สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2545) ได้ให้ความหมายของ “โรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะ” คือโรงเรียนที่มีความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อการมีสุขภาพดีของทุกคนในโรงเรียน นั่นคือ ความร่วมมือกัน ผลักดันให้โรงเรียนใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อพัฒนาสุขภาพของนักเรียน บุคคลากรในโรงเรียน ตลอดจนครอบครัวและชุมชน ให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเองและผู้อื่น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการผลักดันให้เป็นหนึ่งในแผนการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน จังหวัดชัยภูมิ
โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 216 คน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านท่ามะไฟหวาน ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ระยะทางห่างจากจังหวัดชัยภูมิ 52 กิโลเมตร และ ห่างจากอำเภอแก้งคร้อ 30 กิโลเมตร
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ของเด็กโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คือการปลูกพืชไร่และทำสวน ได้แก่ มันสำปะหลัง สวนผลไม้ สวนยางพารา โดยมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำ แต่ก็เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัวตามอัตภาพ คือมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี มีจำนวนประชากรเฉลี่ย 3 คนต่อครอบครัว
โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพนักเรียน และผู้เกี่ยวข้องทุกคนในโรงเรียน รวมทั้งสมาชิกในชุมชนให้ได้รับความรู้ ปลูกฝังทัศนคติและเสริมสร้างทักษะที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและยั่งยืน เพราะการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เกี่ยวกับสุขภาพนักเรียน ผู้ปกครอง ครู บุคลากรในโรงเรียน องค์กรในท้องถิ่น และชุมชนอย่างแท้จริง
โดยทางโรงเรียนเองได้มีจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโครงการดังกล่าว เริ่มต้นโดยการให้ความรู้กับเด็กแต่ละระดับชั้น มีการเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผัก การทำเกษตรตามแต่ละช่วงวัย ผู้เขียนเองได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมแปลงเกษตรของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน ในชั้นระดับเด็กเล็ก จะมีการเรียนรู้เรื่องของการเพาะปลูกผักต้นเล็ก ๆ ที่ดูแลรักษาง่าย เช่น การปลูกต้นหอมในขวดพลาสติก การเพาะถั่วงอกในกระถาง ส่วนของเด็กระดับชั้นโตมากขึ้น จะมีการปฏิบัติจริงโดยการทำแปลงผัก ปลูกผัก และการดูแลรักษาผักของตนเอง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานอาชีพเกษตรกรรมและความรักในอาชีพเกษตรให้กับเด็ก โดยมีการปลูกพืชผักสวนครัวหมุนเวียน เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว บวบ เห็ด เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวัน โดยมีการบริหารจัดการให้ผลผลิตผักที่ปลูกมีปริมาณเพียงพอที่จะให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนได้ทานผักในปริมาณมากกว่า 400 กรัมต่อวันต่อคน ที่สำคัญคือได้ทานอาหารจากวัตถุดิบที่สดใหม่ ปลอดภัยจากสารพิษ จากฝีมือของตนเอง พืชผักบางอย่างมีปริมาณมาก หากเหลือจากที่จะนำมาประกอบอาหารในแต่ละวัน จะนำออกไปจำหน่ายให้กับผู้ปกครอง ครูและบุคลากรในโรงเรียน เพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นทุนในการซื้อวัตถุดิบอื่นในการประกอบอาหารต่อไป
นอกเหนือจากเรื่องโภชนาการอาหารยังมีกิจกรรมการออกกำลังกายของเด็กนักเรียน ในช่วงเช้าจะมีการออกกำลังกาย ประมาณ 20 นาที ตอนเย็นก่อนเลิกเรียนจะมีการออกกำลังกาย การเต้นประกอบจังหวะเพลง 30 นาที ทำให้เด็กได้มีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย นอกจากกิจกรรมกับเด็กนักเรียนแล้ว ยังมีการประชาสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองเด็ก มีการแจกเมล็ดพันธุ์ผักให้กับผู้ปกครองของเด็กนำไปปลูกที่บ้าน ทำให้มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เมื่อมีผลผลิตนำมาประกอบอาหารถือเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือนลง
ทั้งนี้โครงการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะในโรงเรียนจะสามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ นอกจากต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือการทำงานเป็นทีมโดยมีผู้นำที่เข้มแข็งที่พร้อมจะผลักดันโครงการเหมือนท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน คุณสันติ ไตรเสนีย์ และคณะครูอาจารย์ ทุกคนมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างศักยภาพทางความรู้ และทักษะให้นักเรียนทุกคน เพื่อพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง ครอบครัวและชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 6 ก.ย. 2562
ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.