นิยามความจนคืออะไร? เอาเกณฑ์อะไรมาตัดสิน หรือวัดจากรายได้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเป็นเส้นแบ่งความยากจน ขณะที่มีคนจำนวนมากเป็นหนี้หัวโตเงินทองไม่พอใช้ หรือเพราะไม่มีทางเลือกเหมือนกลุ่มนายทุน โดยจะเห็นรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ปัญหาความจน ด้วยการออกสารพัดนโยบายใช้งบมหาศาล แต่เหตุไฉนคนจนยังกระจัดกระจายไปทั่ว เป็นที่มาของคำว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" ทั้งๆ ที่ขยันทำมาหากิน
ขณะที่ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า นิยามความยากจนได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าจะนิยามอย่างไรทั้งจากตัวชี้วัดความยากจนขององค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก หรือสภาพัฒน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าความจนวัดได้ยากเมื่อมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทุกรัฐบาลได้พูดถึงการจะแก้ปัญหาความยากจนมาตลอด พยายามจะแก้ความยากจนแต่เป็นไปได้ยาก
"ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ชวลิต พยายามแก้ความยากจนด้วยยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงและความยากจน ส่วนยุคทักษิณ ขึ้นทะเบียนคนจนจะให้คนจนหมดทั้งประเทศ จนมายุคพล.อ.ประยุทธ์ เสนอนโยบายประชารัฐ แก้ปัญหาความยากจน โดยจะเห็นว่าความยากจนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ใช้เป็นเกมทางการเมืองดึงความยากจนไปสู่การเมือง มากกว่าการแก้ปัญหาจริงๆ หรือกรณีกัมพูชา ทางฮุนเซน ก็ออกมาหยิบยกบอกว่าจะไม่มีความยากจน ทำให้มองว่านิยามความจนนั้นมองยาก"
ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัญหาความยากจนมาจากความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องเงินทุน ทำให้การเข้าถึงทรัพยากรได้ยาก ซึ่งทุกรัฐบาลได้หยิบยกความยากจนในทางการเมือง ขณะที่ต่างประเทศหยิบยกความยากจนมาจากความเหลื่อมล้ำ ตรงกันข้ามกับไทยที่มีโครงสร้างทางสังคมแบบจัดระดับชั้น มีการแบ่งชนชั้นสูง ชนชั้นนำ ถูกนิยามความจนของคนในเชิงรากหญ้าในทางลบ ทั้งๆ ที่ทางทฤษฎีคำว่ารากหญ้านั้นหมายถึงต้องมีรากที่มั่นคงแข็งแรง แต่ไทยกลับมองว่ารากหญ้าเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ ซึ่งบางครั้งไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่แท้จริง
นอกจากนี้ กลุ่มรากหญ้ายังถูกมองและใช้ถ้อยคำว่าไม่มีความรู้ ไม่ขยันทำมาหากิน ทั้งๆ ที่ในทางโครงสร้างพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเรื่องทรัพยากรต่างๆ เพราะฉะนั้นอย่ามองในแง่ปิดกั้นจนกลายเป็นปัญหา โดยความยากจนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่ใช่เฉพาะในชนบท ยังมีคนจนในเมืองตกขบวนในการพัฒนา โดยปัญหาคนจนในเมืองมีจำนวนตัวเลขไม่แพ้ในภาคเกษตรกรรมและชนบท ยกตัวอย่างคนไร้ที่อยู่อาศัย ถูกยึดที่ดิน จึงมองว่ามีคนจนในสังคมไทยไม่น้อยกว่า 50-80% จากประชากรทั้งหมด เนื่องจากทรัพยากรการผลิตต่างๆ ไปกระจุกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่มที่ถือครองปัจจัยการผลิต แม้รัฐบาลจะออกนโยบายยั่งยืนมาอย่างไรก็จะเอื้อให้เฉพาะกลุ่มทุน อย่างมาตรการชิมช้อปใช้ ไม่ได้ช่วยคนจน แต่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยนายทุน
"กลุ่มคนรากหญ้าการศึกษาน้อย มีมากที่สุดในไทย แต่มีความขยัน ได้ถูกปิดกั้นมากที่สุด และถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งๆ ที่คนไทยทำงานเยอะเพื่อหาเงิน แต่กลับจนลง จากปัจจัยตัวแปรปัญหาในระบบ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำ ไม่มีกฎหมายป้องกันการผูกขาด ทั้งกฎหมายมรดก และกฎหมายที่ดินที่ได้ออกมาใช้ไม่มีประสิทธิผล มักเป็นปัญหา ไม่เกิดผลจริงจัง ไม่ได้แก้ปัญหา สุดท้ายกระบวนการออกกฎหมายก็เพื่อผลประโยชน์คนกลุ่มนั้น และดึงความยากจนมาโยงการเมืองแบบไม่จบไม่สิ้น ถูกหยิบยกเป็นวาทกรรม โดยรัฐบาลออกนโยบายแก้ความจนด้วยการเป็นผู้ให้ ไม่ได้ทำให้คนเกิดการเรียนรู้ อาจมองเป็นการแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว ซึ่งทุกรัฐบาลไม่เคยพูดถึงการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน มีแต่ออกนโยบายประกันพืชผล หรือนโยบายลดแลกแจกแถม มากกว่าแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ในทุกยุคทุกสมัย"
สุดท้ายมองว่าปัญหาความยากจนในสังคมไทย ยังมีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น ทำให้คนไทยยากจนมากขึ้นในอนาคต จากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องการกระจายรายได้ ความไม่เป็นธรรมกับคนใช้แรงงาน และไม่มีการป้องกันการทุ่มทุนของกลุ่มนายทุน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ได้แม้จะเป็นไปได้ยาก ต้องมีพรรคการเมืองทำเพื่อประชาชน ออกมาขับเคลื่อนนโยบายในมุมของประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ และต้องมีสื่อเป็นปากเสียงให้กับประชาชนโดยเน้นสื่อท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในอีกทางหนึ่ง.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 12 ต.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.