บทเรียนประสบการณ์ปฏิรูปที่ดินจากนานาชาติ
เมื่อวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ทบทวนคดีที่ดิน : ขบวนการภาคประชาสังคมกับปัญหาความเป็นธรรมและกระบวนการกลับมาเป็นเกษตรกรในภาคเหนือ" นำเสนอที่มาที่ไปของข้อพิพาทที่ดิน ความขัดแย้ง และคดีที่ดินในพื้นที่จ.เชียงใหม่-ลำพูน ผ่านมุมมองของจำเลย ทนายความ นักวิชาการ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอประสบการณ์การกระจายถือครองในต่างประเทศ โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล นักเขียน มีสาระสำคัญดังนี้
ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการกระจายการถือครองเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องการเก็บภาษีที่ดิน เพราะจะทำให้ประเทศพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้พอสมควร ประสบการณ์ปฏิรูปที่ดินในเอเชีย ถ้าจัดกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น ปฏิรูปที่ดินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
วิธีการปฏิรูปที่ดินของญี่ปุ่น คือ จำกัดการถือครองที่ดินคนละไม่เกิน 6.25 ไร่ โดยนำเอาที่ดินที่ถือครองเกินมากระจาย ส่วนใหญ่จะกระจายให้เกษตรกร พอกระจายแล้วรัฐก็อุดหนุนโดยการเปิดโอกาสให้เกษตรกรนำที่ดินไปจำนองได้ ส่วนเจ้าของที่ดินก็ได้รับการชดเชยเป็นเงินสดหรือพันธบัตร สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น กุญแจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ คือ มีบริการ และการพัฒนาของภาครัฐ เช่น มีเงินกู้ราคาถูก มีการจัดระบบข้อมูลที่ดี มีระบบข้าราชการที่มีประสิทธิภาพ
กรณีเกาหลีใต้ รัฐสนับสนุนการปกครองท้องถิ่นให้ทำหน้าที่กระจายการถือครองที่ดิน พัฒนาภาคเกษตรในชนบท มีการกระจายที่ดินให้เกษตรกรถึง 15 เปอร์เซ็นต์ มีเพดานการถือครองที่ดินเกษตรกรรม 18.75 ไร่ ส่วนเกินก็จะนำมากระจายให้ผู้เช่าที่ดินดั้งเดิมคนละ 6.25 ไร่ ทำให้เกษตรกรเกาหลีใต้มีที่ดินถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น
กรณีไต้หวัน รัฐบาลที่ลี้ภัยการเมืองจากจีนซึ่งไม่มีความผูกผันกับเจ้าของที่ดินเดิม เมื่อเข้ามาปกครองอย่างแรกที่รัฐบาลทำ คือ สำรวจการถือครองที่ดิน มีการกำจัดการถือครองที่ดิน 6.25 ไร่ ส่วนเกินนั้นเจ้าของเดิมได้รับการชดเชยเป็นพันธบัตรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเจ้าของเดิมก็นำพันธบัตรไปลงทุนภาคอุตสาหกรรม
ภัควดีขยายความว่า เมื่อดูทั้งสามประเทศจะพบว่ามีการนำที่ดินกระจายให้เกษตรกร แล้วผลผลิตก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามถ้ามองดูประเทศในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่คล้ายจะประสบความสำเร็จในเรื่องการกระจายที่ดิน คือ ฟิลิปินส์ พบว่ามีการกระจายการถือครองที่ดินตั้งแต่ยุคมาร์คอส แต่เริ่มกระจายอย่างจริงจังหลังโค่นมาร์คอส โดยมีการสร้างกระบวนเป็นกลุ่มแนวร่วมเข้าไปล้อบบี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนต้องออกกฎหมายปฏิรูปภาคเกษตรแบบรอบด้านขึ้นมา มีสโลแกนว่า "กระจายที่ดินให้ผู้ถือคันไถ" หมายความว่าใครทำจริงก็ได้ที่ดินไป
"เขานำที่ดินประมาณ 50 ล้านไร่มากระจาย ครึ่งหนึ่งกระจายที่ดินเกษตรกรรมให้เกษตรกรและแรงงานในไร่นา อีกครึ่งหนึ่งก็ทำอุตสาหกรรมชุมชน คือ ให้สิทธิทำกินแก่พวกชาวเขา ในเวลา 17 ปี ฟิลิปินส์ สามารถกระจายที่ดิน 83 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ส่วนที่เหลือไม่ได้ทำเนื่องจากเป็นที่ดินของเอกชน และไร่นาอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากถ้าเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
พอมาดูอีกกลุ่มประเทศหนึ่งที่พยายามกระจายการถือครองที่ดินแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก คือ ประเทศในเอเชียใต้ อินเดีย บังคลาเทศ ซึ่งมีลักษณะร่วม คือ หนึ่ง พยายามจะมอบสิทธิการถือครองให้เกษตรกรรายย่อย สอง กำกับดูแลการเช่าที่ดิน สาม กำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานภาคเกษตร สี่ ยกเลิกระบบนายหน้าเช่าช่วง ที่แสวงหากำไรจากการเอาที่ดินไปปล่อยเช่าเป็นทอดๆ เพราะว่าในยุคอาณานิคมจะมีเจ้าที่ดินขนาดใหญ่เกิดขึ้น จากนั้นจะมีนายหน้าไปรับช่วงและปล่อยเช่าเป็นทอด เกษตรกรจึงต้องจ่ายค่าเช่าค่อนข้างสูง ห้า เอาที่ดินของรัฐมากระจาย หก สร้างเพดานการถือครองที่ดินและนำที่ดินส่วนเกินมากระจายให้คนไร้ที่ดินและคนไร้บ้าน
"กรณีศึกษาส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่อินเดียมาก อาจจะเป็นเพราะระบอบสาธารณรัฐ ที่นำนโยบายจากส่วนกลางของรัฐมาใช้ไม่เหมือนกัน นโยบายที่ประสบความสำเร็จกับล้มเหลวจึงมีความแตกต่างกันมาก มีเพียง 7 รัฐที่ประสบความสำเร็จในการกระจายการถือครองที่ดินเพราะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จจะมาจากปัญหาด้านโภชนาการ ปัญหากลุ่มคนที่อยู่ส่วนของความยากจน ปัญหาเรื่องผลผลิต"
รัฐบาลกลางอินเดียมีเป้าหมายการปฏิรูปที่ดินสามอย่าง หนึ่งยกเลิกระบบนายหน้าเช่าช่วง สองกำกับดูแลการเช่าที่ดินโดยอัตราค่าเช่าต้องไม่มากกว่า 1 ส่วน 4 หรือ 1 ส่วน ของผลผลิต ต้องมีการเก็บสถิติของผู้ให้เช่าที่ดิน มีการคุ้มครองผู้เช่า ไม่ใช่จะไล่ผู้เช่าออกง่ายๆ หรือคิดจะทำอะไรก็สามารถทำได้เลย ต้องมีช่วงว่างหรือเหตุผลที่ดีพอ หรือต้องมีความสมัครใจของผู้เช่าที่จะออกจากการเช่านั้น สาม กำกับดูแลขนาดการถือครองที่ดิน คือ มีเพดานการถือครองที่ดิน มีการผลักดันเรื่องการถือครองเป็นชุมชนเพื่อทำให้แปลงใหญ่ขึ้นเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเพิ่มการจ้างงาน เป้าหมายเพื่อทำให้เกษตรไม่โดนเอารัดเอาเปรียบ
ในบรรดาสามเป้าหมายนั้น สิ่งที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศ คือ การยกเลิกระบบนายหน้าเช่าช่วง แม้ว่าค่าเช่าที่ดินจะไม่ลดลง แต่รัฐเก็บรายได้มากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ข้อสองและข้อสามที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือ ขาดกลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาเรื่องการเก็บสถิติ ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ พืชผลของการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ ไม่มีกฎหมายห้ามถือครองที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ รัฐของอินเดียมีการบังคับใช้ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาที่ดินแค่ไหน
"อินเดียทำการปฏิรูปที่ดินมา 20 ปี กระจายที่ดินได้ 36 ล้านไร่ ให้ผู้เช่าได้ 11 ล้านคน ตัวเลขอาจดูสูง แต่ต้องไม่ลืมว่าอินเดียมีประชากรอยู่มาก ความสำเร็จจึงคิดได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ จากเป้าหมายทั้งประเทศและกระจุกอยู่ใน 7 รัฐ ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างรัฐที่ประสบความสำเร็จ คือ เบงกอลตะวันตก กระจายที่ดินได้สองล้านครัวเรือน ปฏิรูปค่าเช่าได้ 1.5 ล้านครัวเรือน ผลผลิตเติบโต 42 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ผลผลิตพืชผักสวนครัวเพิ่มสองเท่า การบริโภคต่อหัวเพิ่มขึ้น 9.6 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาเรื่องโภชนาการในรัฐที่ประสบความสำเร็จในปฏิรูปที่ดินจะต่ำลงถ้าเทียบกับรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปที่ดิน จำนวนประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนลดลงจาก 60 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ พอผลสำเร็จของเบงกอลชัดเจนก็เกิดความตื่นตัวของรัฐอื่นๆ ตามมา"
"จะเห็นว่าอินเดียก็ยังอยู่ในกระบวนการปฏิรูปที่ดินอยู่ และเดินหน้าไปเรื่อยๆ เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จในประเทศตัวเอง เป็นจุดที่ชัดเจนว่าถ้าปฏิรูปที่ดินแล้วมันต้องประสบความสำเร็จในแง่ของการเพิ่มผลผลิต และลดความยากจนลง"
สำหรับประเด็นการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมนั้น ภัควดี กล่าวว่า เรื่องเพดานการถือครองที่ดินมีสองประเภท หนึ่ง เพดานการซื้อที่ดินในอนาคต บางประเทศ เช่น โบลิเวียมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าในอนาคตห้ามซื้อที่ดินเกินจำนวนเท่าไหร่ ส่วนกรณีอินเดียตั้งเพดานการถือครองที่ดินในปัจจุบัน ใครถือครองเกินให้เอามากระจาย ส่วนที่เกินก็มีการชดเชยจากรัฐหรือผู้ที่ได้รับการจัดสรร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดว่า 1 ที่ดินส่วนไหนที่จะคืนให้รัฐ ตอนแรกให้เจ้าของที่ดินเลือก เจ้าของที่ก็จะเลือกที่ดินที่แย่ที่สุดมาให้รัฐซึ่งใช้เพาะปลูกไม่ได้ ต่อมาก็เลยกำหนดว่าให้รัฐเป็นคนเลือก แต่ว่าจะมีข้อจำกัดในการเลือก ถ้าที่ดินมีการใช้ประโยชน์เป็นไร่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่อาจจะปล่อยให้มีการถือครอง แต่ไปควบคุมเรื่องค่าแรงของภาคการเกษตรที่ทำงานในนั้น ถ้าที่ดินนั้นทำประโยชน์เรื่องการเช่าก็ไปควบคุมเรื่องค่าเช่า
2 นโยบายของรัฐบาลกลางในการกำหนดเพดานการถือครองที่ดิน คือ ถ้ามีการชลประทานเพาะปลูกได้สองครั้งต่อปี เพดานการถือครองที่ดินจะต่ำลงมาหน่อย อยู่ที่ 25-45 ไร่ แล้วแต่พื้นที่ของแต่ละรัฐ แต่ถ้าพื้นที่ไหนมีชลประทาน เพดานการถือครองจะต่ำ พื้นที่ไหนไม่มีชลประทานหรือเพาะปลูกได้ปีละครั้ง เพดานการถือครองที่ดินจะสูงขึ้นแต่ไม่เกินร้อยละ 2.5 ไร่
3 เพดานการถือครองที่ดินนี้ใช้กับครอบครัวไม่เกิน 5 คน ถ้าสมาชิกมีมากกว่านี้ก็เพิ่มที่ดินให้ แต่ไม่เกินสองเท่าของเพดานครัวเรือน 5 คน
4 เพดานการถือครองที่ดินนี้ ไม่ใช้กับที่ดินที่ปลูกชา โกโก้ กระวาน อันนี้เป็นการเปิดช่องให้กับการทำอุตสาหกรรมการเกษตร แต่รัฐบาลจะควบคุมเรื่องค่าแรงการเกษตรแทน
5 เพดานการถือครองที่ดิน ไม่ใช้กับที่ดินภาคอุตสาหกรรม หรือการค้าที่ไม่ใช่เกษตรกรรม
6 รัฐสามารถยกเว้นการถือครองที่ดินให้กับฝ่ายศาสนา องค์กรการกุศล และการศึกษา โดยมีข้อแม้ว่ารัฐต้องพิจารณาความเหมาะสมเพราะว่าอินเดียมีศาสนาเป็นจำนวนมาก เขาจึงพยายามปล่อยให้ศาสนามีที่ดินแต่อาจะไม่ให้มีมากจนเกินไป
7 การกระจายที่ดินส่วนเกิน จะเน้นไปที่เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน โดยเฉพาะวรรณะจัณฑาล ชนกลุ่มน้อย
8 ค่าชดเชยที่ดินส่วนเกินควรกำหนดต่ำกว่าราคาตลาด มีทั้งรัฐจ่าย และผู้จัดสรรจ่าย ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินสดหรือพันธบัตรก็ว่ากันไปตามแต่รัฐ
นอกจากนี้ การปฏิรูปที่ดินในอินเดียยังมีการกระจายที่ดินให้กับคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ซึ่งจะมาพร้อมกับเงินกู้ เงินช่วยเหลือ จะเน้นเรื่องที่ดินแปลงเล็ก เน้นเรื่องโภชนาการ คุณภาพชีวิต และยังมีองค์กรเอกชนจากต่างประเทศเข้าไปทำ โดยจะเน้นเรื่องเสรีนิยมใหม่และเรียกร้องให้รัฐซื้อที่ดินในราคาตลาดที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ แล้วกระจายเป็นแปลงเล็กๆ กระจายให้แรงงานที่ไม่มีบ้านอยู่ และเน้นกระจายเอกสารสิทธิ์ให้กับผู้หญิงก่อน เพราะเชื่อว่าผู้หญิงจะถือครองได้นานกว่าผู้ชาย
"ที่กล่าวมาจะเห็นว่า การปฏิรูปที่ดินในประเทศอินเดียมีเงื่อนไขสำคัญ คือ มีการสำรวจว่า แต่ละภูมิภาคมีลักษณะที่แตกต่างกันหรือไม่ มีการถือครองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทำให้แต่ละพื้นที่มีการกระจายที่มีประสิทธิภาพ และเป็นจริงมากขึ้น"
นอกจากนี้ เมื่อมีการปฏิรูปที่ดินแล้วต้องมีการบริการตามหลัง ความช่วยเหลือต้องตามมาด้วย และจะต้องมีผลได้ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เมื่อปฏิรูปแล้วผลผลิตเพิ่มขึ้นไหม เกษตรกรสามารถยกระดับชีวิตได้หรือไม่ ซึ่งถ้ามีการนำร่องก็จะเกิดแรงบันดาลใจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
ประชาธรรม 29-06-55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.