สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายลงแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มเปิดดำเนินการได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้เป็นวิกฤติร่วมระดับโลก ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า วิกฤติซ้อนวิกฤติ หรือ วิกฤติหมักหมม เพราะก่อนเกิดโควิด-19 ภาพรวมเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับโลกก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤติและย่ำแย่อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นทางออกและแนวทางการฟื้นฟูอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน อาจต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และต้องแก้เชิงระบบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางมากที่สุด เกษตรกรส่วนใหญ่ “แบกหนี้ท่วมหัว” ตัวเลขหนี้เกษตรกร 4.5 ล้านครัวเรือนแบกหนี้ไว้กับสถาบันการเงินหลัก ธ.ก.ส. เฉลี่ย 3-4 แสนบาทต่อครัวเรือน ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติภาครัฐมักหยิบยก “มาตรการพักชำระหนี้” มาใช้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรจากผลกระทบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ “การพักหนี้ ยืดหนี้” จึงถือเป็นนโยบายคลาสสิคที่อาจต้องมีการทบทวนว่าเหมาะสมและเพียงพอกับวิกฤติที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะปัญหาหนี้สินของเกษตรกรก็ยังคงไม่ถูกแก้ และหนักหนาสาหัสมากขึ้น
ย้อนรอยมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร
ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ในเดือนกรกฎาคม 2561 รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกร 2 มาตรการ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขหนี้สินของเกษตรกรลูกค้า ธ.กส. 3.81 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 10 ล้านราย
โครงการที่ 1 ขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีหนี้เงินกู้คงเหลือกับ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 ก.ค. 2561 จำนวน 3.81 ล้านรายโดยขยายระยะเวลาชำระต้นเงินกู้หรือพักหนี้ 3 ปี ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2561 ถึง 31 ก.ค. 2564 โดยยังคงชำระดอกเบี้ยเงินกู้ตามกำหนดเดิม ยกเว้นในกรณีมีภาระหนักก็ให้ขยายเวลาชำระดอกเบี้ยหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นรายๆ ไป
โครงการที่ 2 โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรสำหรับต้นเงินกู้ 300,000 บาทแรก โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 3% ต่อปีเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 ส.ค.2561 ถึง 31 ก.ค.2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดต้นทุนประกอบอาชีพให้เกษตรกร โดยที่รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้แทนในอัตรา 2.5% และ ธ.ก.ส.ร่วมรับภาระแทนเกษตรกร 0.5% คิดเป็นวงเงินในการเข้าไปช่วยเหลือรวม 20,000 ล้านบาท
หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2563 ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระ (ดอกเบี้ยยังคงต้องชำระภายหลัง) ตั้งแต่งวดเมษายน 2563 - มีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี ให้กับเกษตรกรลูกค้าทุกกลุ่มโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤติโควิด - 19 และภัยแล้ง รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ โดยมีเกษตรกรลูกค้าได้รับประโยชน์กว่า 3.3 ล้านราย
พักหนี้เงินต้น แต่ดอกเบี้ยเดิน อาจไม่ช่วยลดภาระ
จะเห็นได้ว่าโครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาล เป็นเพียงการชะลอหรือช่วยยืดเวลาการชำระหนี้เงินต้น แต่ระหว่างที่หยุดพัก ทั้งก่อนและหลังเกิดวิกฤติโควิด – 19 มาตรการภาครัฐทั้งพักชำระหนี้เงินต้น(อย่างเดียว) และ มาตรการพักทั้งต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยก็จะยังมีอยู่ แต่ขยายเวลาออกไปเท่านั้น เท่ากับว่าการที่เกษตรกรขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่ได้ทำให้ดอกเบี้ยตรงนี้หายไป ดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ ทำให้ไม่ได้ช่วยลดภาระหนี้ของเกษตรกรให้น้อยลง และเกษตรกรยังคงต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้
มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้แสดงความเห็นต่อโพสต์มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อเยียวยาเกษตรกร ผ่านหน้าเฟซบุ๊กเพจของธ.ก.ส. ระบุว่า “ถ้าพักหนี้อย่างเดียว ก็เท่ากับว่าเกษตรกรก็คงยังเป็นหนี้ถาวร เหมือนเดิม และตลอดไป” “พักหนี้แล้วปล่อยกู้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปฟื้นฟูตัวเองระหว่างพักหนี้ด้วยจะดีมาก”
ข้อเท็จจริง "พักหนี้เกษตรกร" สุดท้ายอาจมีหนี้เพิ่ม?
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายเกี่ยวกับมาตรการที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ออกมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้เพื่อลดภาระในหลายรูปแบบทั้งพักชำระเงินต้น หรือ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติโควิด-19 การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย คือ ไม่ต้องจ่ายทั้งส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธนาคารในช่วงที่ผ่อนปรน ตัวอย่างเช่น เดิมเกษตรกรต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยงวดละ 10,000 บาท ก็ไม่ต้องจ่ายธนาคารเลย เพราะสถาบันการเงินผ่อนปรนให้ โดยไม่ถือเป็นการ “ผิดนัดชำระหนี้” ซึ่งเกษตรกรก็จะไม่เสียประวัติ แต่ดอกเบี้ยเดือนละ 6,000 บาท ที่ไม่ได้จ่ายตลอด 12 เดือนที่พักชำระ ยังคงเดินอยู่ และไปเพิ่มยอดหนี้เข้าไปอีก เช่น เงินต้น 1,000,000 บาท บวกดอกเบี้ยรวม 72,000 บาท เท่ากับมีหนี้เพิ่ม 1,072,000 บาท
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ ในช่วงพักชำระหนี้เกษตรกรบางส่วนอาจเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าตนเองไม่มีภาระหนี้สิน ไม่ได้เก็บออม หรือนำเงินจากการพักชำระหนี้ไปลงทุนในกิจการใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เมื่อถึงเวลาชำระหนี้แล้วอาจไม่มีเงินมาชำระทั้งหนี้ก้อนเก่าและหนี้(ดอกเบี้ย)ที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เกิดขึ้น และไม่ใช่ทางออกของปัญหาหนี้สินเกษตรกร เพราะสถานการณ์ปกติเกษตรกรบางรายก็สามารถชำระได้เพียงดอกเบี้ยอยู่แล้ว ควรมีแนวทางอื่นร่วมด้วย เช่น การหนุนเสริมศักยภาพการปรับตัวของเกษตรกรด้านการผลิต การพัฒนาช่องทางตลาด การสร้างโอกาสการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ในวิถีใหม่ เป็นต้น
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 14 ส.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.