ชาวนาส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินจากการพึ่งพิงการเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชตามกระแส ปลูกพืชตามความเคยชิน และปลูกพืชด้วยการใช้สารเคมี นี่คือคำกล่าวสรุปถึงสาเหตุปัญหาหนี้สินของชาวนาโดยเฉลียว น้อยแสง ชาวนาตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และครูบัญชีอาสาดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2561
“วันนี้ข้าว กข.41 ข้าวหอมปทุม ราคาดี ราคาพุ่ง เนื่องจากปริมาณข้าวน้อย ตลาดต้องการ ชาวนาก็จะพยายามปลูก แต่พอปลูกกันมากราคาข้าวก็จะตกต่ำ ขาดทุนกันอีก ชาวนาไม่รู้เลยว่ารับเงินไปเท่าไหร่ แล้วจ่ายไปเท่าไหร่ ไม่เห็นกำไรหรือต้นทุน ขาดการวางแผน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้สินและต้นทุนชีวิตของชาวนาก็สูงขึ้นทุกด้าน...”
ในอดีตเฉลียวเป็นชาวนาคนหนึ่งที่มีปัญหาหนี้สินกว่าล้านบาท แต่ปัจจุบันสามารถปลดเปลื้องหนี้สินของตนเองได้จนหมด จากการคิดค้นวิธีการทำนาแบบลดต้นทุน ใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี บริหารจัดการแปลงนาให้มีรายได้มากกว่าทางเดียว พร้อมกับการจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพและบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินจนประสบผลสำเร็จ
บัญชีชาวนา เครื่องมือสู่ความเข้าใจตัวเอง
การที่ชาวนาต้องเรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือนนั้นมีความจำเป็นเพราะการทำบัญชีครัวเรือน จะทำให้เห็นรายละเอียดและภาพรวมของรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน และรายจ่ายต้นทุนอาชีพ และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ได้ว่าอะไรที่สมควรและไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อเป็นการลดและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้อย่างเหมาะสมจะส่งผลทำให้เกิดการออม การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด และนำไปสู่แนวทางการลดและปลดหนี้สินลงได้
เฉลียวกล่าวถึงวิธีการทำบัญชีแบบฉบับของชาวนาไว้ว่า ชาวนาจะต้องเป็นคนทำบัญชีด้วยตนเอง ไม่ใช่เอาไปให้ลูกหลานทำ มันไม่ได้ผล สังเกตไหมว่าคนโบราณเขาทำบัญชีมาตลอด โดยการเขียนไว้ข้างฝา เช่น หว่านข้าวเท่าไหร่ ไปลงแขกใคร ขายข้าวไปเท่าไหร่ นี่คือการทำบัญชีแบบคนโบราณที่เขาไม่รู้ตัว การทำบัญชีเกิดคู่มากับเศรษฐกิจพอเพียง
บัญชีชาวนา ควรทำให้ง่าย ไม่ต้องใช้สมุดแบบฟอร์มอะไรก็ได้ ใช้สมุดเปล่าธรรมดาก็สามารถจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ยอดรวมแต่ละวัน เพียงเดือนเดียวก็เห็นผล นำข้อมูลมาพิจารณาถึงความจำเป็นของการใช้จ่าย แล้วก็ค่อยๆ ลด เดือนต่อไปเมื่อเห็นผลเราก็จะกลายเป็นความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัย การลงบัญชีละเอียดจะทำให้เราเห็นภาพรวมว่าอะไรที่สมควรไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อจะได้เป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถที่จะเพิ่มรายรับของเราได้ รายรับเพิ่มก็สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการลงทุนเพื่อการผลิตครั้งถัดไปได้
แนวทางการแก้หนี้ด้วยบัญชีครัวเรือน
จากประสบการณ์ของเฉลียวพบว่า ธ.ก.ส. ให้ชาวนากู้ในลักษณะร่วมกลุ่มกัน ไม่เกินรายละห้าหมื่นบาท ซึ่งสะดวกสบายมากและดอกเบี้ยก็ต่ำ ร้อยละ 0.5 โดยปกติชาวนาส่วนใหญ่จะส่งแค่ดอกเบี้ยไม่ได้ส่งเงินต้นด้วย การวางแผนทางการเงินเพื่อลดและปลดหนี้ที่ถูกต้อง คือ ชาวนาจะต้องวางแผนเพื่อส่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย จึงจะสามารถลดและปลดเปลื้องหนี้ได้หมด
ชาวนาคนไหนที่บอกว่าไม่สามารถออมเงินได้ สามารถปรับวิธีการออมเงิน ด้วยการใช้หนี้เก่าไปก่อน แล้วค่อยมาออมเป็นเงินสด ลักษณะนี้คือการออมเงินทางอ้อม แล้วก็สามารถใช้หนี้ได้หมดและไม่มีหนี้ผูกพัน
แนวทางแก้ปัญหาหนี้และสภาพคล่องทางการเงินของชาวนา คือ การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ทั้งต้นทุนอาชีพและต้นทุนการใช้ชีวิต เพื่อลดภาระการจ่ายเงินของครอบครัว การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่าและเน้นการพึ่งพาตนเอง เช่น การปลูกผักและผลไม้ไว้รับประทานเอง เพื่อลดรายจ่ายค่าอาหาร และค่าเดินทางไปตลาด อีกทั้งทำให้สุขภาพดีอีกด้วย การเพิ่มรายรับ หารายได้เสริมนอกจากการทำนา เช่น การปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์ไว้ขาย เป็นต้น การทำความเข้าใจกันภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนร่วมมือกัน ประหยัด รู้จักอด ลด ละ เลิก รายจ่ายหรือสิ่งที่ไม่จำเป็น และช่วยกันสร้างรายรับให้เพียงพอและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าประโยชน์จากการทำบัญชีชาวนาไม่เพียงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้และแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน นั่นคือ ทำให้ชาวนาเข้าใจตนเอง ทราบรายรับ รายจ่าย หนี้สิน และเงินคงเหลือในแต่ละวัน นำข้อมูลการใช้จ่ายเงินภายในครอบครัวมาจัดเรียงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และวางแผนการใช้จ่ายเงิน แต่ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนาได้อีกด้วย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 18 ธ.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.