ด้วยความก้าวหน้าในโลกยุคดิจิตอลนี่เองที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรกันมากขึ้น และเกษตรกรปัญญาชนเหล่านี้มักเลือกปลูกพืชผักผลไม้ที่มีอนาคต และขายได้ราคา ที่สำคัญมีตลาดรองรับแน่นอน และนอกจากจะขายตามสวนตามไร่หรือที่หน้าร้านแล้ว ยังขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย อีกทั้งใช้การปลูกแบบโรงเรือน ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิและปัจจัยต่างๆ ได้ ส่งผลให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย
สำหรับพืชผักผลไม้ดาวรุ่งในปี 2563 หลายหน่วยงานต่างคาดการณ์ไว้ตรงกันว่าในส่วนของผลไม้มีหลายชนิดด้วยกัน อาทิ ทุเรียน มังคุด เมล่อน กาแฟ โกโก้ อาโวคาโด้ ส้มโชกุน ลูกหม่อน อินทผลัมและมะพร้าว ส่วนผักก็มีผักสลัดชนิดต่างๆ มะเขือเทศ และสะตอ ส่วนพืชเศรษฐกิจก็ยังเป็นข้าวนาปี อย่างพวกข้าวหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอรรี่
ปลูกแบบอินทรีย์ได้ราคา
ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่ามีการส่งเสริมพืชอาหารอนาคต (Future Crops/Food) ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น อาทิ 1. สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพทางด้านการตลาดในอนาคต อาทิ กาแฟ โกโก้ แมคคาเดเมีย ฟิก (Fig) และอินทผลัม
อินทผลัม
2. ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ เพื่อรองรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต 3. ปรับปรุงและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจให้เพียงพอและตรงกับความต้องการของตลาด เช่น เมล็ดพันธุ์สมุนไพร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตยาในอนาคต โดยการนำเทคโนโลยี
เมล็ดกาแฟ
ปรับเปลี่ยนยีน (Gene editing) มาใช้ 4. Functional Food สินค้าเกษตรที่ตอบสนองผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีการดูแลเอาใจใส่และคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น เช่น ข้าวสีนิลและข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และข้าวสินเหล็กที่มีธาตุเหล็กสูง ดัชนีน้ำตาลปานกลาง
ทั้งหมดนี้หากปลูกแบบอินทรีย์หรือออแกนิกจะมีราคาสูงกว่าปลูกแบบปลอดภัยหรือใช้ปุ๋ยเคมี ชี้ให้เห็นว่าตลาดพืชผักผลไม้อินทรีย์ยังคงโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐหันมาส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อม
อย่างเช่นสามพรานโมเดลที่มีนายอรุษ นวราช เป็นประธาน มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บเข้ามาสนับสนุน รวมถึงหน่วยงานของทาง จ.นครปฐม ด้วย สอดรับกับที่นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประกาศนโยบายว่าจะทำให้นครปฐมเป็นเมืองออแกนิก ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และกำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ให้ทุกหน่วยงานร่วมดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2564 เพื่อให้มีการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมทั้งกระบวนการผลิต รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้ขยายตัวในเชิงพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปี 2563 ใช่แต่ผู้ประกอบการน้อยใหญ่จะประสบภาวะยากลำบากเท่านั้น อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้แต่เกษตรกรเองก็ต้องเจอโจทย์หินด้วยเหมือนกัน เพราะพิษภัยแล้งที่คาดการณ์กันว่าจะหนักหนาสาหัสทีเดียว ถึงขนาดตอนช่วงกลางปี 2562 หน่วยงานด้านลมฟ้าอากาศและน้ำก็ออกมาเตือนกันแล้วว่าชาวนา ชาวสวน ชาวไร่เตรียมตัวรับมือกันให้ดี พร้อมกันนี้ภาคส่วนต่างๆ ยังแนะนำเกษตรกรในหลายเรื่องด้วยกัน เพื่อให้การทำเกษตรในปีนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
เตือนเตรียมตัวรับแล้งหนัก
เริ่มกันที่ น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่าภัยแล้งในปี 2563 จะรุนแรงกว่าปี 2562 เพราะเริ่มต้นปีด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่น้อยกว่าเดิมมาก จะกระทบปริมาณผลผลิต มีผลให้จีดีพีภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัว ส่วนจะเข้าใกล้ภาวะแล้งเป็นประวัติการณ์ดังเช่นที่เกิดในปี 2558 – 2559 นั้นหรือไม่ มองว่า 3 – 4 เดือนแรกของปี 2563 คงมีความชัดเจนขึ้นแล้วว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเข้ามาซ้ำเติมหรือไม่
เกวลิน หวังพิชญสุข
“จากปัญหาภัยแล้งนี้ เกษตรกรควรปลูกพืชที่เน้นในเรื่องของคุณภาพเป็นสำคัญ และควรปลูกแบบอินทรีย์เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม อย่างถ้าปลูกข้าวก็เลือกข้าวประเภทที่ตลาดส่งออกต้องการ เช่น พวกข้าวหอมมะลิ”น.ส.เกวลิน ย้ำ
ขณะที่ ผศ.ดร.สุรชาติ สินวรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการเกษตร จากคณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปีหน้าจะเจอปัญหาแล้งหนักในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
จึงได้เตรียมการขุดน้ำบาดาลเพิ่มเติม พร้อมกันนี้แนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชระยะสั้นใช้น้ำน้อย และใช้ระบบน้ำหยด ทั้งต้องมีระบบน้ำสำรองไว้ สำหรับแปลงเกษตรของตัวเอง นอกจากนี้ต้องป้องกันการระเหยน้ำด้วย
น้ำในแม่น้ำหลายสายแห้งขอด
ส่วน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พูดถึงเรื่องนี้ว่า ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติเตือนรัฐบาลหลายรอบแล้วตั้งแต่ช่วงปลายฝนแล้วว่า ปี 2563 น้ำในแม่น้ำลำคลองและน้ำในเขื่อนจะน้อยมาก เป็นภาวะแล้งหนัก แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา ตนห่วงว่าจะเกิดปัญหาเกษตรกรแย่งชิงน้ำกัน ถ้ารัฐบาลยังไม่ออกมาตรการอะไรมา จะเกิดปัญหาหลายด้าน อย่างเช่น กำลังซื้อของคนเศรษฐกิจฐานรากจะอ่อนแรง เนื่องจากผลผลิตไม่ดี และราคาพืชผลจะไม่ดีไปด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการที่รัฐบาลอัดเม็ดเงินเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนก็เป็นการเยียวยาได้ระดับหนึ่ง แต่ในเชิงเศรษฐกิจมีผลไม่มากนัก และไม่ได้แก้ปัญหาแบบยั่งยืน
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
สำหรับการแก้ปัญหาการเกษตรแบบยั่งยืนนั้น ต้องมีการจัดทำแผนการใช้น้ำแบบประหยัดในทุกพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกร เพื่อให้มีการจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา และแม้ตอนนี้จะเป็นวิกฤติภัยแล้งแต่ก็สามารถทำเป็นโอกาสได้ เช่น ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย แนะนำให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชผักผลไม้ที่ใช้น้ำน้อย หรืออย่างพวกไม้ยืนต้น หรือเปลี่ยนไปทำปศุสัตว์แทน
“ที่สำคัญรัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกในเรื่องสินเชื่อ ทำแบบผ่อนปรนให้ใช้หนี้ระยะยาวและปลอดดอกเบี้ย ไม่ใช่ปล่อยให้กู้ในรูปแบบเดิมๆ ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงในแต่ละปี ถ้าเป็นแบบนี้เกษตรกรก็ไปไม่รอด หากทำแบบที่สภาเกษตรกรฯ แนะนำ เกษตรกรสามารถรอดได้ อย่างผมเองทำเกษตรในพื้นที่ 100 ไร่ ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง แต่ก่อนปลูกส้มโชกุน แต่ประสบปัญหาเรื่องน้ำ จึงปรับเปลี่ยนมาทำปศุสัตว์ เลี้ยงควายแทน และปลูกไม้ผลต่างๆไ ม่ว่าจะเป็นส้มโอ มะม่วงพันธุ์ขาวนิยม และปลูกไผ่”
แนะสร้างแหล่งน้ำในแปลง
ผู้รับผิดชอบโดยตรงอย่าง นายโชคดี ตั้งจิตร เกษตรอำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ปี 2563 ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกๆ ปี คาดการณ์ว่าช่วงฤดูแล้งน้ำที่ใช้ในการเกษตรจะน้อยกว่าทุกปี เพราะฉะนั้นการวางแผนในการส่งเสริมให้พี่น้องปลูกพืชในฤดูแล้ง ต้องให้ตระหนักถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในระบบชลประทาน และระบบเก็บน้ำบ่อในสวนไร่นาของแต่ละคนด้วยว่ามีเพียงพอหรือไม่ เช่นถ้าอยู่ในเขตชลประมาณ จะได้รับทราบข้อมูลจากกรมชลประทานจะมีน้ำเพียงพอทำนาปรังได้หรือไม่ได้ หรือปลูกพืชผักมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อคอร์ปนั้นๆ หรือไม่
โชคดี ตั้งจิตร
ภาครัฐเป็นห่วงว่าถ้าปลูกไปแล้ว ในช่วงกลางคอร์ป หรือในช่วงอายุของพืชเกิดน้ำขาดขึ้นมา เกษตรกรจะได้รับผลกระทบ ส่วนนอกเขตชลประทานจะส่งเสริมให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย พืชอายุสั้น หรือพืชตระกูลถั่ว จะได้ปรับปรุงบำรุงดินด้วย อย่างที่ อ.ปากท่อ มีการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ มีการประชุมกันทุกเดือน เพื่อให้เกษตรกรรับรู้ข้อมูลข่าวสารตลอด
นายโชคดี ยังกล่าวอีกว่า เกษตรกรต้องรู้บริบทแปลงทำกินของตัวเอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกของปริมาณน้ำฝน เมื่อหน้าฝนน้ำท่วม น้ำไหลหลาก หน้าแล้งก็แล้งขาดน้ำ ต้องขุดบ่อในไร่นา เพื่อรองรับน้ำในฤดูฝนที่หลากและลดการเกิดอุทกภัย พอหน้าแล้งก็มีน้ำไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง เป็นการวางแผนการใช้น้ำ จึงต้องแนะนำให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำของตัวเอง เป็นการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ที่พระราชทานไว้ในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ ซึ่งต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 30 % ไว้เป็นแหล่งน้ำ ไว้ปลูกข้าว เลี้ยงปลา บริโภคเองไม่ต้องไปซื้อ
ม่วนใจ๋กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว
อย่างที่เกริ่นไปแต่แรกว่าพืชผักผลไม้ออแกนิกมีอนาคต ซึ่งใช่เพียงตลาดในประเทศเท่านั้น ตลาดต่างประเทศก็เติบโตเช่นกัน โดยประมาณกันว่าตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีมูลค่าเม็ดเงินราว 3,000 กว่าล้านบาท ส่วนมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,100 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี บางสำนักระบุว่าเติบโตถึง 20% อีกทั้งหลายฝ่ายคาดการณ์ในอนาคตตลาดมีความต้องการสูงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น และเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นนั้น อาหารการกินเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะพืชผักผลไม้ที่ใช้สารเคมีต่างๆ เป็นตัวต้นเหตุการเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เห็นได้จากการสัดส่วนบรรดาร้านค้าเพื่อสุขภาพที่ผุดขึ้นมากมาย สอดรับกับการที่ห้างสรรพสินค้า ต่างหันมาสร้างจุดเด่นด้วยการขายสินค้าออแกนิกกันมากขึ้น และมักบอกแหล่งปลูกด้วย เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ รวมถึงร้านอาหารและโรงแรมด้วย ต่างเห็นถึงกระแสออแกนิก จึงมักนำสินค้าเกษตรออแกนิกต่างๆ มาเป็นจุดขาย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั้งไทยและเทศ แม้บางอย่างต้นทุนในการรับซื้อจะมากกว่าราคาตามท้องตลาดก็ตลาด
ด้วยเหตุที่สินค้าเกษตรออแกนิกมาแรงเช่นนี้เอง เกษตรกรหน้าใหม่จึงหันมาจับตลาดนี้เป็นหลัก เพราะมองว่านอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองที่ได้บริโภคพืชผักผลไม้ปลอดสารเคมีแล้ว ยังสามารถขายได้ราคาและมีตลาดรองรับ โดยรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีผลผลิตมากพอในการจำหน่าย อย่างเช่นกลุ่มสองแควออแกนิก, ม่วนใจ๋ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ฯลฯ
นอกจากจะมีการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับภาครัฐและเอกชนแล้ว ทางสามพรานโมเดลและภาครัฐบางหน่วยงานยังร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะมองว่าอาหารการกินก็เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอยู่แล้ว จึงสอดรับในทิศทางเดียวกัน แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้าง
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 2 ม.ค. 2563
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.