หลายคนนิยมให้ลูกหลานบริโภค “ส้ม” เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ในปี 2560กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจผักผลไม้ในท้องตลาดค้าส่งทั่วประเทศไทย พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า “ส้ม” เป็นผลไม้ที่ค้นพบสารพิษตกค้างมากถึง 9 ชนิด รองลงมาคือ แก้วมังกร ชมพู่ และลำไย ชนิดสารเคมีตกค้างในผลไม้สดสูง คือ carbendazim ร้อยละ 34 และไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin) ร้อยละ 23 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลง ผู้บริโภคที่ได้รับสารเคมีตกค้างชนิดนี้จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงงหากได้รับในปริมาณมากๆ จะทำให้กล้ามเนื้อกระตุกและชักได้
ส้มอินทรีย์
สำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ หากไม่อยากเสี่ยงกับการบริโภคส้มที่มีสารเคมีตกค้าง ขอแนะนำให้เลือกซื้อส้มอินทรีย์ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง (ปิ่นโตเกษตรอินทรีย์) ภายใต้การนำ ของ “นายกิตติวัฒน์-นางกัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์” ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 48/2 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี 12170 โทร. 093-324-2799
คุณกิตติวัฒน์ และ คุณกัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์
หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับชื่อ “นายกิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง (ปิ่นโตเกษตรอินทรีย์) สักเท่าไร หากเอ่ยชื่อเดิมของเขา “นายวรพนธ์ สาสดี” หลายคนคงร้องอ๋อ! จำได้แล้ว เพราะเขามีผลงานโดดเด่นในฐานะผู้บุกเบิกการทำสวนส้มอินทรีย์ในย่านทุ่งรังสิตมานานปี
สองสามีภรรยาแกนนำกลุ่มปิ่นโตเกษตรอินทรีย์ เล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า คุณกิตติวัฒน์ เกิดในครอบครัวชาวสวนส้มบางมด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มเขียวหวานสายพันธุ์ดีของประเทศไทย ต่อมาสวนส้มบางมดเจอปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่การเกษตร ทำให้ปลูกส้มไม่ได้ เกษตรกรที่ทำสวนส้มบางมดส่วนใหญ่จึงตัดสินใจอพยพครอบครัวมาทำการเพาะปลูกในอำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง ซึ่งที่ดินมีราคาถูกและสภาพน้ำยังดีอยู่
สวนส้มอินทรีย์
ส้มอินทรีย์กลุ่มปิ่นโตที่พร้อมขาย
คุณกิตติวัฒน์ ซื้อที่ดินในพื้นที่ตำบลหนองสามวัง ซึ่งเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน เพื่อทำสวนส้มแห่งใหม่ ส้มเป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณมาก จึงทำสวนส้มแบบร่องน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำมากพอสำหรับหล่อเลี้ยงผลส้มตลอดทั้งปี ช่วงนั้น เกษตรกรขายส้มได้ราคาดี คุณกิตติวัฒน์ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทำสวนส้มโดยใส่ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงอย่างหนัก ใครว่า ปุ๋ย ยา ชนิดไหนคุณภาพดี ก็หามาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีป้อนเข้าสู่ตลาf
หลังจากเกษตรกรสวนส้มรังสิตส่วนใหญ่หันมาใช้สารเคมีจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ปี 2538 ทำให้เกิดปัญหาดินเป็นกรด เกิดโรคระบาดและแมลงศัตรูพืชรบกวน การแพร่ระบาดของโรคกรีนนิ่ง ทำให้ผลส้มร่วง ต้นส้มล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรจำนวนมากตัดสินใจเลิกปลูกส้ม หันไปปลูกพืชผัก ไม้ผลและสวนปาล์มน้ำมันแทน แต่คุณกิตติวัฒน์ตัดสินใจย้ายไปเช่าที่ดินปลูกส้มแห่งใหม่ เนื้อที่ 100 ไร่ ที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่ทำได้เพียงไม่กี่ปี ก็เจอปัญหาเดิมเช่นเดียวกับสวนส้มรังสิต
ปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้น ทำให้คุณกิตติวัฒน์ประสบปัญหาขาดทุนและมีหนี้สินก้อนโต มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ต้องขายทรัพย์สินของครอบครัวเพื่อชำระหนี้ รวมทั้งสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และรับการฟื้นฟูอาชีพตามขั้นตอน แม้เจอปัญหาอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เขาก็ไม่หมดกำลัง พร้อมลุกขึ้นสู้ โดยปฏิวัติแนวคิดหันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากปลูกฝรั่งอินทรีย์ มะนาว พืชผักไม้ผลนานาชนิด และทำสวนส้มอินทรีย์ บนเนื้อที่ 8 ไร่ จนประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้าง ในฐานะเกษตรกรต้นแบบของการทำสวนส้มอินทรีย์รายแรกของทุ่งรังสิต
สวนส้มอินทรีย์
ปัจจุบัน คุณกิตติวัฒน์ ปลูกส้มเขียวดำเนินอินทรีย์ ที่มีลักษณะเด่นคือ ส้มเขียว ผิวสีเขียวอ่อน รสเปรี้ยวอมหวาน ซังอ่อนนุ่มมีกากเล็กน้อย เมื่อสุกจัดจะเป็นสีเหลืองอมเขียว รสหวานจัดขึ้น เกษตรกรชาวสวนส้มทั่วไปเลือกผลิตส้มให้มีผลผลิตออกมาในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่คุณกิตติวัฒน์มองว่า ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะในระยะนั้น มีผลผลิตเข้าตลาดเป็นจำนวนมาก จึงขายผลผลิตไม่ได้ราคาที่ต้องการ
ส้มเขียวดำเนินอินทรีย์
เขาจึงวางแผนการผลิตให้มีสินค้าส้มอินทรีย์เข้าสู่ตลาดเป็น 3 ช่วงแทน เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาด โดยผลผลิตรุ่นแรก จะเริ่มวางขายในเดือนพฤศจิกายน รุ่นที่สอง ขายในช่วงเดือนเมษายน ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนรุ่นที่สาม ขายในช่วงเดือนตุลาคม โดยมีราคาขายไม่ต่ำกว่า 70-80 บาท ต่อกิโลกรัม
“การวางแผนจำหน่ายส้มอินทรีย์ในระยะเวลาดังกล่าว ทำให้มีผลกำไรที่ดี เพราะต้นทุนการผลิตส้มอินทรีย์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 40 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือผลกำไรก้อนโต คุ้มค่ากับการลงทุน ต้นทุนหลักของการทำสวนส้มอินทรีย์อยู่ที่ต้นทุนด้านแรงงานในการดูแลจัดการปัญหาโรคแมลงในสวนส้มให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี ทุกวันนี้ หากเจอปัญหาโรคกรีนนิ่ง จะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าฉีดพ่น ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสบาย” คุณกิตติวัฒน์ กล่าว
คุณกิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ ดูแลแปลงปลูกถั่วฝักยาวอินทรีย์
ตลาดอินทรีย์ เติบโตไม่หยุด
ทุกวันนี้ คุณกิตติวัฒน์ ทำหน้าที่ฝ่ายผลิตสินค้า ส่วนคุณกัลย์ทิพา ช่วยดูแลด้านตลาด รวมทั้งแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น สบู่ แชมพู และครีมนวดผมจากมะกรูด ผลิตน้ำส้มคั้นพร้อมดื่มออกขายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิญชวนนักท่องเที่ยวที่สนใจมาล่องเรือ หิ้วตะกร้าสานคนละใบ แล้วไปนั่งเรือเก็บส้มด้วยตนเองตามร่องสวน สร้างรายได้ก้อนโตได้อีกทางหนึ่ง
แชมพูและครีมนวดผมจากมะกรูดขายดีมาก
คุณกิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ พานักท่องเที่ยวเก็บผลส้มอินทรีย์ด้วยตัวเอง
ปัจจุบัน คุณกิตติวัฒน์ และคุณกัลย์ทิพา ชักชวนเกษตรกรในท้องถิ่นและเพื่อนเกษตรกรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน หันมาปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการปลูกดูแลพืชผักผลไม้ รวมกันซื้อ รวมกันขาย จนกลายเป็นสถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็ง ภายใต้ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง (ปิ่นโตเกษตรอินทรีย์)
ผลไม้อินทรีย์ของกลุ่มปิ่นโตอินทรีย์
มะเขือเทศอินทรีย์ ปลอดสาร หวานกรอบ อร่อย
“ผักผลไม้อินทรีย์” มีคุณภาพดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค แต่มีราคาจำหน่ายสูงกว่า สินค้าพืชผักผลไม้ทั่วไปอยู่บ้าง สำหรับผู้บริโภคที่มีความรู้ ความเข้าใจ คุณค่าของผักผลไม้อินทรีย์ ส่วนใหญ่ยินดีควักกระเป๋าซื้อโดยไม่ลังเล แต่ผู้บริโภคที่ไม่รู้จักสินค้าประเภทนี้ อาจเป็นเรื่องยากในการเข้าถึง ดังนั้น พวกเขาจึงยินดีแบ่งปันความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้รู้จักคุณค่าและประโยชน์ของพืชผักผลไม้อินทรีย์ ขณะเดียวกัน กลุ่มปิ่นโตอินทรีย์ก็เรียนรู้ที่จะเจาะตลาดให้ถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ย่านถนนสีลม และงานประชุมของกลุ่มโรตารี่ เป็นต้น
ส้มอินทรีย์ สด ปลอดภัย
ฝรั่งกิมจู ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์
นำสินค้าออกขายในงานโรตารี
ก่อนจบการสนทนา คุณกิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ เกษตรกรไทยจำนวนมากนิยมใช้เคมีภัณฑ์การเกษตรทั้งปุ๋ยและยา เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวกสบาย ให้ผลไวทันตาเห็น แถมได้ผลผลิตต่อไร่ในปริมาณมาก ทำกำไรได้ก้อนโต แต่ในความเป็นจริง เม็ดเงินที่ไหลเข้ากระเป๋า “อาจได้ไม่คุ้มเสีย” เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และรุนแรงมากในสังคมไทย เพราะปัญหาสารเคมีตกค้างที่สะสมในร่างกายเกษตรกรและผู้บริโภค ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ทั้งโรคมะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจบริโภคพืชผักผลไม้อินทรีย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในระยะยาว
ขอขอบคุณ “นายกิตติวัฒน์-นางกัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง (ปิ่นโตเกษตรอินทรีย์) ที่สนับสนุนภาพประกอบข่าวในครั้งนี้
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 6 มิ.ย. 2562
ผู้เขียน : สาวบางแค 22
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.