“ส้ม” เป็นผลไม้ที่ปัจจุบันหาทานได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าจะให้มีรสชาติหวานอร่อย และปลอดภัย (อาจใช้สารเคมีน้อยกว่านอกฤดู) ควรเลือกทานส้มตามฤดูกาล นั่นคือช่วงฤดูหนาวตั้งแต่พฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ของทุกปี กิจกรรม “ล่องเรือ ชิมส้ม ชมสวน” ณ ทุ่งรังสิต ปี 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มปิ่นโตเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับมูลนิธิชีวิตไท และฟาร์มสร้างสุข รพ.รามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อนำผู้บริโภคมาเรียนรู้แหล่งที่มาของอาหารเพื่อสุขภาวะ “การผลิตส้มอินทรีย์” นำพาผู้บริโภคเข้าใจวิถีชีวิตและสภาพปัญหาของเกษตรกรรายย่อย เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต-ผู้บริโภค และสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยสู่วิถีการผลิตที่ยั่งยืนและปลอดภัย
ปัจจุบัน “ส้ม” ที่พบเห็นทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเลือกซื้อส้มที่มีผลเหลืองสวย เงา ไร้จุดด่างดำ มั่นใจได้เลยว่าส่วนใหญ่ล้วนเคลือบด้วยพิษภัยจากกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีมาอย่างเข้มข้น เพราะส้มเป็นพืชที่อ่อนแอต่อโรคและแมลง และอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ร้อนจัด ฝนตกหนัก ข้อมูลที่ค่อนข้างน่าตกใจ จากแหล่งข้อมูลของชาวสวนในพื้นที่พบว่าหากจะปลูกส้มให้อยู่รอด ท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ชาวสวนส้มจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่ฉีดเข้าต้นส้มอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรค “กรีนนิ่ง” ซึ่งทำให้ต้นส้มเหลืองโทรมและผลร่วง ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างยิ่งว่าหากผู้บริโภคทานต่อเนื่องสะสมอาจทำให้ร่างกายดื้อยาได้ในอนาคต
กิจกรรม “ล่องเรือ ชิมส้ม ชมสวน” ณ ทุ่งรังสิต ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ถือว่าได้การตอบรับจากผู้บริโภคที่เข้าร่วมอย่างคึกคัก มีทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ และครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ผู้บริโภคที่เข้าร่วมส่วนใหญ่มีความใส่ใจอาหารปลอดสารเคมี และอาหารเพื่อสุขภาพกันอยู่แล้ว และพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นรูปแบบอินทรีย์ เนื่องจากห่วงในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยของทั้งตนเอง เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม
โดยกิจกรรมแรกในงานต้อนรับผู้บริโภคด้วยการทานน้ำส้มอินทรีย์คั้นสด ๆ จากนั้นคุณกิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ (พี่ตี๋) ประธานกลุ่มปิ่นโตเกษตรอินทรีย์ ได้บอกเล่าประวัติเรื่องราววิถีชาวสวนส้ม จากชาวสวนส้มบางมดสู่ชาวสวนส้มทุ่งรังสิต วิกฤติส้มเคมี วิกฤติหนี้สิน การสูญเสียที่ดิน จุดปรับเปลี่ยนการผลิตจากส้มเคมีสู่ส้มอินทรีย์ กระบวนการผลิตส้มอินทรีย์ ทำได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะมีวันนี้ เกษตรกรต้องอดทนฝ่าฝัน เพราะลองผิดลองถูก ผลผลิตเสียหายถึง 3 ปี ส้มผลเล็ก ผลดำ แต่รสชาติดี โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองแค่เปลือกนอก ต้องสู้หนัก แต่ไม่เคยยอมแพ้ และการผลิตอินทรีย์ท่ามกลางกับดักหนี้สินที่มีกว่า 3 ล้านบาท ถือเป็นต้นทุนแฝงที่เกษตรกรต้องแบกรับมากกว่าเกษตรกรปกติ เกษตรต้องสู้และเรียนรู้กับสภาพอากาศและโรคแมลงไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะช่องทางตลาด ได้เรียนรู้ว่าไม่ควรปลูกส้มแค่ชนิดเดียว ในระหว่างรอผลผลิตส้ม เกษตรกรต้องผลิตพืชให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีพืชผัก ผลไม้ เช่น กล้วย ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ตะไคร้ เป็นรายได้ระยะสั้น
หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมให้ผู้บริโภคได้ ล่องเรือ ชิมส้ม ชมสวน ทานส้มอินทรีย์แบบสดๆจากต้น ชื่นชมกับสวนส้ม ผลส้ม แม้ว่าอากาศจะค่อนข้างร้อน แต่ทุกคนล้วนสนุกสนานกับการถ่ายรูปและล่องเรือ จนลืมร้อนไปเลย กลับจากเก็บส้มก็มีกิจกรรม Workshop ผู้บริโภคเรียนรู้วิธีการทำสบู่จากเปลือกส้มอินทรีย์ เปลือกส้มทานแล้วไม่ต้องทิ้ง สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสบู่บำรุงผิว วัตถุดิบปลอดภัยและช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน ช่วงอาหารกลางวันมีเมนูอาหารจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ ผลไม้อินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ช่วงสุดท้ายก่อนกลับได้เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคกับเกษตรกรผู้ผลิตได้ร่วมแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อกระบวนการปรับตัวของเกษตรกรจากวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์ ปัญหาหนี้สินและที่ดินทำกิน ตลอดจนเป็นการสร้างกระแสการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่การสร้างสุขภาวะของสังคม
จากกิจกรรมครั้งนี้ถือว่าผู้บริโภคได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่หลากหลาย เรียนรู้ที่มาของแหล่งผลิตอินทรีย์ วิถีชีวิตและสภาพปัญหาของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการกว่าจะมาเป็นส้มเขียวหวานอินทรีย์ของกลุ่มปิ่นโตเกษตรอินทรีย์ เป็นการบริโภคอย่างรู้ที่มา รู้เรื่องราวและคุณค่าของแหล่งผลิตอินทรีย์ กระบวนการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งหากจะเกิดความยั่งยืนต้องร่วมสร้างไปด้วยกันระหว่างผู้ปลูก ผู้กิน ครั้งต่อไปหากคุณจะเลือกซื้อส้ม “ส้มดีให้ดูที่เนื้อใน” นั่นคือการบริโภคอย่างรู้ที่มาและร่วมอุดหนุนการผลิตอินทรีย์จากเกษตรกรรายย่อย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 20 ม.ค. 2563
ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.