คิดถึงหลักสูตรการศึกษาไทยเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีวิชาว่าด้วยการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต(สปช.) การงานพื้นฐานอาชีพ(กพอ.) และวิชาการสร้างเสริมลักษณะนิสัย(สลน.) เป็น 3 วิชาที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ป.1 – ป.6 จะได้เรียนกันทุกชั้นในโรงเรียนชนบท หลักสูตรเหล่านี้มุ่งเน้นการฝึกและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ตามพื้นฐานอาชีพดั้งเดิม เป็นกิจกรรมที่ดีและช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนรักในพื้นฐานอาชีพการเกษตรของตนเอง ถึงแม้ว่าเด็กจะจบแล้วไม่ทำงานภาคเกษตร ไปทำงานโรงงาน หากวันหนึ่งมีเหตุต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง โรงงานอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ต้องหันมาใช้ชีวิตในภาคการเกษตร ก็จะทำให้เด็กเหล่านี้ได้หันกลับมาทบทวนวิชาเดิมที่ได้ร่ำเรียนมา การทำการเกษตรเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังและสร้างพื้นฐานตั้งแต่ยังเด็ก “ทำอย่างไรจะทำการเกษตรให้มีความสุข รู้จักผลิตและบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย”
กิจกรรม “พัฒนาต้นแบบโรงเรียนที่มีการจัดปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ” เป็นกิจกรรมที่ทางมูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับโรงเรียนวัดกำแพง และโรงเรียนเทพรัตน์ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2562 โดยเริ่มต้นจากกระบวนการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและครูในโรงเรียนเรื่องอาหารและการเกษตรปลอดภัยตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยโรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา(การศึกษาภาคบังคับ) ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ซึ่งมีวิถีการทำนาขายข้าวเปลือก ซื้อข้าวสารและอาหารจากตลาดมาบริโภค
จึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องพฤติกรรมการบริโภคและผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพบว่าเด็กในชนบทต่างจังหวัดส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคไม่แตกต่างจากเด็กในเมือง นั่นคือทานอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น เบอร์เกอร์ไก่ ไก่ทอด น้ำอัดลม ทำให้เกิดภาวะความดันและเบาหวานในเด็ก การสะสมของสารเคมีจากการกินหมูกระทะ หรือการใช้สารเคมีในไร่นาและการเกษตรก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ง่ายกว่าสมัยก่อน นอกจากนั้นยังได้มีการยกตัวอย่างของสารเคมี ที่ก่อให้เกิดโรคเนื้อเปื่อย หรือมะเร็ง ซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญต่อชีวิต เพราะนอกจากคนที่รับสารเคมีจะต้องเจอกับภาวะซึมเศร้า และหมดค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก
ผลที่เกิดจากการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้เด็กนักเรียนและครูได้เรียนรู้และตระหนักถึงพิษภัยและผลกระทบจากการใช้สารเคมี และมีแผนการทำงานร่วมกัน โดยการตั้งเป้าหมายว่า เด็กในโรงเรียนจะต้องได้กินผักที่ปลอดภัย และได้เรียนรู้วิถีการทำการเกษตรตั้งแต่เด็ก เพื่อความไม่ประมาทของชีวิตหากไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมแล้วกลับมาบ้านไม่มีงานทำ ก็สามารถเริ่มต้นการทำการเกษตรปลอดภัยได้
การเรียนรู้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ต่อด้วยการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ การปรุงดินหรือเตรียมดินสำหรับปลูกผัก ซึ่งการเตรียมดินในการปลูกผักนั้นก็มีเคล็ดลับด้วยเช่นกัน กิจกรรมที่เด็กได้เรียนรู้ร่วมกันคือการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง ซึ่งทำได้ง่ายๆ โดยใช้วัสดุที่เหลือในบ้านไม่ว่าจะเป็นเศษฟางข้าว หรือวัสดุ เช่น ใบไม้หรือกิ่งไม้ที่อยู่ในบ้าน จำนวน 3 ส่วนและปุ๋ยคอก ไม่ว่าจะเป็นขี้หมู ขี้ไก่ หรือขี้วัวก็ได้ นำเอากองซากวัสดุที่เหลือใช้มาวางเป็นชั้นแรก และเอาปุ๋ยคอกใส่ และวางกันเป็นชั้นไปเรื่อยๆ จนวัสดุหมด นอกจากนั้นรดน้ำทุกวัน พอถึงวันที่ 7 ก็ให้นำเอาท่อ PVC แทงลงไปเพื่อระบายความร้อน ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ และพยายามจับดูว่าปุ๋ยไม่มีความร้อนแล้ว เราจึงสามารถเอาปุ๋ยมาใช้ในแปลงผักได้
จากกระบวนการช่วยกันคิดและช่วยกันทำ ทำให้เด็กมีความสนุกกับกิจกรรมและเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ ซึ่งการจัดกิจกรรมในโครงการนี้อาจมีกิจกรรมในครั้งต่อไปที่จะให้เด็กได้เรียนรู้การเพาะกล้า และมาวางแผนเพื่อปลูก
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 14 ต.ค. 2562
ผู้เขียน : ณัฎฐวี สายสวัสดิ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.