ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้ที่ยอมพลิกชีวิตจากการปลูกส้มโชกุน พืชเชิงเดียวมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปรับตัวสู้กับภาวะโลกร้อน ชี้หากเกษตรไทยยังช้ามีโอกาสล่มสลาย
วันนี้ (4 ก.ย.2563) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกประสบการณ์ปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน หลังจากพลิกชีวิตหันหลังให้การเมือง
เขาบอกว่า จากประสบการณ์เกษตรมาทั้งชีวิต กว่า 40 ปีได้ปรับเปลี่ยนการผลิตปลูกส้มโชกุน พืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรผสมผสาน สร้างเศรษฐกิจแบบผสม ไม่ใช่ทำแบบมักง่าย แต่ต้องทำแบบมีความรู้ว่าพื้นที่ของตัวเองเหมาะสมกับการปลูกชนิดไหน และอะไรบ้างที่จะสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือน
จากส้มโชกุนที่ปลูกและต้องใช้น้ำเยอะ มาเป็นการปลูกไม้ผลที่ใช้น้ำน้อย เช่น มะม่วง ส้มโอที่ใช้น้ำน้อย และทำ และปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์พันธุ์พื้นเมือง เช่น ไก่ และฟาร์มหมู ขายในชุมชุม มีโรงชำแหละหมู ขายหมูติดแอร์ครบวงจร ปลูกไผ่และส่งเสริมการแปรรูปจากไผ่ เช่น ตะเกียบ ไม้ลูกชิ้นปิ้ง เผาถ่าน เป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ
ประพัฒน์ บอกว่า กิจกรรมลักษณะแบบนี้ ถ้าเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยน เกษตรกรสามารถหาความรู้ได้ทั้งจากการไปอบรม และหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตทั่วไป และดูงานจากเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
“ถ้าเกษตรกรยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ยังใช้การผลิตแบบเดิมๆ ปลูกข้าวแบบเดิมเหมือนหลายสิบปีก่อน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกอ้อยแบบเดิม ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านหลายเท่า เราต้องเปลี่ยนถ้าไม่ปรับหรือเปลี่ยน ไม่ช้าหรือเร็วอาชีพนี้จะต้องเลิกในที่สุด ”
เพราะว่าตอนนี้ทั้งโลกเสรีมากขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรกร ไม่สามารถกีดขวางประเทศอื่นๆได้วันหนึ่งก็ต้องเปิดเสรี เพราะถ้าเปิดเสรี และยังคงต้นทุนสูง ก็แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ในการปรับเปลี่ยนจึงเป็นทางรอด แต่ต้องปรับเปลี่ยนแบบมีความรู้ เหมือนกับผมที่เปลี่ยนมาให้มีระบบเศรษฐกิจให้มีระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เกษตรมากกว่า 1 อย่าง
นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับครอบครัวเขาต้องใช้เวลาในการศึกษาก่อนปรับตัว เช่น การเลี้ยงไก่พันธุ์พืนเมือง ต้องใช้เวลา 3 ปี ทำไปศึกษาไปจนขยายตลาด เช่นเดียวกับหมูก็ใช้เวลา 3-4 ปีกว่าที่จะเข้าใจและปรับเปลี่ยนและสร้างเศรษฐกิจจากหมู รวมทั้งเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ ส่วนไม้ผลยืนต้น ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะออกดอกและมีผลผลิต และรู้การตลาด ส่วนไผ่ แม้จะทำมาหลายปี แต่ยังมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลยังไม่เข้าใจและยังต้องพยายามผลักดันต่อไป แต่เหล่านี้เป็นการปลุกและเลี้ยงเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดียว
หากถามว่าเกษตรกรไทยติดหล่มอะไรถึงไปไม่ถึงจุดหมาย ประพัฒน์ กล่าวว่า สภาเกษตรกร ก็ผลักดันแนวคิดใหม่ๆ ผลักดันการผลิตภาคการเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเชื่อว่าถ้ามาถูกทางพี่น้องจะเรียนรู้และปรับตัวทัน
“เกษตรกรไทยติดหล่มความคิดตัวเอง ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีปัญหาหนี้สิน สุขภาพ ครอบครัว ทำให้ไม่สามารถหลุดออกจากสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ เพราะปัญหาเฉพาะหน้ายังมีมาก”
นอกจากนี้มองว่ารัฐบาลต้องเป็นพี่เลี้ยง เช่น มีแหล่งเงินทุน และปรับการใช้จ่ายเงินภาครัฐ และธกส. ต้องปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ ที่เหมาะสมระยะยาวมากขึ้น ปีต่อปีน้อยลง และให้ความรู้ที่เป็นแก่นสารที่จำเป็นตรงเป้าไม่ใช่เอาสิ่งที่ไม่ใช้ประโยชน์ไปอบรมแบบเดิมๆ
สภาเกษตรกรแห่งชาติพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในทุกมิติ สร้างแนวทางในการช่วยปรับตัวให้เกษตรกรได้ ตอนนี้เป็นเพราะยังมีช่องว่าง พวกเขาเองยังมีความเชื่อมั่นในวิธีการเก่าๆ แต่สภาเกษตรกรยังมองว่าวิธีการเก่าที่ใช้กันตอนนี้โบราณคร่ำครึเกินไปไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ถ้าให้ประเมินเกษตรกรที่จะอยู่รอดในอาชีพนี้ เหลือน้อยมาก ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่ตอนนี้อาจมีแค่เรื่องข้าวบริโภคในประเทศที่ยังอยู่รอดเพราะยังไม่มีข้าวจากต่างประเทศเข้ามา ข้าวที่ชาวนาไทยผลิตในประเทศจะแข่งขันไม่ได้ นั่นจะหมายถึงหายนะ เพราต้นทุนเราสู้เขาไมได้ ทางเดียวกันคือต้องปรับเปลี่ยน ถ้าไม่รีบปรับเปลี่ยนจะหมายถึงการล่มสลายทั้งระบบ
“ไม่ปรับไม่เลิก ยกเว้นไม้ผล และประมง แต่พืชไร่สู้ไม่ได้ต้องปรับเปลี่ยน ต้องหนีคู่แข่งให้ทัน”
นายประพัฒน์ บอกว่า ถึงแม้จะเคยเป็นอดีต รมว.ทส.แต่ขอน้ำจากชลประทานมา 10 ปียังไม่สำเร็จ จากจุดนี้ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า อย่าเปลี่ยนธรรมชาติ แต่เปลี่ยนจากตัวเราเอง หาความรู้ที่จะเพิ่มการผลิต ทดลองจากเล็กไปหาใหญ่ เช่น เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำจาก 50 ตัวตอนนี้ผ่านไปจนตอนนี้จากแม่พันธุ์ 6 แม่ ตอนนี้มีเป็น 100 แม่
“การออกแบบทางเศรษฐกิจผสมผสานที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะลดรายจ่าย เช่นวางแผนการเงินรายวัน เช่น ขายไข่ไก่กี่แผง ขายหมู ลูกหมู พืชผลในฟาร์มได้เท่าไหร่ ผมมีพนักงานฟาร์ม 20 คน รายจ่ายเป็นแสนบาทแต่มีรายได้หมู ไก่มาใช้จ่ายเงินเดือน ส่วนเงินออมเก็บจากต้นสักไว้ในระยะยาว ”
ทั้งนี้ ประพัฒน์ แนะแนวทางสำหรับเพื่อนเกษตรกรว่า อยากให้รีบปรับตัว เพราะถ้าไม่ปรับตัวอนาคตเกษตรกรไทยจะไม่รอดแน่ๆ ต้องก้าวข้าม เท่าทันแล้วจะต้องออกจากห่วงโซ่นี้ให้ได้ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมายอมรับว่าเกษตรกรลำบากหนี้เยอะแต่ทำแล้วมีความสุข
ที่มา : ไทยพีบีเอส วันที่ 4 ก.ย. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.