สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนี้ เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของประชากรทั่วโลก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกรูปแบบ ถึงแม้เราจะพยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่จากอดีตและปัจจุบัน มาสร้างโมเดลเพื่อพยากรณ์อนาคต ก็อาจจะไม่สามารถทำนายอนาคตอันใกล้นี้ได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์มาก่อน ทำให้ผมคิดว่า เราคงมาถึงจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ของทั้งองค์กร สังคม และกลุ่มธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรองรับภาวะแปรปรวน (disturbance) ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านเจอเรื่อง resilience thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่น จากหนังสือ Team of Teams โดย McChrystal ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการการรบในอิรักและอัฟกานิสถาน ในหนังสือได้พูดถึงเกี่ยวกับแนวคิด 2 รูปแบบ คือ
1) แนวคิดองค์กรที่เน้นประสิทธิภาพ (efficiency) ที่เน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพโดยการพยากรณ์และคาดการจากข้อมูล
และ 2) แนวคิดองค์กรที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น (adaptability and resilience) ที่เน้นใช้ทุกสิ่งที่หามาได้ในการรับมือต่อสู้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ซึ่งนายพล McChrystal ยอมรับว่า แนวคิดที่เน้นแต่ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดหลักเดิมที่ใช้อยู่ในหน่วยงานทหาร อาจทำให้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ทัน แต่แนวคิดที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกว่ากับสถานการณ์ที่ต้องสู้รบในอิรักและอัฟกานิสถาน ที่ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ไหน และไม่สามารถคาดเดาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้
พอยิ่งค้นคว้ามากขึ้น ผมก็พบว่าวิธีคิดแบบ resilience thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่นนี้ ยังอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดเชิงระบบ (systems thinking) ซึ่งมีผลมาจากการเชื่อมองค์ประกอบต่างๆ ของระบบที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน มีความยืดหยุ่นที่จะรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และถ้าเจอภาวะแปรปรวนก็ยังสามารถทำงานหลักๆ ของระบบต่อไปได้
แนวคิดนี้มีที่มาจาก ความยั่งยืนของระบบนิเวศวิทยาสังคม (social-ecological) ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วงต้นยุคปี 1980 เมื่อประเทศออสเตรเลียฝั่งตะวันออกเฉียงใต้เจอกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุด เกษตรกรล้มละลายกันเป็นแถว ถึงแม้ส่วนใหญ่จะดูแลกิจการโดยใช้วิธีการจัดการไร่อย่างดีที่สุดแต่ก็ยังไม่สามารถต้านภัยแล้งได้ ต่อมาเกษตรกรกลุ่มหนึ่งได้ทดลองเปลี่ยนวิธีจัดการไร่แบบเดิมๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการเล็มหญ้า ลดการไถดิน ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพรรณพืชในป่าและคืนความชุ่มชื่นเพื่อเพิ่มความทนทานจากผลกระทบของภัยแล้งได้ หลังจากนั้นในอีก 20 ปี ต่อมาก็เกิดภัยแล้งขึ้นอีก เกษตรกรที่มีการปรับตัวกลุ่มนี้ ก็ไม่ประสบกับผลกระทบจากภัยแล้ง
เรามาดู 7 หลักการสำคัญของแนวคิดแบบยืดหยุ่น ที่ทาง Stockholm Resilience Centre ของมหาวิทยาลัย Stockholm แนะนำไว้ ดังนี้
1. Maintain Diversity and Redundancy การคงความหลากหลายและการสำรององค์ประกอบต่างๆ ของระบบ เพื่อช่วยสร้างทางเลือกที่จะตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด
2. Manage Connectivity การจัดการการเชื่อมต่อของเครือข่ายที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแบ่งระบบงานที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนออกเป็นส่วนย่อยๆ (modularity) ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจแต่ละส่วนได้ง่ายและไม่เกิดผลกระทบในวงกว้าง
3. Manage Slow Variables and Feedback การจัดการตัวแปรที่แสดงผลช้าและการป้อนกลับ ยกตัวอย่าง คุณภาพของน้ำขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของธาตุฟอสฟอรัสในตะกอน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยที่ปนเปื้อนลงในทะเลสาบ โดยสองสิ่งนี้เป็นตัวแปรที่แสดงผลช้า จึงส่งผลต่อตัวป้อนกลับทั้งทางลบและบวกของคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับตัวแปรที่แสดงผลช้า ที่จะทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าตามไปด้วย
4. Foster Complex Adaptive Systems Thinking การสนับสนุนแนวคิดเชิงระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ ช่วยให้เข้าใจว่าปัญหาที่เรามองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ซับซ้อนกับส่วนต่างๆ ทั้งด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผลกระทบขององค์ประกอบหนึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ในระบบได้ เช่น ประเทศจีนปิดประเทศส่งผลกระทบต่อระบบ supply chain การซื้อขายทั่วโลก หรืออุณหภูมิของน้ำในทะเลที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการฟอกสีของประการัง
5. Encourage Continuous Learning สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อมต้องมีการเรียนรู้และทดลองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสถานการณ์
6. Broaden Participation การขยายความร่วมมือเพื่อให้เกิดความรู้ที่หลากหลายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความชอบธรรมในการตัดสินใจตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเหมาะสม
7. Promote Polycentric Governance Systems การสนับสนุนระบบที่มีการปกครองแบบหลายศูนย์กลาง ช่วยประสานและควบคุมนโยบายให้เกิดความครอบคลุมในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าการประสานทำได้ดีก็ช่วยเพิ่มความสามารถรับมือกับสถานการณ์ในยามคับขัน
จริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ บทความหน้าเราจะมาดูกันว่าแนวคิดนี้จะสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับองค์กรเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นฟื้นฟูได้อย่างไร หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
References:
https://whatisresilience.org/wp-content/uploads/2016/04/Applying_resilience_thinking.pdf
Walker, B.H. and D. Salt. 2006. Resilience Thinking: Sustaining Ecosystems and People in a Changing World. Island Press.
ที่มา : Thaipublica วันที่ 18 เม.ย. 2563
ผู้เขียน : จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.