ที่มาภาพ : สุมาลี พะสิม
สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดหนักในประเทศจีน และกระจายการแพร่ระบาดหนักไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติการณ์ร่วมของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนอย่างหนักหนาสาหัส ทั้งภาคแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว และหนึ่งในนั้นคือภาคเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน
ปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องพบเจอในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลการสำรวจระดับพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ และรายได้ที่ลดลง จากเดิมที่เกษตรกรเคยขายผลผลิตได้ในตลาดปกติ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตลาดทั้งในประเทศและส่งออกถูกปิดตัว พ่อค้าคนกลางหายไป ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำลง อีกทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตจากเกษตรกรไปยังผู้บริโภคทางไกลเกิดความติดขัดและล่าช้าลงไป เนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ตอนกลางคืน ส่งผลให้ผู้มารับผลผลิตไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางไกลลดลง เดิมเกษตรกรบางรายมีบริการขนส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคทางไกลด้วยตนเองก็ต้องหยุดการขนส่ง เนื่องจากต้องปฏิบัติตามภาครัฐที่ขอให้ประชาชนงดการเดิมทางข้ามจังหวัด และตัวเกษตรกรก็ห่วงและกังวลในเรื่องโอกาสที่อาจจะติดเชื้อโควิด-19 หากต้องเดินทางขนส่งผลผลิตให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อผลผลิตที่ออกมาขายไม่ได้ ไม่มีผู้รับซื้อ ผลผลิตจึงเกิดการเน่าเสียหาย
นอกจากปัญหาด้านการตลาด ราคา และรายได้ที่ลดลงของเกษตรกรแล้ว เกษตรกรยังต้องเจอกับผลกระทบต่อปัญหาหนี้สิน เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรลดลง เกษตรกรที่มีหนี้สิน มีงวดผ่อนชำระรายเดือนและรายปี จึงจำเป็นที่จะต้องยื่นขอพักชำระหนี้ จากสถาบันการเงินต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบหลายด้าน แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือรอรับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เกษตรกรบางส่วนได้ดำเนินความพยายามหาของออกและปรับตัวต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นว่าช่องทางการตลาดลดลง เกษตรกรได้ปรับลดปริมาณการผลิตลง ให้สอดคล้องกับข้อจำกัดทางการตลาดที่เปลี่ยนไป และการบริโภคภายในครัวเรือนของตนเอง ลดขนาดพื้นที่ปลูก ลดการลงทุน เกษตรกรพยายามลดต้นทุนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด และให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบตลาดออนไลน์ และการขนส่งผลผลิตผ่านช่องทางการบริการขนส่งต่างๆ ที่มี ทั้งของภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ในส่วนความเห็นและข้อเสนอแนะที่เกษตรกรมีต่อความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการเยียวยาของภาครัฐในการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างล่าช้า ควรมีการจัดการช่วยเหลือเชียวยาต่อเกษตรกรที่รวดเร็วต่อสถานการณ์ การให้เงินช่วยเหลือเยียวยาต่อเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท ไม่เพียงพอกับความเดือดร้อนของเกษตรกรที่มีอยู่มาก เกษตรกรหนึ่งครัวเรือนมีไม่ต่ำกว่า 3 คน และควรช่วยเหลือเรื่องหนี้สินด้วยการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี เกษตรกรจึงจะสามารถบริหารจัดการหนี้สินที่มีได้
รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะปกติ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาผลผลิต ข้อตกลงและนโยบายเดิมยังไม่มีกรอบเวลาช่วยเหลือที่ชัดเจน นอกจากนี้ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนให้ผลผลิตของเกษตรกรเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น มีเงินทุนสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรจากระบบเคมีสู่อินทรีย์
ประเทศไทยควรใช้วิกฤตโควิด-19 นี้ให้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร เพราะทิศทางการพัฒนาการเกษตรที่พึ่งพาตลาดส่งออกไม่ใช่คำตอบสู่ความยั่งยืน ควรมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรในการดำรงชีวิตบนฐานทรัพยากรที่หลากหลาย ให้มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับและปรับตัวต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงได้ทุกรูปแบบ การส่งเสริมสู่ Smart Farmer ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำภาคเกษตร สนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรให้เข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรการเกษตรเพื่อลดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อม
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่จากวิกฤตก็ถูกใช้เป็นโอกาสได้เกษตรกรหันกลับมาทบทวนตนเอง ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง โดยไม่รอความช่วยเหลือหรือเยียวยา ซึ่งหากทางภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านแนวทางหรือข้อปฏิบัติการปรับตัวหลังจากนี้ จะทำให้เกษตรกรมีแนวทางเลือกการพึ่งพาตนเองได้หลากหลาย เพื่อตั้งรับ และปรับตัวต่อปัญหาและวิกฤติการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น
ไทยโพสต์ วันที่ 26 พ.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.