เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ข้าวที่ชาวนาปลูกไว้จะเริ่มสุกเหลือง ส่งสัญญาณว่าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวที่ชาวนารอคอยมาถึงแล้ว พร้อมกับปัญหาสุดคลาสสิคที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทุกปี นั่นคือ ปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ
ปัญหาซ้ำเดิมนี้ภาครัฐมักจะใช้มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการทางการเงินหรือการจ่ายเงินช่วยเหลือ เช่น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินมาตรการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าว ในปีการผลิต 2562/2563 ที่ผ่านมา ภาครัฐจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามปีนี้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำสาหัสกว่าทุกครั้ง ผลพวงจากมรสุมทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยปัญหาแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดตกต่ำทุกชนิด การส่งออกข้าวชะลอตัวจากความต้องการในตลาดลดลง คาดว่าปีการผลิต 2563/2564 ภาครัฐอาจจะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว
อันที่จริงแล้วปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นเพียงหนึ่งในวิกฤติปัญหาของชาวนาและภาคเกษตรกรรม และเกิดขึ้นมาก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาหลายเรื่องเป็นปัญหาเรื้อรังและสั่งสมมานาน แต่ยังไม่มีแนวนโยบายและการแก้ไขอย่างตรงจุด เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน เป็นต้น ลำพังความช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากเม็ดเงินประกันรายได้และส่วนต่างที่ชาวนาจะได้รับครัวเรือนละ 20,000-40,000 บาท ตามเนื้อที่เพาะปลูกและชนิดของข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ อาจแค่พอต่อลมหายใจให้ชาวนา นำเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่ารถเกี่ยว และค่าเทอมลูกในเดือนหน้า แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวนาสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวท่ามกลางวิกฤติรอบด้านเหล่านี้
สภาวะวิกฤติของชาวนาและเกษตรกร
ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจุบันสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยเราปลูกกันมาก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน หมายความว่าเกษตรกรไทยมีการปลูกพืชที่กระจุกตัวไม่กี่ชนิด ทำให้เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ราคาจึงตกต่ำ ขณะที่บางปีพอสินค้าเกษตรชนิดไหนมีราคาดี เกษตรกรจำนวนมากก็จะหันมาปลูกสินค้านั้น จึงทำให้ปีต่อมาราคาสินค้านั้นลดลง เกษตรกรจำนวนมากจึงขาดทุนวนเวียนกันไปอย่างนี้เสมอ
ปัญหาที่ดินทำกิน ในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ที่ถือครองเพื่อการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของเกษตรกรเอง 72 ล้านไร่ หรือ 48% จากจำนวนทั้งหมด นั่นคือกว่าครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน จึงทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นสูงขึ้นกว่าการมีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะยังมีค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของที่ดิน
ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ชาวนาและเกษตรกรไทยมีรายได้ค่อนข้างน้อย แต่กลับมีหนี้สินที่กู้ยืมมามาก ในปี 2561 รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรต่อคนอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนนอกภาคเกษตรอยู่ที่เดือนละ 16,000 บาท ปัจจุบันหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทยสูงถึง 195,000 บาท หมายความว่าเกษตรกรต้องทำงาน 39 เดือน ถึงจะมีรายได้มาจ่ายหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ย
ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ พบว่ากลุ่มเกษตรกรสูงอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 13 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2556 ในขณะเดียวกันเกษตรกรวัยแรงงานอายุ 15-40 ปี ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ภาคเกษตรกรรมต้องอาศัยภูมิอากาศและน้ำ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของไทย มักได้รับผลกระทบเมื่อสภาพอากาศแปรปรวนเช่นปัจจุบัน และตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกนั้นจะต่ำสุดในรอบ 40 ปี เกษตรกรหลายจังหวัดต้องเลื่อนการทำนาและเพาะปลูกออกไป หมายถึงรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง
ทางออกท่ามกลางสภาวะวิกฤติ
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชาวนาและเกษตรกรไทยยังเจอปัญหาเดิมซ้ำ ๆ เหมือนหลายสิบปีที่แล้ว หลังมรสุมโควิด-19 ภาคเกษตรกรรมยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความชราภาพของเกษตรกร เป็นต้น
แนวทางออกและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อรองรับและสร้างภูมิต้านทานสภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องคิดแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น การมีหลักประกันด้านรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มีรูปแบบการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุน ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเองทางอาหาร
เน้นตลาดภายในชุมชนและตลาดภายในประเทศเป็นหลัก สร้างระบบการกระจายอาหาร ขยายตลาดท้องถิ่น และการกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค หรือพัฒนาระบบตลาดออนไลน์ทางเลือก โดยมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สังคมไทยมีภูมิต้านทานสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤติอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 พ.ย. 2563
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.