“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” คำกล่าวนี้เชื่อว่าเป็นที่ได้รับการยอมรับและเป็นจริงอย่างแน่แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีหนี้ค้างชำระเกินกว่าจะหารายได้ไปชำระคืนให้หมดสิ้น การตกอยู่ในสภาวะการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง หมดหนทางแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระไม่สามารถหาแหล่งเงินใหม่เพื่อกู้ยืมนำไปปลดเปลื้องภาระทางการเงินได้อีกต่อไป เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวงถามให้ชำระหนี้เนื่องจากไม่ชำระจนเกินกำหนดตามสัญญาการกู้ยืม เป็นสถานการณ์ของผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่สามารถชำระคืนได้ ขยายผลนำไปสู่การดำเนินคดีและบังคับยึดทรัพย์สินเท่าที่มีเพื่อหักชำระหนี้จนเป็นเหตุให้ล้มละลายในที่สุด
ความทุกข์จากปัญหาหนี้สินเปรียบเสมือน “กงเกวียนกำเกวียน” เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ยกเว้นว่าจะเป็นบุคคลผู้ประกอบอาชีพการงานด้านใด เป็นสัจจธรรมที่ว่า “ บุคคลกระทำใด ๆ ย่อมมีผลต่อผู้กระทำนั้น ๆ ” กล่าวได้ว่า ทุกคนพึงรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง “ภาระหนี้สิน” เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นจากผู้กระทำจำนวนสองฝ่าย ได้ตกลงยินยอมกำหนดเงื่อนไขและเป็นที่มาแห่งการกู้ยืมเงิน โดยตกลงทำสัญญากันไว้ว่า “ลูกหนี้” จะชำระหนี้และดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขภายในระยะเวลาที่กำหนด และ ทั้งสองฝ่ายต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นกติกาสังคมที่ทุกคนต้องยอมรับและทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น “เจ้าหนี้” จะเรียกเก็บและกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นไม่ได้ ส่วน “ลูกหนี้” ก็มิอาจปฎิเสธภาระหนี้ที่ผูกพัน ต้องชดใช้เงินชำระหนี้คืน ตามกฎหมายตามที่ได้ตกลงทำสํญญากันไว้แล้ว โดยมิอาจผลักภาระไปให้ผู้ค้ำประกัน ฯ หรือ รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลอนุมัติจัดสรรงบประมาณไปชดใช้หนี้แทนตนเองได้
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าว บุคคลากรทางการศึกษาผู้ประกอบอาชีพ “ครู” จำนวนหลายสิบท่านได้ไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สั่งการหน่วยงานต้นสังกัดปฎิบัติให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ระเบียบข้อ 7 การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 โดยให้ถือใช้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2555 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 2,919 คน ยื่นฟ้อง รมว.ศึกษาธิการ กับพวกให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าว ฯ
ศาล ฯ พิเคราะห์ว่า รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษาธิการจังหวัด ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และ สกสค. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในการกำกับดูแลและดำเนินการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยเรื่องการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระเงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ ปี 2551 ตามระเบียบข้อ 7 การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2555
การออกหนังสือรับรองเงินเดือนให้ครูนำไปกู้เงินกับสถาบันการเงิน ถือเป็นการส่งเสริมให้ครูมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ระบบบริหารจัดการเงินมีปัญหาและกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ และ การดำรงชีพของครู ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงพิพากษาให้ รมว.ศึกษาธิการและพวกรวม 6 คน ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามระเบียบฯ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ณ วันที่เขียนบทความนี้ (1 พฤศจิกายน 2562) ผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถดำเนินการตามคำเรียกร้องให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปะ ชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ และ รับข้อเสนอเกี่ยวกับการหักเงินเดือนครูเพื่อชำระหนี้ ในโอกาสการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ณ หอประชุมคุรุสภา โดยกล่าวว่า ได้เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจะเชิญตัวแทนจากชมรม ฯ รวมถึงตัวแทนจากทุกภาคส่วน เข้าร่วมและรับทราบข้อมูลร่วมกัน โดยปัญหานี้ได้ทำการศึกษามาพอสมควร และ มีแนวทางแก้ไขบางส่วนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือจะดำเนินการอย่างไรเพื่อปกป้อง ศธ. หรือผู้บริหารในอดีตที่เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องทางกฎหมาย โดยตนมีความตั้งใจจะแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ และ พยายามไม่ทำอะไรที่มีผลกระทบในวงกว้าง จึงสรุปได้ว่า ในทางปฎิบัติยังคงมีการหักเงินเดือนครูเพื่อชำระหนี้ จนเหลือเงินเดือนที่ครูผู้เป็นลูกหนี้จะได้รับ น้อยกว่า 30 % เนื่องจากปริมาณหนี้สินตามสัญญากู้ยืมเงิน ได้กำหนดเงื่อนไข จำนวนเงินงวดที่จะหักชำระเป็นข้อตกลงยินยอมทั้งสองฝ่ายไว้ชัดเจนแล้ว ดังนั้น สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ โดยเฉพาะ สหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ จึงมิอาจนำไปปฎิบัติเพื่องดเว้นจำนวนเงินหักชำระหนี้แต่ละงวดตามสัญญา ฯ ให้น้อยลงได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและเกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ ฯ และ สมาชิกผู้มีวินัยทางการเงินที่ดี
ปัญหาหนี้สินของประชาชนของอีกกลุ่มสาขาอาชีพหนึ่ง คือ “เกษตรกร” รัฐบาลถือเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยมีความพยายามจัดทำโครงการและมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถปลดเปลื้องหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เนื่องจากในภาพรวม รัฐบาลทุกชุดติดอยู่ในวัฎจักร “ พักชำระหนี้ – ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ – ปรับโครงสร้างหนี้ ” กล่าวคือ ส่วนใหญ่แก้สถานการณ์ด้วยการออกนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ และ อัดฉีดเงินกู้ให้เพิ่มเติม ผลที่เกิดขึ้นคือ การเป็นหนี้ต้องส่งชำระต่อไป โดยยืดเวลาและงวดเงินส่งชำระ ส่วนลูกหนี้ก็ยังคงมีปัญหา/ภาระต้องส่งชำระหนี้เหมือนเดิม
อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะนี้มีโครงการ “คลีนิคแก้หนี้” ช่วยเหลือลูกหนี้ สินเชื่อส่วนบุคคล และ ลูกหนี้บัตรเครดิตให้สามารถปลดเปลื้องหลุดพ้นจากภาระหนี้สินได้ มีบริษัทตัวกลางไปทำการเจรจากับเจ้าหนี้รวมหนี้ทั้งหมดเป็นก้อนเดียว แล้วรับชำระเงินจากลูกหนี้ โดยยืดระยะเวลาส่งชำระหนี้ได้นานสุดถุง 10 ปี ลดภาระนำส่งเงินงวดให้น้อยลง คิดอัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บเพียงร้อยละ 4 ทั้งนี้ ลูกหนี้ก็ยังคงรับผิดชอบในหนี้สินที่ตนเองได้สร้างไว้ไม่มีการชำระหนี้แทนแต่อย่างไร
การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หากภาคครัวเรือนไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและรักษาวินัยทางการเงินได้ ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการก่อหนี้และการมีปัญหาชำระหนี้ของครัวเรือน เกิดจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยมีการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเกินฐานะ รวมทั้งขาดการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมในระยะยาว
ตัวอย่างปัญหาหนี้สินครูที่ได้นำเสนอเบื้องต้น เป็นกรณีศึกษา ให้ทุกหน่วยงานรวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกฝ่าย ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หาแนวทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หากยังคงดำเนินการอยู่ในวัฎจักรเดิม ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างจากเดิมสักเท่าไร จึงควรให้ความสำคัญกับมาตรการส่งเสริมการออม และ การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้ง การจดบันทึกรายรับ – รายจ่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนทางการเงิน ให้สามารถสร้างวินัยทางการเงิน จึงจะหลุดพ้นปัญหาทางการเงินของตนเองได้อย่างยั่งยืน ……… เรวัตร : ภาพ/บทความ
ที่มา : 77 ข่าวเด็ด วันที่ 1 พ.ย. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.