ที่มาภาพ : เพจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน แก้วกล้า
รถยนต์ของผู้มาเยือนเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ บนถนนลูกรังสายเล็ก ๆ ที่ตัดผ่ากลางไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลังกว้างสุดตา จนมาถึงจุดหมายปลายทาง “วิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า” ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีวิมล ฝั่งทะเล ประธานกลุ่ม รอต้อนรับพร้อมกับสมาชิก
วิมลเล่าให้ฟังว่า เดิมทีตนเองเป็นชาวนาเช่า อยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา พอขายข้าวได้แต่ละครั้ง ก็ต้องจ่ายค่าเช่านา ใช้หนี้เงินกู้ ค่าปุ๋ย ค่ายา จนแทบไม่มีเงินเหลือ อีกทั้งสุขภาพก็แย่ลงจากสารพิษ แถมต่อมาที่นาเช่าก็ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วน ในระหว่างนั้นวิมลพร้อมกับพี่น้องชาวนาจากอยุธยาก็ถูกชักชวนให้มาบุกเบิกที่ดินทิ้งร้างในจ.เพชรบุรี เพื่อปลูกกล้วยหอมทอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 8 เดือน ก็ยังไม่ได้รับค่าแรง ทั้งกลุ่มจึงขอถอนตัวออกมาจากผู้ชักชวน กลายเป็นความขัดแย้งที่มาพร้อมกับการถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน
ต่อสู้คดีเกือบ 2 ปี จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาบุกรุก วิมลจึงได้ประสานไปยังหลายภาคส่วนเพื่อขอเช่าที่ดินจากเจ้าของ จากนั้นก็ได้รวบรวมสมาชิกเกษตรกรที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ซึ่งเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินและพร้อมจะเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ มาจดทะเบียนตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า แล้วลงมือทำการพลิกฟื้นและพัฒนาที่ดินผืนนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบ
ผ่านไปเพียง 1 ปี พี่น้องสมาชิกกลุ่มแก้วกล้าจำนวน 28 ครอบครัว ก็รวบรวมเงินจากน้ำพักน้ำแรงตนเอง นำมาซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มได้ในราคา 600,000 บาท เพื่อปลูกผักอินทรีย์รวมกว่า 40 ชนิด เลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ ปลา และแพะ มีผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีส่งต่อให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ชัดเจน
สมาชิกกลุ่มแก้วกล้าเล่าต่อว่า ทุกคนทำเกษตรอินทรีย์ก็เพื่อสานต่อความรู้จากศาสตร์พระราชาที่มีอยู่มากมาย เพื่อปลูกผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยกับสุขภาพของผู้คน จากดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อมที่ไร้สารพิษ “แม้จะถูกล้อมรอบด้วยไร่อ้อย ไร่มัน ที่ใช้สารเคมี แต่เราก็จัดการได้ด้วยการลงทุนขุดคูล้อมรอบทุกด้าน แล้วปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชน รวมถึงขุดสระเป็นแหล่งน้ำใช้ของตัวเอง และมีกฎเหล็กข้อสำคัญก็คือ ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดในแปลงอย่างเด็ดขาด”
ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม “The Basket” โดยโครงการชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ก็ได้เข้ามาหนุนเสริมความรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมให้กับกลุ่มฯ รวมถึงช่วยทำการตลาดในรูปแบบของ “ระบบสมาชิก” ที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อผักล่วงหน้าให้เป็นรายเดือน โดยกลุ่ม The Basket จะรับผลผลิตอินทรีย์ของกลุ่มแก้วกล้า จัดส่งถึงหน้าประตูให้ผู้บริโภคที่สมัครเป็นสมาชิกตามบ้านหรือร้านค้าต่าง ๆ ตามชนิดและจำนวนที่สั่งไว้ สัปดาห์ละ 1 วัน โดยสมาชิกจะได้รับผัก ผลไม้ ที่สด ปลอดภัย หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ในราคาที่ย่อมเยาและสะดวกสบายขึ้น
ซึ่งการตลาดแบบนี้เป็นเหมือนสัญญาใจกันระหว่างคนปลูกกับคนกิน ที่ยืนยันว่าต้องซื้อแน่นอนเพราะได้ลงทุนจ่ายเงินล่วงหน้าให้มาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีความซื่อสัตย์เป็นอย่างยิ่ง โดยทางกลุ่มฯ ได้ใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ "ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม" (Participatory Guarantee System) "PGS” หรือ “ระบบชุมชนรับรอง” มาเป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพผลผลิต ที่เกื้อหนุนกันให้เกิดสังคมเกษตรอินทรีย์ เพราะเมื่อผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกร ก็ถือว่ามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแหล่งเพาะปลูกไปด้วยนั่นเอง ซึ่งสมาชิกกลุ่มฯ บอกด้วยความภูมิใจว่า “พวกเราดูแลผู้บริโภคเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์มา 3 ปีแล้วนะ...”
เมื่อปี 2561 กลุ่มแก้วกล้าได้เสนอเรื่องไปยังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) เพื่อขอสนับสนุนที่ดินทำกินให้กับสมาชิกเพิ่มเติม แม้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่ในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติวงเงินซื้อที่ดินแปลงใหญ่เพิ่มอีก 92 ไร่ ในวงเงินกว่า 13,200,000 บาท รวมถึงมีงบประมาณในการสร้างบ้านและระบบสาธารณูปโภคเพื่อการเกษตร โดยพร้อมจัดสรรได้ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งทางกลุ่มได้ทำสัญญาผูกพันกับธนาคารที่ดินไว้ 30 ปี โดย 2 ปีแรก เสนอเป็นการเช่าที่ดินในอัตราไร่ละ 300 บาท เพราะเป็นระยะของการพัฒนาและปรับพื้นที่ และในปีที่ 3 ซึ่งสามารถเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อ โดยจะแยกโฉนดให้สมาชิกแต่ละรายผ่อนชำระกันเอง
นั่นหมายถึงสมาชิกจะมีสถานะใหม่เพิ่มขึ้น คือเป็น “ลูกหนี้” ของกลุ่มฯ หนี้เพื่อให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พร้อมกับเงื่อนไขสำคัญ คือ การจัดระบบและสร้างวินัยใหม่ให้ชีวิต ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว สุขภาพ และการเงิน เพื่อไม่ให้วงจรของหนี้สินและการสูญเสียที่ดินทำกินต้องกลับมาอีก
วิมลเล่าประสบการณ์การจัดการหนี้ของตนเองว่า “ในอดีตก็มีหนี้เป็นหลักแสนเหมือนกัน ส่งดอกเบี้ยมานานแต่เงินต้นก็ไม่ลด จึงตัดสินใจหันหน้าเข้าเจรจาขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ แล้วกลับมาวางแผนชีวิตใหม่เพื่อบริหารจัดการหนี้สิน จนชำระได้หมดในเวลาไม่นาน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์”
พี่น้องสมาชิกกลุ่มแก้วกล้าบอกว่า พวกเขาไม่เคยลืมวันที่ลำบากมาด้วยกัน ตอนที่ถูกขับไล่ ตอนเป็นหนี้สิน ซึ่งขณะนั้นทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีความเข้าใจร่วมกันว่าเราต้องเดินหน้าทำให้สำเร็จ ถือว่าปัญหาระหว่างทางคือ “เรื่องเล็ก” ตราบใดที่ยังไปไม่ถึงจุดหมายก็อย่าล้มเลิก ที่สำคัญคือเมื่อเริ่มต้นทำอะไรแล้ว จะต้องสานต่อให้จบ... คือสิ่งที่พวกเขาบอกตัวเองเสมอมา และขอบอกต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ...”
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 ก.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.