย
มาตรการและแนวทางอุดหนุนชาวนานักอนุรักษ์
ที่ผ่านมาภาครัฐไทยมีมาตรการอุดหนุนแก่ชาวนาและเกษตรกร เพื่อจูงใจให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์ เช่น นโยบายเกษตรอินทรีย์/นาแปลงใหญ่ โดยเน้นการสนับสนุนด้านเทคนิคและการจัดหาปัจจัยการผลิตรวม รวมทั้งการส่งเสริมการตลาด ซึ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มาตรการอุดหนุนส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้น ยังขาดการยอมรับและไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวนาไทยมีปัญหาพื้นฐานหลายเรื่องรุมเร้าที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขระยะยาว
ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น เยอรมัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีบทเรียนและประสบการณ์การนำนโยบายการเกษตรเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ค.ศ. 2000 ในงานศึกษาเรื่อง การเกษตรเชิงพหุภารกิจ : แนวคิดมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีข้อเสนอแนวทางมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่มีศักยภาพในการนำมาปรับใช้ทั้งในระดับฟาร์มและระดับชุมชนในประเทศไทย ดังนี้
การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่เกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ เช่น การให้ทุนอุดหนุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปสู่การเกษตรอินทรีย์ และต้นทุนค่าเสียโอกาสในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยนที่ไม่ก่อประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกร การให้เงินทุนสนับสนุนระยะยาวที่ครอบคลุมทั้งในช่วงระยะเวลาการปรับเปลี่ยนและการคงไว้ของการเกษตรอินทรีย์ ภายใต้อัตราการอุดหนุนต่อพื้นที่ที่ผันแปรตามชนิดของพืช
การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่เกษตรกรเพื่อดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม การให้เงินสนับสนุนโดยตรงเพื่อส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดินและน้ำ เช่น แถบหญ้าป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน การปลูกพืชคลุมดิน
การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการกระทำร่วมกันของชุมชนในการส่งเสริมการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน เช่น การให้ทุนสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เกษตร โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหาและนำเสนอแนวทางเพื่อการจัดการทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของชุมชน
นอกจากนี้ที่สำคัญคือการจัดตั้งกลไกเชิงสถาบันเพื่อรองรับและส่งเสริมการดำเนินมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นได้จริงและประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย การจัดตั้งหน่วยงานที่มีการบูรณาการหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเพื่อรับผิดชอบในการกำหนดและดำเนินมาตรการให้แรงจูงใจทางการเงินในการสนับสนุนการเกษตรเชิงอนุรักษ์ การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำกับดูแล การมีส่วนร่วมและร่วมมือของภาคประชาชนส่วนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือภายในชุมชน การเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักทางด้านการเกษตรและการจัดการสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้ายคือความพร้อมด้านงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นในการขับเคลื่อนมาตรการการให้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการเกษตรเชิงอนุรักษ์ประสบผลสำเร็จ
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 มี.ค. 2564
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.