ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนชาวนาและเกษตรกรเขตภาคกลาง ทำให้เห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนชาวนาหรือสังคมชนบทปัจจุบัน มีวิถีไม่แตกต่างอะไรกับสังคมเมืองเท่าใดนัก เนื่องด้วยวิถีที่ต้องเร่งรีบในการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต และการทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว จึงทำให้การประกอบอาหารเพื่อบริโภคเองในครอบครัวลดลง ชาวบ้านส่วนใหญ่หันไปพึ่งพาอาหารถุงสำเร็จรูปจากร้านค้าข้าวแกงและตลาดนัดท้องถิ่นมากขึ้น บางร้านเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ แต่บางร้านไม่ได้สนใจในวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารเพื่อจำหน่ายเท่าไหร่ สนใจเพียงว่าวัตถุดิบชนิดไหนที่สามารถลดต้นทุนได้ก็จะนำมาปรุงจำหน่าย
เมื่อคนในชุมชนไม่ได้ประกอบอาหารทานเอง ผลิตเอง หรือคัดสรรวัตถุดิบด้วยตนเอง จึงมีความเสี่ยงว่าร่างกายอาจไม่ได้รับอาหารที่ดี ปลอดภัยและมีคุณภาพ หรืออาจเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา จะเห็นได้จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่า ประชากรไทยจำนวนมาก ถึง 14 ล้านคนเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรั้ง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง และโรคไต มากขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุหลักส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย
ในปี 2562 ที่ผ่านมามูลนิธิชีวิตไท ได้ดำเนินโครงการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะร่วมกับ 4โรงเรียนในจังหวัดชัยนาทและสระบุรี ได้แก่ โรงเรียนวัดกำแพง โรงเรียนเทพรัตน์ และโรงเรียนวัดท่าสมอ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท และโรงเรียนวัดท่าสีโพธิ์เหนือ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยมีเป้าหมายโครงการเพื่อให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนมีสุขภาวะที่ดีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร อากาศ สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี โดยเน้นการลดพฤติกรรมความเสี่ยงและสร้างอาหารที่ดีในโรงเรียน
ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างคณะบุคลากรในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นอาจารย์และเด็กนักเรียนได้เข้ามารับผิดชอบในการมีส่วนร่วมของโครงการ จึงทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนได้ใช้เวลาในการสร้างสรรค์กิจกรรมด้วย เช่น การปลูกผักอินทรีย์ เพาะเห็ดอินทรีย์ เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ เป็นต้น เมื่อโรงเรียนมีอาหารที่ดีรับประทาน ก็จะทำให้สมองของเด็กเกิดพัฒนาการในการทำงาน ซึ่งนั่นก็คืออนาคตของประเทศที่จะทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้การพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะให้สำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับ หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจกับคนในชุมชน หรือผู้ปกครองของเด็ก โดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ตัวของเด็กเอง และต้องได้รับความร่วมมือกับทางบ้านในเรื่องของการรักษาวินัย
นอกจากนั้นโรงเรียนจะต้องมีนโยบายที่สอดคล้องกัน เช่น ห้ามแม่ค้าขายน้ำอัดลม หรือขนมกรุบกรอบในบริเวณโรงเรียน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก และอีกหลายส่วนงานเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ก็ต้องให้ความรู้ในเรื่องของการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็ก ลดหวาน งดเค็ม และงดมันเพี่อเฝ้าระวังไม่ให้เด็กเป็นโรคเบาหวาน ความดัน รวมถึงการกินอาหารที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้กับเด็กและผู้ปกครองเช่นกัน
ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้โรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะดังกล่าวข้างต้น ได้จัดทำกิจกรรมในโรงเรียนของตนเองด้วยการสร้างระบบอาหารที่ดีเพื่อป้อนให้กับโรงอาหารของโรงเรียน และหากมีผลผลิตพืชผักเหลือจากประกอบอาหารแล้ว จะได้นำเอาพืชผักเหล่านั้นขายให้กับผู้ปกครองนักเรียน เพื่อเป็นรายได้ให้กับเด็กและต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการต่อไป
นอกจากเด็กจะได้กินอาหารที่ดี ปลอดภัย และมีประโยชน์เพิ่มขึ้นแล้ว เด็กๆ ในโรงเรียนยังได้เรียนรู้เทคนิคขั้นตอนการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ แนวทางการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ฝึกทักษะความรับผิดชอบในแปลงผักของตนเอง พร้อมที่จะดูแลเอาใจใส่ และส่งเสริมให้เด็กที่ไม่ค่อยได้กินผัก หันมาบริโภคผักที่ตนเองปลูกมากับมือมากขึ้น หากเด็กไทยมีอาหารที่ปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี สมองดี สดใส ประเทศไทยเราจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 16 ก.พ. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.