“…เราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม…”
ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว กับโครงการประกันรายได้ ‘ชาวนา’
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 และรัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินชดเชย ‘ส่วนต่าง’ งวดที่ 1 ให้กับชาวนาแล้ว 7.86 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,387.06 ล้านบาท และอยู่ระหว่างทยอยโอนเงินงวดที่ 2
ปีนี้ เป็นอีกปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบประมาณและวงเงินสินเชื่อ เพื่อดูแลและช่วยเหลือชาวนา 4.56 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 115,588.60 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจ่ายขาด 85,304.60 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 30,284 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่
1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 วงเงินจ่ายขาด 23,495.71 ล้านบาท โดยใช้แหล่งทุนจาก ธ.ก.ส. (วงเงินชดเชยส่วนต่าง) วงเงิน 22,957.37 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 538.34 ล้านบาท
2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826.76 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,284 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 4,542.76 ล้านบาท ตั้งเป้าชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 1.5 ล้านตัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท
3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,562.50 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท (เป้าหมาย 1 ล้านตัน) และวงเงินจ่ายขาด 562.50 ล้านบาท
4.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 610 ล้านบาท ตั้งเป้าดูดซับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน เก็บไว้ในสต๊อก 2-6 เดือน
5.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 56,063.63 ล้านบาท แบ่งเป็นงบจ่ายขาดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ 4.56 ล้านครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงิน 54,828.08 ล้านบาท และการชดเชยต้นทุนเงินให้ธ.ก.ส. วงเงิน 1,233.63 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ครม.อนุมัติจัดสรรเงินจ่ายขาด วงเงิน 51,858.14 ล้านบาท จากวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด 85,304.60 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการป้องกันความเสี่ยงด้านราคา และดึงอุปทานออกจากตลาด ในช่วงที่ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพ.ย.2563
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โครงการประกันรายได้ชาวนาและมาตรการคู่ขนาน ในช่วง 2 ปีการผลิต คือ ปีการผลิต 2562/63 และการผลิต 2563/64 จะใช้เม็ดเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 2.21 แสนล้านบาท แต่พบว่าโครงการประกันรายได้ฯ ในปีการผลิต 2563/64 ใช้เงินเพิ่มจากปีการผลิต 2562/63 ไม่มากนัก
โดยโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2563/64 ใช้วงเงินสนับสนุน 115,588 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2562/63 ใช้วงเงินสนับสนุน 106,043 ล้านบาท ทั้งนี้ งบในส่วนการจ่ายชดเชยในโครงการประกันรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกอีก 6,956 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่มเป้าหมายข้าวเปลือกที่เข้าโครงการฯเป็น 1.5 ล้านตัน จากเดิม 1 ล้านตัน เป็นต้น
“ตอนนี้ข้าวหอมมะลิเกี่ยวแล้ว และเดือนหน้าจะเกี่ยวเยอะเลยแถวอีสาน ส่วนข้าวเหนียว ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเหลือไม่เท่าไหร่ก็หมดแล้ว จะมีก็แต่ภาคกลาง ซึ่งข้าวขาว ข้าวพื้นนุ่ม ข้าว กข. 79 แถวกำแพงเพชร ข้าวหอมมะลินอกเขต อุตรดิตถ์และพิษณุโลกลงมา ตอนนี้ออกเยอะมาก
ซึ่งข้าวหอมมะลิ ถ้าชาวนาได้จากรัฐบาลอีกตันละ 2,900 บาท ก็พอถัวอยู่ได้ ส่วนข้าวขาว ถ้าเราได้จากรัฐบาลอีกตันละ 1,000 บาท จะทำให้ชาวนามีรายได้ตันละไม่ต่ำกว่า 8,000-8,500 บาท ชาวนาก็พออยู่ได้” ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ปราโมทย์ บอกด้วยว่า “ถ้าไม่มีโครงการประกันรายได้ มันจบเลยนะ”
ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า การที่รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ชาวนา และมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น การช่วยเหลือค่าต้นทุนเก็บเกี่ยว และค่าเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง มาตรการเหล่านี้ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์โดยตรง และเชื่อว่าชาวนาน่าจะพอใจกับรายได้ในขณะนี้
“ตอนนี้รัฐบาลออกมาประกันราคาข้าวเปลือกและมาตรการคู่ขนาน สำหรับชาวนา ผมคิดว่าเขาโอเคนะ รายรับไม่ได้ลดลง แม้ว่าราคาในตลาดจะลง เพราะรัฐบาลประกันราคาให้ ดังนั้น เรื่องราคาข้าวเปลือก ชาวนาได้ผลประโยชน์ตรง และยังได้เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 บาท และถ้าขึ้นยุ้งฉางก็ได้อีกตันละ 1,500 บาท” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
อย่างไรก็ดี ในแง่ขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ร.ต.ท.เจริญ ระบุว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และถูกคู่แข่งที่แย่งชิงตลาดไปต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตันเท่านั้น
“ถ้าเราไม่ทำอะไร อีก 3-4 ปี เราอาจจะหล่นลงมาเป็นที่ 4-5 ก็ได้…ตอนนี้เรามีคู่แข่ง เมื่อไหร่ราคาข้าวเราสูงเกินไป เราก็ถูกเขาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป” ร.ต.ท.เจริญย้ำ
ขณะที่มุมมองของนักวิชาการคร่ำหวอดในวงการข้าวมาไม่น้อยกว่า 30 ปี อย่าง สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจะใช้เม็ดเงินในโครงการประกันรายได้ ปีการผลิต 2563/64 สูงถึง 1.15 แสนล้านบาท แต่หากเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว พบว่ารัฐบาลใช้เงินน้อยกว่า และไม่ต้องเก็บข้าวเอาไว้
สมพร เสนอว่า เพื่อลดภาระส่วนต่างการชดเชยรายได้ในโครงการฯ รัฐบาลต้องมีมาตรการที่จะสร้างเข้มแข็งให้กับ ‘กลไกตลาด’ เพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ตบ’ ราคาข้าวเปลือกให้ลดลงของบรรดาพ่อค้า
“ถ้ารัฐบาลไม่มีกลไกที่จะสร้างกลไกตลาดให้เข้มแข็งพอ มันยากมากที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดจะสูงเกินกว่าราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ เพราะเวลาราคาข้าวจะไปถึงเป้าหมาย พ่อค้าจะตบลงมา ตลาดจะตบราคาลงมาให้ต่ำกว่าราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่าง แต่พ่อค้าจะได้ประโยชน์จากราคาข้าวเปลือกที่ลดลง” สมพรเสนอ
สมพร ยังเสนอว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ทำให้ชาวนาข้าวเปลือกได้ในราคา ‘ยุติธรรม’ เพราะปัจจุบันชาวนาขายข้าวเปียก (ข้าวเปลือกที่มีความชื้นมากกว่า 15%) เป็นหลัก แม้ว่าแปลงเป็นราคาข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ได้ แต่จะพบว่าชาวนาไม่สามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ยุติธรรม รวมทั้งต้องสนับสนุนเงินกู้ซอฟท์โลนให้โรงสีใช้การซื้อข้าวเปลือก เพื่อไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกลงไปอีก
“เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะออกมาเยอะ ชาวนาหลายคนต้องการเงินสด พอเกี่ยวเสร็จก็เอาไปขายโรงสีทันที ราคาก็ลง และถ้าโรงสีไม่มีเงินรับซื้อ ราคาก็ตกลงไปอีก เพราะไม่มีคนมาช้อนซื้อ แต่ถ้าโรงสีมีเงิน เขาก็จะไปช้อนซื้อ เพราะรู้ว่าถ้าเก็บไว้ซักพักราคาก็จะเพิ่มขึ้น อย่างข้าวหอมมะลิ ปลายปีราคาก็ขึ้น” สมพรย้ำ
สมพร ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้น แม้โครงการประกันรายได้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ แต่โครงการลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ชาวนามีความเข้มแข็งในระยะยาว
“หากไทยทำโครงการประกันรายได้เป็นระยะเวลายาวนาน จะเท่ากับเราแช่แข็งชาวนาให้อยู่กับที่ เพราะแทนที่ชาวนาจะมองหาโอกาสและปรับตัวไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ และต้องถูกล่อให้ติดอยู่กับการปลูกข้าว ซึ่งวันนี้ต้องถือว่าอยู่ในสถานการณ์ข้าวไทยอยู่ในภาวะ ‘โรยรา’ หรือ ‘ชราภาพ’ แล้ว เพราะต้นทุนสูง แข่งขันไม่ได้
และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็แข่งขันไม่ได้อยู่ดี เพราะต้นทุนเราไม่ได้ลดลง วันนี้ต้นทุนการผลิตข้าวของเราสูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว และปีนี้ผมคิดว่าเราอาจจะส่งออกข้าวได้น้อยลงกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป โดยคาดว่าไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 7.5 ล้านตัน” สมพรกล่าว
(สมพร อิศวิลานนท์)
สมพร เสนอด้วยว่า รัฐบาลควรมีมาตรการคู่ขนานอื่นๆ ที่ทำให้ชาวนามีการปรับตัวไปสู่การใช้นวัตกรรมมากขึ้น หันไปปลูกชนิดใหม่ๆ หรือแม้แต่การปลูกพืชผสมผสาน เป็นต้น
“เราอาจใช้เงินไม่มาก ประมาณ 1 แสนล้านต่อปี ซึ่งดีกว่าโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่โอกาสที่เราจะใช้เงินไปทำอย่างอื่นจะหดหายไป และวันนี้ แม้แต่เรื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ หรือการจัดการเรื่องปลอมปนพันธุ์ข้าว เรายังไม่ได้ทำ เพราะเราเอาเงินมาใช้ลักษณะนี้
ซึ่งผมเห็นว่า เราจะต้องเข้าไปยกระดับซัพพลายเชน (ห่วงโซ่การผลิต) ให้ดีขึ้น สร้างกลไกตลาด แม้ว่าเราจะไม่มีกลไกตลาดกลางค้าข้าวแล้ว แต่เราสามารถมี Market place ที่ใช้ระบบไอทีรวบรวมผลผลิตข้าวเข้ามาอยู่บนออนไลน์ และซื้อขายในรูปแบบออนไลน์ อย่างนี้ก็จะช่วยเกษตรกรได้
และในประเทศที่มีการให้เงินอุดหนุนระยะสั้นแบบที่ไทยทำ เขามีลูกเล่น คือ มีมาตรการคู่ขนานเพิ่มเข้าไป เช่น การมีมาตรการจูงใจให้ผู้ปลูกข้าวปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นๆคู่ขนานกันไป แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่มีกลไกอย่างนั้น” สมพรกล่าว
สมพร ทิ้งท้ายว่า “การอุดหนุนชาวนาผ่านโครงการประกันรายได้ ในทางการเมืองเขาถือว่าคุ้มค่า ถ้าไปถามคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็บอกว่าดีกว่าโครงการรับจำนำ แต่เราต้องคิดถึงความเข้มแข็งของภาคเกษตรด้วย คือ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่รอด มั่งคั่ง มั่นคง แต่วิธีการอย่างนี้ มันไม่ได้มั่งคั่ง มั่นคง มันมีแต่จะร่วงโรย
และเราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม”
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 22 พ.ย. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.