เรารู้จักคำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ นิวนอร์มอล (New Normal) กันมากขึ้นภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเพราะเราต้องรับมือและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผิดแผกและแตกต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก เช่น ออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม เข้าจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ใช้บริการส่งของถึงบ้าน เรียนออนไลน์ และทำงานจากที่บ้านมากขึ้น เป็นต้น แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” มีอยู่แล้วและเกิดขึ้นมาก่อนการระบาดโควิด-19 นั่นคือ ชีวิตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การบริหารจัดการเงินตรา การทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า เป็นต้น
ชีวิตวิถีใหม่ซึ่งมีจุดเร่งจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะภาคส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนจีดีพีสูงสุดถึงร้อยละ 60 รวมถึงแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมก็ต้องปรับตัวตามไปด้วยเพื่อความอยู่รอด
วิถีเดิมของชุมชนเกษตรกรรม คนยึดอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเป็นคนสูงอายุและเรียนจบไม่สูงมาทำอาชีพนี้ แต่ปัจจุบันคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ก็ลาออกหรือหันกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรในยุคใหม่กันมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องดิ้นรนแข่งกับใคร เป็นนายของตนเอง และนอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการจัดการทั้งในระดับไร่นา การซื้อขาย และยังสามารถจัดการอาหารที่ปลอดภัยให้สำหรับตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น
เนื่องด้วยวิถีการทำการเกษตรยุคเก่าที่ทำให้ชาวนาเป็นหนี้กันมาก เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและหลักประกันด้านราคาและรายได้ ปัจจุบันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ ชาวนายุคเก่าจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ใหม่ ๆ โดยอาศัยพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการ พัฒนาระบบสื่อสารออนไลน์กับผู้บริโภค เช่น การริเริ่มโครงการลงขันทำนา เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าร่วมลงหุ้นหรือลงขันในการทำนาระบบอินทรีย์ โดยผู้บริโภคจ่ายเงินลงทุนให้ชาวนาก่อน (ช่วยให้ชาวนาไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน) และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการทำนาด้วยตนเอง เมื่อจบฤดูกาลก็สามารถได้ข้าวไปบริโภคในครอบครัวของตนเองได้ นอกจากนี้อาจมีโครงการลงขันกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การลงขันปลูกผักอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของตนเองและครอบครัว เป็นต้น
“วิถีใหม่” เป็นกระบวนการจัดการผลผลิตล่วงหน้า และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตจะมีการลงทุนด้วยเงินส่วนของเกษตรกรไม่มากนัก การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มออกเงินให้ก่อน จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปเสี่ยงเข้าสู่ระบบสินเชื่อหรือกู้ยืมเงินกับเจ้าหนี้ พ่อค้าคนกลางที่คิดดอกเบี้ย ผลกำไรและทำสัญญาไม่เป็นธรรม เกษตรกรมีตลาดที่จะรองรับผลผลิตที่แน่นอน รวมถึงการเรียนรู้ร่วมกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านอาหารหรือสินค้าด้านต่าง ๆ
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ความทันสมัยด้านเทคโนโลยี และความรู้ภูมิปัญหาดั้งเดิมของคนยุคก่อน จำเป็นต้องนำมาผสมผสานกัน เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ วิถีใหม่ในการทำเกษตรกรรมและการตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน พึ่งพาตนเอง ปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ได้ รวมถึงการผสมผสานพลังของเกษตรกรรุ่นเก่ากับเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นหัวใจและแรงงานหลักที่สำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในอนาคต รวมถึงการพัฒนาให้เกิดหุ้นส่วนความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สู่วิถีชีวิตใหม่ที่มีความยั่งยืนร่วมกัน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ต.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.