สถานการณ์ปัญหาของเกษตรกรในภาวะที่โรคโควิด-19 กำลังระบาด ทำให้มีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากขาดรายได้ ตลาดนัดในพื้นที่ปิดทั้งหมด ขายของไม่ได้ ในรายที่เปิดร้านขายที่บ้าน รายได้ลดลงมากกว่าครึ่งไม่มีลูกค้าเหมือนเก่า
บทความนี้จึงขอนำประสบการณ์ความรู้จากงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “พฤติกรรมการเงินกับการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมาให้กับกลุ่มเกษตรกรและชาวนาจากจังหวัดสระบุรี ชัยนาท และปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการทำงานของมูลนิธิชีวิตไท โดยทีมนักวิชาการ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร. ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณสฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ผลจากการอบรมในครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมมีเครื่องมือการจัดสรรงบดุลมาเป็นแนวทางสำหรับแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งนี้เส้นทางการเป็นหนี้ของเกษตรกร เกิดจากการจัดการรายได้ที่ไม่สมดุลกับรายจ่าย ไม่มีแผนการชำระหนี้ที่แน่นอน ขาดความรู้หรือเครื่องมือในด้านการบริหารการเงินที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ดังนั้นเนื้อหาการอบรมจึงประกอบด้วย แนวคิดการจัดสรรรายจ่าย แนวคิดเกี่ยวกับการเป็นหนี้ การวางเป้าหมายด้านการเงิน เครื่องมือแก้ปัญหาการเงิน และการวางแผนปฏิบัติการทางการเงินบันไดสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นหนี้
สถานการณ์กระแสเงินสด(Cash Flow)ในพื้นที่ดำเนินงาน เกษตรกรมีฐานรายได้มาจากการทำนา ทำเกษตรผสมผสาน ลูกหลานส่งให้ เงินสวัสดิการจากรัฐ ในด้านรายจ่ายนอกจากการลงทุนภาคการเกษตรแล้ว มีค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซต์ ค่าโทรศัพท์ ค่าเทอมบุตรหลาน เมื่อรวมๆกันแล้วถือเป็นเงินไหลออกประจำที่ค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือมีรายจ่ายทุกเดือนขณะที่มีรายรับบางเดือนเท่านั้น ส่งผลให้ไม่สามารถนำเงินไปชำระหนี้ได้ และหากเราต้องการมีสภาพคล่องทางการเงินหรือไม่ฝืดเคืองในช่วงวิกฤติ อาจต้องปรับวิธีคิดและแนวทางบริหารการเงินใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีของแต่ละคน
โดยเริ่มจากปรับแนวคิดการจัดสรรรายจ่าย ควรมีเป้าหมายสำคัญว่าต้องเก็บออมด้วย ซึ่งเกษตรกรอาจตั้งเป้าออมร้อยละ5ของรายได้ทั้งหมด รวมทั้งการวางเป้าสำหรับการชำระหนี้ว่าจะหมดหนี้ภายในกี่ปี่
แนวคิดการกู้เงินหรือเป็นหนี้นั้น ต้องเป็นหนี้ที่เกิดประโยชน์คือสร้างรายได้มิใช่กู้มาใช้จ่ายในครัวเรือนหรือชำระหนี้เดิม เนื่องจากไม่เกิดรายได้และยังมีดอกเบี้ยสูงขึ้นโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ และในกรณีกู้มาลงทุนควรวิเคราะห์ความเสี่ยงให้รอบด้านมากที่สุด รวมทั้งควรวางแผนด้านตลาดควบคู่ไปด้วย
เครื่องมือแก้ปัญหาด้านการเงินเพื่อชำระหนี้
· ทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้ที่มาของรายรับ รายจ่าย และจำแนกที่มาของรายได้ เช่น รายได้ที่ไม่ต้องลงทุน (เงินสวัสดิการจากรัฐ เงิน อสม.)และรายได้ที่ต้องลงทุนประกอบอาชีพ แม้บัญชีรับ-จ่ายอาจเป็นยาขมที่หลายคนทำไม่สำเร็จ แต่จากประสบการณ์ของผู้เข้าอบรมบางท่านซึ่งได้ทดลองทำบันทึกค่าใช้จ่ายก่อนเข้าร่วมกิจกรรม 2 สัปดาห์ พบว่า มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ อีกทั้งรายจ่ายที่เกิดขึ้นก็เป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น หรือ บางท่านเลือกบันทึกรายเฉพาะจ่ายสำหรับการลงทุนก่อน การและลงมือทำบันทึก ทำให้ค้นพบปัญหาที่เงินไหลออกและสามารถอุดรูรั่วได้
· ควรมีการวางแผนคาดการณ์ รายจ่ายที่จำเป็น(อาหาร น้ำ ไฟ) รายจ่ายฉุกเฉิน(อุบัติเหตุ) รายจ่ายประจำ(ท่าเทอมบุตรหลาน) รายจ่ายฟุ่มเฟือย
· หากมีหนี้ควรวางเป้าในการชำระหนี้ด้วย ควรตั้งเป้าระยะเวลาการชำระหนี้ให้แน่นอน การคำนวณรายได้เพื่อปลดหนี้ โดยดูจากรายได้สุทธิต่อปี(หักต้นทุนออก)คือมากกว่า 25% ของหนี้เดิม
· เกษตรกรควรรู้ว่าตนเองมีทรัพย์สินอะไรบ้าง อะไรคือทรัพย์สินสภาพคล่องที่แปลงเป็นรายได้มารองรับในช่วงต้องใช้เงินกะทันหัน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมบ้าน
วางแผนปฏิบัติการทางการเงินบันไดสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นหนี้
· แผนลดรายจ่ายทั้งในครัวเรือนและภาคเกษตร
· วางแผนรายได้จากการผลิตให้มีรายได้ต่อเนื่องนอกจากการทำนาเพียงอย่างเดียว
· แผนการออม ควรออมร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งหมด เนื่องจากการออมจะสัมพันธ์กับหนี้สิน
ข้อเสนอรูปธรรมแก้ปัญหาการจัดสรรรายได้สำหรับชาวนา กรณีที่รายรับมีเข้ามาบางเดือนแต่มีรายจ่ายทุกเดือน คือ อาจแบ่งรายได้จากการทำนาปี ไว้สำหรับชำระหนี้ และรายได้จากนาปรัง สำรองไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน รายได้จากเกษตรผสมผสานจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน แต่ควรให้มีรายได้รายวันมากพอจะเหลือเป็นกำไรและรบกวนเงินสำรองให้น้อยที่สุด
วิธีรับมือในระยะยาว แบ่งที่นามาทำเกษตรอินทรีย์(ลดต้นทุน)ในช่วงแรกที่ปรับเปลี่ยนอาจมีรายได้ลดลงแต่เมื่อทำต่อเนื่องไป 2-3 ปีสภาพดินสมบูรณ์ขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น ขายผลผลิตในราคาอินทรีย์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะแบ่งไปชำระหนี้ได้
ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการจัดสรรรายได้ รายจ่าย และทรัพย์สินที่มีให้เกิดความสมดุลตั้งแต่ต้นเป็นเครื่องมือสำคัญให้ทุกคนผ่านพ้นปัญหาในยามวิกฤติไปได้ไม่ยากลำบากนัก
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 10 เม.ย. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.