คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
ทุกครั้งเมื่อมีการรายงานยอดหนี้ครัวเรือนของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ก็มักจะเป็นข่าวฮือฮากันเสมอว่า หนี้ครัวเรือนมีจำนวนสูงขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็รายงานว่า เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 นี้ ยอดหนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8 เปอร์เซ็นต์ ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 6.30 จากเมื่อสิ้นไตรมาสแรก เมื่อนำไปเทียบกับรายได้ประชาชาติจะอยู่ที่ร้อยละ 78.7 เท่า ๆ กับไตรมาสที่แล้ว
ถ้าดูจากยอดรวมของหนี้ครัวเรือนระดับนี้ก็ยังถือว่าปกติ ยังไม่ถึงระดับที่น่าห่วงคือในระดับที่เกินร้อยละ 80 ของรายได้ประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำชะลอตัว มีภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่ไม่สดใส เพราะเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ ชี้ไปในทางลดลงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนของภาคเอกชน การใช้กำลังการผลิต การจ้างงาน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงความเชื่อมั่นในเรื่องรายได้ของครัวเรือน
การรายงานเพียงตัวเลขหนี้สินของครัวเรือน โดยไม่ได้รายงานทางด้านทรัพย์สินของครัวเรือนและรายได้ของครัวเรือนด้วย จะทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน เพราะในขณะที่หนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทรัพย์สินของครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปอีกก็พบว่า หนี้ของครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ผ่อนส่งรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถปิกอัพ หรือรถบรรทุกเล็ก ซึ่งเป็นทั้งสินค้าบริโภคคงทน หรือ consumer durable goods และสินค้าทุน เพราะใช้ในการขนส่งวัตถุดิบและขนส่งสินค้าสำเร็จรูปไปส่งที่ตลาด หรือลูกค้า ซึ่งมีลักษณะเป็นสินค้าทุน หรือ capital goods หนี้สินประเภทนี้ไม่ใช่หนี้สินที่น่าห่วง ยิ่งครัวเรือนมีรายได้พอที่จะดูแลหนี้ของครัวเรือน หรือมีความสามารถที่จะชำระหนี้ของครัวเรือนได้ก็ยิ่งไม่น่าห่วงยิ่งเศรษฐกิจเจริญขึ้นเท่าไหร่ หนี้สินประเภทนี้ก็จะสูงขึ้น ถ้าจะให้ได้ภาพที่ชัดเจนควรรายงานมูลค่าทางด้านทรัพย์สินด้วย คือ เอาหนี้สินของครัวเรือน หักด้วยทรัพย์สินของครัวเรือน ส่วนต่างเช่นว่า ฝรั่งเรียกว่า networth หรือเราอาจจะเรียกว่า ทรัพย์สินสุทธิ ก็น่าจะได้
นอกจากเครื่องจักรกลที่ใช้ประกอบอาชีพ ก็ยังมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บ้านพักอาศัย ซึ่งบางทีก็ใช้เป็นบ้านตัว หรือใช้เป็นโรงงานขนาดย่อมด้วย รวมทั้งทีวี โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ รวม ๆ แล้วน่าจะมีมูลค่าสูงกว่าหนี้สินของครัวเรือนก็ได้ ดัชนีที่ใช้วัดระดับหนี้สินของครัวเรือนอีกตัวหนึ่งก็คือ ยอดหนี้ของครัวเรือน เมื่อเทียบกับรายได้ของครัวเรือน ซึ่งขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ
การรายงานหนี้ของครัวเรือนที่ทำให้ตกใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ คือ “หนี้นอกระบบ” ซึ่งประเทศไหนก็มี ยิ่งระดับการพัฒนาต่ำเพียงใด สัดส่วนของหนี้นอกระบบเมื่อเทียบกับหนี้ในระบบของครัวเรือนก็จะสูงขึ้นเพียงนั้น และเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดมิให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ทั้ง ๆ ที่หนี้นอกระบบส่วนใหญ่ ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินและหรือรายได้เพียงพอ หรือคุณสมบัติไม่ดีพอที่จะมีผู้ค้ำประกันหนี้ในระบบได้การกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 15 จึงทำให้หนี้นอกระบบทั้งหมดเป็นหนี้ที่ผิดกฎหมาย นำขึ้นฟ้องร้องไม่ได้ เพราะเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพดานดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็นคุณ
กลับเป็นโทษสำหรับคนจน ที่บางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้ เพราะการบังคับให้ชดใช้หนี้มักทำโดยการใช้กำลัง ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบสูงเกินธรรมชาติไป เพราะต้องเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย ทั้ง ๆ ที่หนี้ในระบบสามารถคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ได้
ความจริงแล้ว สินเชื่อในระบบในระดับหมู่บ้าน หรือในระดับธุรกิจรายย่อยและธุรกิจในครัวเรือน มีอยู่มากมายและซ้ำซ้อนกันด้วยซ้ำ เช่น สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ บรรษัทเงินทุนเพื่ออุตสาหกรรมรายย่อย ธนาคารออมสิน กองทุนหมู่บ้าน ประเทศไทยจัดได้ว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการจัดให้มีสินเชื่อ
ในชนบท จัดสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมรายย่อยได้อย่างทั่วถึง ไม่นับอุตสาหกรรมรายย่อยที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ที่ผลิตส่งต่อให้บริษัทผลิตหรือประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป เราจึงไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานมากนักเพราะแรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำงานอยู่ที่บ้านในภาคเกษตรในชนบท แรงงานในภาคอุตสาหกรรมกับแรงงานในภาคเกษตรจึงยังไม่ได้แยกกันเด็ดขาดทั้งหมด หนี้ของครัวเรือนส่วนใหญ่จึงไม่ใช่หนี้เพื่อการบริโภค แต่อาจจะเป็นหนี้ลงทุนเพื่อการผลิต เหมือน ๆ กับหนี้ของบริษัทห้างร้านที่เป็นทั้งหนี้เพื่อการลงทุน และหนี้เพื่อใช้ในการหมุนเวียน ที่อยู่ในภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและขนส่งซึ่งทำโดยครัวเรือนเนื่องจากในภาคเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนในระบบมีมากพอ หนี้นอกระบบของครัวเรือนจึงไม่น่าจะมีมาก เนื่องจากเป็นหนี้ที่ผิดกฎหมาย ฟ้องร้องไม่ได้ ทำสัญญาก็ไม่ได้ เพราะเพดานดอกเบี้ยที่กำหนดโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้ที่ร้อยละ 15 เราจึงไม่ทราบว่ามีมากน้อยเพียงใด ที่นาบ้านช่องถูกยึดไปเพราะหนี้นอกระบบที่ทำเป็นสัญญา “ขายฝาก” ที่ควรจะยกเลิกไปนานแล้ว
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายการบริโภคและการออมระยะยาว หรือ life cycle ซึ่งเกี่ยวพันกับหนี้ของครัวเรือน สำหรับคนในเมืองที่แยกครอบครัวออกจากบิดามารดา ในช่วงเริ่มทำงานอายุประมาณ 20-30 ปี จะเริ่มสามารถก่อหนี้ได้เพราะมีงานทำเป็นหลักแหล่ง ซื้อบ้านผ่อนส่ง ซื้อรถยนต์ จากนั้นก็สะสมไว้เป็นค่าสินสอด แหวนหมั้น แต่งงานมีลูก ส่งลูกเข้าโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย การใช้จ่ายจึงมักจะสูงกว่ารายได้ หนี้ของครัวเรือนก็จะมีระดับสูง
ขณะเดียวกันทรัพย์สินที่เป็นสินค้าทุนและสินค้าคงทนเพื่อการบริโภคก็จะสูงขึ้นด้วยทรัพย์สินสุทธิ หรือ networth ที่เริ่มจากติดลบจะค่อย ๆ กลับมาเป็นบวก เมื่อเวลาผ่านไปสามารถผ่อนส่งจนหนี้สินลดลง หมดหนี้สินเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน เช่น อายุเกินกว่า 60-65 ปีขึ้นไป หนี้สินของครัวเรือนจึงสะท้อนถึงโครงสร้างอายุของประชากรในสังคมด้วย
สำหรับภาคเกษตรของเรา ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและเข้าถึงโครงการสุขภาพดีทั่วหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าไม่ถึง ธุรกิจในครัวเรือน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง ทำของส่งบริษัทก็สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งเป็นเกษตรกรในเขตชลประทาน ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ประมาณร้อยละ 25 ของเกษตรกรทั้งหมด
สำหรับเขตเกษตรน้ำฝน โดยโครงการพระราชดำริ แบ่งเนื้อที่ขุดบ่อปูพลาสติกตามแนวทางพัฒนาพื้นที่ในเขตชนบทยากจน ก็สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วงได้ การผลิตข้าวคุณภาพดี เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวตาแห้งและข้าวเสาไห้ รวมทั้งการยกเลิกโครงการประกันราคาและโครงการรับจำนวนข้าว ทำให้ชาวนาเพิ่มการปลูกข้าวคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดภายในและภายนอกมากขึ้น
แม้ไม่มีโครงการประกันราคาข้าวและรับจำนำข้าว ปริมาณการส่งออกก็ไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 ล้านตัน เพราะโครงการต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวทั้งต้นฤดูและปลายฤดูเพิ่มขึ้น
การสงเคราะห์เกษตรกรผู้ผลิตข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อยและน้ำตาล โดยการโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง ถึงแม้จะมีการรั่วไหลบ้าง แต่ก็ส่งถึงชาวไร่ชาวนาชาวสวนได้โดยตรง มีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายประกันราคาและนโยบายจำนำข้าวซึ่งสูญเปล่า ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับโรงสีพ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออกเสียเป็นส่วนใหญ่ในระยะยาวจริง ๆ ควรจะมุ่งไปในทางลดจำนวนเกษตรกรลง เพราะประเทศไทยหมดความได้เปรียบเชิงเทียบ comparative advantage ในการส่งออกสินค้าเกษตรประเภทพืชไร่ให้กับเพื่อนบ้าน แล้วที่สำคัญการพัฒนาต่ำกว่าเรา เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาวแล้ว เพราะต้นทุนของเขาต่ำกว่าของเรามาก อีกทั้งราคาที่ดินของเราก็มีราคาแพงกว่าเขามาก พื้นที่ในเขตชลประทานจำนวนมากกลายเป็นพื้นที่ตั้งโรงงาน ที่อยู่อาศัย และธุรกิจอย่างอื่นแทนพื้นที่เกษตรกรรมไปแล้ว
นโยบายชดเชยการผลิตสินค้าเกษตรกรรมควรจะลดลง และก็หันมาใช้งบประมาณนอกภาคเกษตร nonagricultural แบบญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี หรือไม่ก็ผลิตสินค้าเกษตรที่มีราคาแพงได้แล้ว ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ไม่มีตัวเลขทรัพย์สินสุทธิ รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นทุนหรือสินค้าบริโภคที่คงทน รวมทั้งหนี้สินที่ต้องใช้ในยามจำเป็น เช่น ในช่วงเจ็บป่วย จึงกลายเป็นตัวเลขที่ไม่มีความหมายอะไร
หนี้ครัวเรือนอย่างเดียวคงไม่ได้บอกอะไร
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ธ.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.