ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมและวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การสาธารณสุข ฯลฯ แต่ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่คือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจฐานราก วิกฤติภาคแรงงาน ตัวเลขจากสภาพัฒน์ประเมินว่ามีแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างและตกงานจากภาวะโควิด-19 ประมาณ 8.4 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันและสวัสดิการรองรับ การถูกเลิกจ้างงานของแรงงานส่วนใหญ่ที่มาจากชนบท ไม่เพียงไม่มีรายได้มาเลี้ยงชีพของตนเอง แต่ยังหมายถึงไม่มีรายได้ส่งกลับไปจุนเจือและดูแลครอบครัวในชนบท
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน จึงเห็นภาพแรงงานในเมืองจำนวนมากต่างมุ่งหน้าเดินทางกลับบ้านที่ชนบท ส่งผลให้การจราจรขาออกเกิดความหนาแน่นและติดขัด การแย่งชิงกันเดินทางกลับบ้านนอกเป็นสาระสำคัญว่า บ้านนอกหรือชนบทยังสามารถเป็นที่พักพิงที่ดีที่สุดในภาวะปัญหาอันหนักหน่วงเช่นนี้หรือไม่
ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ไขเยียวยาปัญหาให้กับประชาชนหลายๆ ช่องทาง โครงการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ และโครงการ “เยียวยาเกษตรกร” ซึ่งหากมองรอบด้านก็เป็นทั้งดาบสองคมในฝักเดียวกัน คนที่ได้รับสิทธิอาจเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ยากอะไรเลย เพียงแค่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี จึงทำให้ได้รับสิทธิในการเยียวยา ส่วนคนจนที่ตกขอบของสวัสดิการแห่งรัฐก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ แต่ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ออกมาช่วยเยียวยา ก็คงจะเป็นกิจกรรมระยะสั้นที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว และไม่เคยได้สร้างฐานอาหารของครอบครัวเอาไว้ เงินช่วยเหลือจะเป็นแค่เพียงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินอยู่เท่านั้นเองที่ใช้แล้วก็หมดไป
การเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้เราค้น่พบว่าการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร การเมือง หรือการดำเนินธุรกิจ มาเป็นแนวทางหลักที่สามารถทำให้เราฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง จะเห็นได้จากภาวะการไหลตัวออกจากเมืองเพื่อไปสู่ชนบท ที่เป็นแหล่งพึ่งพิงทางอาหาร สายใยความผูกพัน ทรัพยากร และความปลอดภัย ความมั่นคงดูจากฐานทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านนอกและชนบทนั้นมีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอนให้เราไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง พึ่งพาตนเองได้ในด้านอาหาร ทรัพยากร ยา พลังงาน รายได้ที่มีความมั่นคง มุ่งสอนคนไม่ฟุ้งเฟ้อเมื่อเกิดวิกฤติไม่มีเงินแต่ยังมีอาหารก็สามารถอยู่ได้ โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรม เกษตรกรที่น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ส่วนมากจะมีความสุขเพราะไม่ค่อยเกิดผลกระทบมากนัก หากเทียบกับผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มที่ทำการเกษตรและธุรกิจเชิงเดี่ยว ตื่นเช้าขึ้นมา หุงข้าว หาพืชผักที่อยู่ตามริมรั้ว เข้าป่าหาเห็ด เมื่อได้มาก็นำมาเป็นอาหารและขาย ใช้พลังงานจากต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่อยู่ในสวน ปลูกผักที่ปลอดภัยหมุนเวียน มีอากาศที่ปลอดโปร่ง และพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยี ในระบบการขายออนไลน์ แปรรูปพืชผัก ผลไม้ที่มีเหลือล้นเป็นรายได้และสามารถนำไปแบ่งปันให้กับคนที่อยู่ในเมืองได้
ซึ่งจะเห็นข่าวจากทางโทรทัศน์ วิทยุ ที่เครือข่ายบนดอยสูง(ชนเผ่า)หลายพื้นที่ได้รวบรวมเอาข้าวมาปันให้กับประชาชนที่เดือดร้อนในตัวเมือง หรือเครือข่ายประมงภาคใต้นำเอาปลาทะเลตากแห้งนำมาส่งให้กับคนที่เดือดร้อนในเมือง ฯลฯ มันเป็นความสุขของคนบ้านนอก ที่มีฐานอาหาร ทรัพยากร พลังงาน ยารักษาโรค เศรษฐกิจเพียงพอที่จะแบ่งปัน ให้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากสามารถต่อสู้ปัญหาในชีวิตได้
เมื่อผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19 แล้ว โจทย์การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ควรจะมีระบบเศรษฐกิจสองระบบควบคู่กัน แม้เรามีรายได้น้อยลง แต่มีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าโจทย์ชีวิตของเราให้น้ำหนักเรื่องรายได้หรือความมั่นคงในชีวิตมากกว่ากัน อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต โดยสามารถที่จะทำไปพร้อม ๆ กันในหนึ่งครอบครัว นั่นคือการทำตามแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในการเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต และทำควบคู่ไปกับระบบธุรกิจ จึงจะทำให้เกษตรกรและประชาชนอยู่ได้อย่างแท้จริง มิใช่จะมุ่งหวังให้เป็นทุนนิยมหรือเสรีนิยมเพียงอย่างเดียว
ความสุขที่บ้านนอก ถึงจะเจอกับภาวะวิกฤติ หรือไม่เจอภาวะวิกฤติอื่นใด สังคมในชนบทไทยก็มีความสุขเสมอ เพราะมีพื้นฐานจากการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีสังคมที่ดี อาหารดี สุขภาพดี ทรัพยากรดี อากาศดี ชีวิตแค่นี้ก็มีความสุขอย่างล้นเหลือ
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มิ.ย. 2563
ผู้เขียน : ณัฎฐวี สายสวัสดิ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.