มหากาพย์การแบน 3 สารเคมีเกษตร หลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้แบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 นับเป็นหนึ่งในมหากาพย์ความสำเร็จของเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่ใช้เวลาผลักดันกันมายาวนานกว่า 7 ปี โดยคาดหวังกันว่าในอนาคตนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกษตรกรไทยสามารถลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และมีจำนวนเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามมุมมองโลกสวยนี้ อาจไม่มีทางเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง เพราะทุกวันนี้เกษตรกรไทยมีกำแพงหรือกับดักการปรับตัวที่เป็นอุปสรรคอยู่หลายประการ โดยเฉพาะ “กับดักหนี้สิน” ที่คอยขัดขวางไม่ให้เกษตรกรหลุดออกจากการเกษตรเคมีแบบง่าย ๆ
เกษตรกรเป็นหนี้เพราะทำเกษตรเคมี...เพื่อต่อวงจรชีวิต
หลังจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (ปี 2504-2509) นโยบายการเชิญชวนให้เกษตรกรกู้เงินเพื่อทำการเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว จะเริ่มต้นมาจาก “ความเชื่อมั่น” ว่า เมื่อเกษตรกรได้รับ “เครดิต” เกษตรกรจะสามารถลงทุนในปัจจัยการผลิตสมัยใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตของเกษตรกร และทำให้เกษตรกรมีรายรับและรายได้สุทธิมากขึ้น ซึ่งนั่นก็แปลว่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็จะดีขึ้น
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาผ่านมา กลไกการผลิตและกลไกการตลาดสินค้าเกษตรมีแต่ความผันผวนที่เกษตรกรไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า และไม่สามารถต่อรองได้เลย ดังนั้น “ความเชื่อมั่น” ที่เกษตรกรเคยมี จึงค่อยๆ มอดลงไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ การกู้ยืมเงินของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่ได้มีแนวคิด/แนวทาง “ใหม่ๆ” ในการเพิ่มกำลังการผลิตหรือพลังการผลิตอีกต่อไปแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่กู้ยืมเงินไปเพื่อต่อชีวิตวงจรการผลิตแบบเดิมๆ โดยไม่รู้ว่าตนเองจะออกจากวงจรนี้ได้เมื่อไร? หรือจะออกจากวงจรนี้ได้หรือไม่? เกษตรกรส่วนใหญ่ทราบแต่ว่า ถ้าไม่มีเงินกู้เข้ามาต่ออายุ กระบวนการผลิตของตนจะต้องหยุดชะงักลง และตนอาจต้องสูญเสียหลักประกันเงินกู้ไปได้ (ที่มา : งานวิจัยเรื่อง“หนี้สินกับการผลิตอินทรีย์”, เดชรัต สุขกำเนิด , 2561)
กับดักหนี้สินการเกษตร
จากผลการวิจัยเรื่อง “หนี้สินกับการผลิตอินทรีย์” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิชีวิตไท พบว่า กับดักที่ทำให้เกษตรกรหลุดออกจากวงจรหนี้สินได้ยากเนื่องจาก หนึ่ง จำนวนเกษตรกรไม่น้อยที่ไม่ทราบข้อมูลหนี้สินของตน สาเหตุเพราะส่วนหนึ่งไม่มีสัญญาเงินกู้อยู่ในมือ โดยบางรายไม่เก็บเอกสารชำระหนี้ของตนไว้ และเกษตรกรบางส่วนจะได้เห็นสัญญาเงินกู้ของตนก็ต่อเมื่อถูกดำเนินคดีไปแล้ว
สอง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้กลไกการทำงานของอัตราดอกเบี้ย ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจว่าเหตุใดเงินต้น 1 แสนบาท ถึงทบต้นกลายเป็น 4 แสนบาท จึงทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ สาม เกษตรกรไม่เคยตรวจสอบเอกสารหนี้และการคิดดอกเบี้ย เนื่องจากมีความเกรงใจต่อเจ้าหน้าที่ดำเนินงาน สี่ เมื่อเข้าสู่การดำเนินคดี เกษตรกรส่วนมากไม่รู้กระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย คนส่วนใหญ่จึงไม่สู้คดี ทั้งยังยอมเข้าสู่การบังคับคดี การขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดิน กับดักสุดท้าย คือ เกษตรกรจำนวนมากยังไม่ทราบว่าชีวิตตนเองต่อไปจากนี้จะเป็นอย่างไร พี่น้องเกษตรกรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการปรับตัว เพื่อที่จะหาทางเพิ่มรายได้ของตน แต่ก็ติดปัญหาทางการตลาด
กำแพงหนี้กับการปรับตัวสู่เกษตรอินทรีย์
จะเห็นได้ว่าพันธนาการหนี้สินของเกษตรกรไทยเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกษตรกรบางส่วนจึงเลือกที่จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรการเกษตรเคมีแบบเดิมๆ มากกว่าการหาลู่ทางใหม่เพื่อทำกิน พอเป็นเช่นนั้น การจะทำให้เกษตรกรเปลี่ยนผันตนเองไปสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ได้ จึงจำเป็นต้องสร้างเครดิต ที่จะพาเกษตรกรออกจากกระบวนการเดิมๆ และให้ความมั่นใจแก่เกษตรกรว่า วิธีการผลิตแบบใหม่จะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพียงพอต่อการนำไปปลดล็อคพันธนาการเดิมๆ ที่ถูกกับดักหนี้สินรัดตรึงเอาไว้
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าแนวทางการแก้หนี้ของเกษตรกรด้วยวิธีการเกษตรอินทรีย์อาจไม่ใช่คำตอบการแก้หนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด ตราบใดที่เงื่อนไขปัจจัยการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจาก หนึ่ง ปัจจัยภายในตัวเกษตรกรและครอบครัว ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าในการแก้หนี้ของตนเอง สรุปบทเรียนและค้นพบความจริงได้ว่า ยิ่งทำเกษตรเคมีสุขภาพยิ่งย่ำแย่ ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ และต้องเริ่มทั้งครอบครัวเพราะปัญหาหนี้อาจไม่ได้เกิดจากปัญหาด้านรายได้ แต่เกิดจากปัญหาด้านพฤติกรรมใช้จ่าย และการบริหารจัดการการเงินของสมาชิกในครอบครัว สอง กลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด เงินทุน และการบริหารจัดการ จนสามารถสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาได้ สาม นโยบายการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งบทเรียนความสำเร็จโดยวิธีใดวิธีหนึ่งอาจเป็นไปได้เพราะมีเกษตรกรอินทรีย์รายเดี่ยวสามารถปลดหนี้ได้ด้วยตนเอง แต่อาจเป็นตัวอย่างที่ทำได้ยากและอาจไม่ยั่งยืน ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหลายวิธีส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 15 พ.ย. 2562
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.