ทุกวันนี้มีผู้คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บจากพฤติกรรมการกินอยู่ เนื่องจากอาหารและสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารพิษมากขึ้นทุกวัน ปัญหาในเมืองทั้งมลภาวะทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แม้แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีข้อสันนิษฐานว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ ปัญหาในชนบทที่ห่างไกลก็มีสารพิษในแปลงเกษตร ผืนดิน แหล่งน้ำ ฝุ่นควันจากการเผา ดังนั้นปัญหาสุขภาพของเรากับระบบเกษตร การผลิตอาหาร และสิ่งแวดล้อมนั้นไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้
จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคในปัจจุบันมีความตื่นตัว ใส่ใจ และห่วงใยสุขภาพกันมากขึ้น ผู้บริโภคทุกวันนี้ให้ความสำคัญต่อการเลือกสรรอาหารที่ดี มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มั่นใจว่าปลอดภัยจากสารเคมี แต่ปัญหาคือปริมาณผลผลิตอาหารอินทรีย์ อาหารปลอดสารเคมีที่เข้าสู่ตลาดยังมีอยู่น้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคที่ต้นทางการผลิต เกษตรกรผู้ผลิตอินทรีย์ยังมีอยู่น้อย มีปัญหาภาวะหนี้สินรุมเร้า จึงปรับตัวได้ยาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีวิกฤติหนี้สินยิ่งปรับตัวได้ยากกว่าหลายเท่า เนื่องด้วยต้องฝ่าฟันโครงสร้างการผลิตและการตลาดที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยยาวนาน นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกระแสความนิยมบริโภคอาหารปลอดภัยที่เติบโตขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของพื้นที่ผลิตอินทรีย์น้อย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตรกรเป็นเรื่องยาก แต่ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเอง ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการพึ่งพาสารเคมี สู่แนวทางการผลิตแบบอินทรีย์ เพื่อพึ่งพาตนเอง สร้างความยั่งยืนต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องการถ่ายทอดบทเรียนและความสำเร็จของเกษตรกรเหล่านี้เพื่อเผยแพร่และขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่น รวมถึงสร้างความเข้าใจสู่ผู้บริโภค
เกษตรอินทรีย์เริ่มต้นจากการปรับด้านในของเกษตรกรก่อน
พบว่าเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์เกือบทั้งหมด เกิดจากการปรับด้านในก่อน โดยเฉพาะการจัดการวิธีคิดของเกษตรกร เกษตรกรต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาของตัวเองอย่างจริงจัง เช่น การปรับความคิดหรือการกำหนดเป้าหมายเพื่อต้องการหลุดจากวงจรหนี้สิน จะนำไปสู่ความสำเร็จของการปรับพฤติกรรมและรูปแบบการผลิตเป็นลำดับต่อมา มีแนวคิดสำคัญคือการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นคนที่ใฝ่รู้ มีความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายในการทำการเกษตรของตนเอง จนสามารถยกระดับความสามารถทางการผลิตของตนเองได้ ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา มีความขยัน ประหยัด อดทน และกล้าเผชิญต่อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการแปลงเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นจากการจัดการต้นทุนของเกษตรกรที่มีก่อน การจัดการทุนหรือการเงิน ใช้ให้น้อยแต่ได้ประโยชน์สูงสุด การจัดการแรงงานในครัวเรือน โดยการทำในพื้นที่จำนวนไม่มาก เน้นการใช้แรงงานในครอบครัว ที่สามารถจัดการเองได้ ปัจจัยการผลิตขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาจากพื้นที่ และปัจจัยแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ เช่น ความถนัดของเกษตรกร ระยะเวลาการเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด ความต้องการของตลาด และที่สำคัญ คือ ไม่มีการจ้างแรงงาน โดยจะเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ไม่มีการใช้สารเคมี และมีการจดบันทึกการทำฟาร์ม และบัญชีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครัวเรือน
แรงสนับสนุนจากการรวมกลุ่มและขายร่วมกัน
แรงสนับสนุนจากการรวมกลุ่มและขายแบบรวมกลุ่มกัน คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นที่ยังขาดประสบการณ์ความรู้ทางการผลิต และขาดช่องทางตลาด เริ่มแรกจะมีการตั้งตัวแทนขายของกลุ่ม เพื่อทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กลุ่ม ตัวแทนการตลาดของกลุ่มจะมีหน้าที่ติดต่อหาออเดอร์และตลาด สำรวจความต้องการของตลาดและสำรวจชนิดของผลผลิตที่เกษตรกรมีอยู่ กลุ่มจะมีหน้าที่ในการกระจายสินค้า โดยรายได้และกำไรจะแบ่งกัน เช่น บางกลุ่มจะมีการจัดสรรรายได้ของเกษตรกรร้อยละ 90 และร้อยละ 10 จะหักรายได้เข้ากลุ่มเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการตลาดและหากมีเงินเหลือจะนำเข้าเป็นกองทุนกลุ่ม เช่น กองทุนสวัสดิการสมาชิก กองทุนช่วยเหลือสมาชิกที่มีปัญหาฉุกเฉิน เป็นต้น
สำหรับแนวทางส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอินทรีย์ สมาชิกกลุ่มไม่จำเป็นต้องมาก อาจเริ่มจากสมาชิกเพียง 3-5 ราย แต่ต้องเป็นเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจเรียนรู้หาประสบการณ์เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งตัวเกษตรกรเอง ต้องมีความสมัครใจที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างแท้จริง รวมทั้งจะต้องมีการติดตามการทำงานของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อหนุนช่วยและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานร่วมกัน
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่า “การทำเกษตรอินทรีย์” คือ ทิศทางและความหวังหนึ่งในการอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร และ ของเราทุกคนในสังคม เพราะเราทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภค และปัจจัยความสำเร็จของการทำเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ห่วงโซ่ปลายทาง คือ การมีผู้บริโภคที่มีความตระหนักต่อปัญหาสังคม ปัญหาของเกษตรกรผู้ผลิต เชื่อมั่นว่า “พลังการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิตที่เข้มแข็ง สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกได้”
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 มี.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.