“3 ปี ชุมชนบ่อแก้ว” จากผู้สูญเสียที่ดินทำกิน สู่เกษตรวิถีอินทรีย์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 16 พื้นที่ จัดงาน “ครบรอบ 3 ปี ชุมชนบ่อแก้ว” ประกาศเป็นชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ พึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากภายนอก หวังความมั่งคงในผืนดินจนถึงลูกหลาน หลัง อ.อ.ป.เข้าปลูกป่ายูคา-ไล่ชาวบ้านจากพื้นที่ นานกว่า 30 ป
จากปัญหาการจัดการที่ดินของรัฐ ที่ทับถมด้วยวิถีการผลิตที่เกษตรกรต้องเป็นผู้แบกรับภาระจนเกินจะทานทนไหว ทำให้ชาวชุมชนบ่อแก้วก้าวเข้าสู่การจัดการที่ดินเพื่อความยั่งยืน โดยการทำเกษตรอินทรีย์ การเกษตรที่ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการ ด้วยความคาดหวังถึงความมั่งคงในผืนดินตลอดไปจนลูกหลาน
เมื่อวันที่ 16 – 17 ก.ค.55 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 16 พื้นที่ จัดงาน “ครบรอบ 3 ปี ชุมชนบ่อแก้ว” โดยมีสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ สภาองค์กรชาวบ้านป่าดงลาน ฯลฯ เข้าร่วม
เป้าหมายการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์การจัดการที่ดิน และร่วมการสร้างการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจให้กับผู้เสียสิทธิ์ในสังคมไทย รวมทั้งเป็นการนำเสนอช่องทางต่อหน่วยงานภาครัฐในที่ดินทำกิน ให้ร่วมจัดการแก้ไขปัญหาด้วยความถูกต้อง
บรรยากาศของงานในวันนั้น ชาวบ้านและเครือข่ายกว่า 300 คน แห่ขบวนกลองยาว ร่วมกันฟ้อนรำ จากจุดเริ่มขบวนถึงปากทางเข้าชุมชนบ้านบ่อแก้ว จากนั้นจึงร่วมกันทำพิธีมอบป้าย “เกษตรกรรมอินทรีย์บ้านบ่อแก้ว” นำแผ่นป้ายไปติดตั้งบริเวณหน้าชุมชน จากนั้นในภาคดึก ยังมีการแสดงดนตรีจากวงสเลเต และกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน เป็นที่ครื้นเครง สร้างความสุข สนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วม
ทั้งนี้ ชุมชนบ่อแก้วเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้ผลกระทบจากการที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ามายึดที่ดินทำกินของชาวบ้านแล้วดำเนินการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 กระทั่งชาวบ้านได้รวมใจกันยึดผืนดินกลับคืนมาเมื่อ 17 ก.ค.52
กว่า 30 ปีที่ อ.อ.ป.เข้ามาดำเนินการปลูกป่ายูคา นอกจากจะขับไล่ออกจากพื้นที่แล้วนั้น ยังส่งผลกระทบต่อผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เกิดการเสื่อมโทรม ภายหลังที่ยึดที่กินทำกินเดิมกลับมา ต้องอาศัยระยะกว่า 3 ปี ในการพัฒนาที่ดินให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ปรางทอง บานตา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ เล่าว่า การกลับมายังที่ดินเดิมของชาวบ้าน ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พวกเขาได้ช่วยกันพลิกพื้นผืนดินให้สมบูรณ์ด้วยการคิดค้นแนวทางจัดการที่ดินไปสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรมอินทรีย์ จนล่วงมาถึงปีที่ 3 นี้ จึงตกลงร่วมกันที่จะเปิดหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม
“ชาวบ้านอยู่ไม่ได้แล้ว หากไม่เข้ามาปักหลักสู้ มันไม่มีผล มีแต่รับเรื่อง รับนโยบายต่างๆ พวกเราจึงตัดสินใจเข้ามายึดพื้นที่กลับคืนมา” ปรางทองเล่า
ปรางทอง กล่าวต่อว่า การสู้ของชาวบ้านด้วยวิธีการเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ ปลูกพืชผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงให้สังคมเข้าใจว่าพืชเศรษฐกิจเช่นไม้ยูคาที่รัฐส่งเสริมให้ปลูกก่อนหน้านี้ ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
“พูดง่ายๆ ว่า เราปลูกพืชในสิ่งที่กินได้ เราไม่เอายูคา” ปรางทองกล่าว และว่าขณะนี้ชุมชนรอการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ลงมาร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่ในสิ่งที่ดี ถูกต้อง และเป็นธรรมต่อไป
ด้านนายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว เล่าว่า ที่จริง อ.อ.ป.เข้ามาละเมิดสิทธิพวกเขามากว่า 30 ปี และความอยุติธรรมที่เกิดกับชาวบ้านก็ยังถือว่าไม่จบ เพราะไม่ว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ต่างพิพากษาว่าชาวบ้านมีความผิดในข้อหาบุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ทั้งที่ในความเป็นจริงชาวบ้านได้พยายามแสดงหลักฐาน แม้กระทั่งไปขุดเอากระดูกบรรพบุรุษของพ่อ ของแม่ รวมทั้งเอาเอกสารทุกอย่างมายืนยัน แต่ศาลก็ไม่รับฟัง
“แม้การกลับเข้ามาอาศัยในที่ดินทำกินเดิม กลายเป็นข้อพิพาท จนนำไปสู่การดำเนินคดีกับชาวบ้าน ในข้อหาบุกรุก แต่พวกเราต่างยืนยันที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรพวกเราถือว่าภูมิใจที่ได้ต่อสู้ ถ้าไม่ต่อสู้ก็อยู่ไม่ได้ ลูกหลานในอนาคตของเราก็อยู่ไม่ได้” นายนิดกล่าว
ผลสรุปจากการเสวนา “3 ปี ชุมชนบ่อแก้ว” ปัจจุบันชาวบ้านได้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับทำการผลิตปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเลี้ยงชีพในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งเกือบครบวงจร นอกจากพืชผักที่กินได้แล้ว ยังมีโรงปุ๋ยหมัก ศูนย์เมล็ดพันธุกรรม และโรงอบสมุนไพร
นี่ถือเป็นความก้าวหน้าของชาวชุมชนบ่อแก้ว ที่ลุกขึ้นมาปฏิรูปที่ดินโดยไม่ได้ยึดติดกับการถือครองที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการการปฏิรูปที่ดินในวิถีการผลิต คือการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นบนเส้นทางการสร้างความยั่งยืนให้ผืนดิน ที่มีผลต่อการมีสุขภาพร่างกายที่ดี และการสร้างความมั่นคงในอาหารให้กับสังคม โดยเป็นการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ลดการนำเข้าปัจจัยภายนอก
รายงานโดย: สำนักข่าวลุมน้ำเซิน วันที่ 19 ก.ค. 55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.