“โง่-จน-เจ็บ” เป็นคำนิยามที่มักใช้กล่าวถึงผู้คนในชนบทโดยเฉพาะ“ภาคเกษตร” เนื่องด้วยเกษตรกรจำนวนมากมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยจะสู้ดีนัก แต่หากจะบอกว่าเกษตรกรไม่มีความรู้ในอาชีพก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะปัญหาสำคัญอยู่ที่ “ปลูกได้แต่ไม่รู้จะขายที่ไหน” แม้จะมีความตั้งใจพัฒนาผลผลิตเพียงใดแต่เมื่อหาตลาดไม่ได้ “ขาดทุนซ้ำๆ ซากๆก็ย่อมหมดกำลังใจ” ถ้าไม่ขายที่ทางหาทุนเข้าไปเป็นแรงงานในเมือง ก็ทำเกษตรไปวันๆ หนึ่งเท่านั้นแล้วเมื่อราคาตกต่ำ
ก็เรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ ให้ถูกเพื่อนร่วมชาติอีกกลุ่มประณามหยามหมิ่นไปโดยปริยาย
เพื่อเป็นการ “ถมช่องว่าง” ลดจุดอ่อนและข้อจำกัดข้างต้น วิสาหกิจเพื่อสังคม “เดอะ บาสเก็ต (The Basket)” จึงถือกำเนิดขึ้น โดยหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ศจี คงสุวรรณ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานกับชาวบ้านหรือเกษตรกรมายาวนาน “ชาวบ้านไม่เคยขาดความรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำการเกษตร” อีกทั้งทุกวันนี้ยังมีหลายหน่วยงานที่เข้าไปให้ความรู้ แต่สุดท้ายก็ไป “ตัน” ที่การหาตลาดอยู่ร่ำไป อย่างไรก็ตามขณะนี้จะเห็นว่า “กระแส“รักสุขภาพ” กำลังมาแรงในหมู่คนเมือง” และนั่นน่าจะเป็น “โอกาส” ให้เกษตรกรได้
“ในยุคที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความต้องการทานผักปลอดสารพิษจึงมีเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง มีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยทิ้งบ้านเกิดไปทำงานในเมืองกรุง เมื่อได้ย้อนกลับคืนสู่บ้านอีกครั้งจึงเลือกยึดอาชีพเดิมที่พ่อแม่เคยทำ คือ อาชีพเกษตรกร แต่ประสบการณ์ที่เคยใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ทำให้ทราบความต้องการของผู้บริโภค
ในเมือง คนกลุ่มนี้กรุงเป็นเกษตรกรมีความคิดใหม่ สร้างผลผลิตปลอดสารพิษป้อนสู่ท้องตลาด” ศจี กล่าว
ผู้ร่วมก่อตั้ง The Basket กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้วางแผนไว้ 3 ปี “ปีแรก”เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ล้วนๆ “ปีที่สอง” เป็นเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย ส่งไปดูงานตามที่ต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ และ “ปีที่สาม” หรือปีนี้ (2562) ทำเรื่องเกษตรแบ่งปัน โดยกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรอินทรีย์รอบข้าง อีกทั้งดึงผู้บริโภคมาร่วมกันสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์
แต่ก็ต้องบอกว่า “ไม่ง่ายที่โครงการจะมาได้ถึงปีที่ 3” และเอาเข้าจริงๆ แล้วทุกวันนี้ก็ยังไม่คุ้มทุน ซึ่งโชคดี
ที่มี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาช่วยให้โครงการตั้งหลักได้ ไม่เช่นนั้นอาจล้มไปตั้งแต่ปีแรก โดยขณะนี้แนวโน้มผลประกอบการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าวันหนึ่งย่อมไปถึงจุดที่เกษตรกรสามารถยืนและเดินด้วยกำลังตนเองได้ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการ
ขณะที่ มัลลิกา ดีประเสริฐ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีไทย บ้านเทพราช ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เล่าว่า เติบโตมาบนผืนดินของพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกร สมัยเด็กๆ เคยเห็นพ่อแม่ทำเกษตรก็ใช้สารเคมี เมื่อเรียนจบก็ได้เข้าไปทำงานเป็นฝ่ายการเงินให้กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กระทั่งรู้สึกว่า “ชีวิตในเมืองหลวงมีแต่ความเครียด” จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาเป็นเกษตรกรโดยตั้งใจว่าจะทำแบบไม่ใช้สารเคมี โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการของ The Basket เช่น พาไปดูงานจากต้นแบบที่น่าสนใจ รวมถึงหาตลาดให้
“เดิมทีเกษตรกรที่นี่ใช้สารเคมีเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากที่ได้กลับมาสานต่อจากพ่อแม่ ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสิ่งที่เราต้องการพิสูจน์ว่าเกษตรปลอดสารพิษทำได้จริง ล่าสุดมีเพื่อนสมาชิกแนวคิดเดียวกัน 8 คน ได้แบ่งพื้นที่ 8 ไร่ เป็นพื้นที่กลางเพื่อทำแปลงปลูกผัก เพื่อนเกษตรในกลุ่มคนไหนไม่มีพื้นที่ของตัวเองก็สามารถที่ใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อปลูกผักได้ เพื่อทุกคนในกลุ่มจะได้มีรายไปด้วยกัน” มัลลิกา กล่าว
ปธ.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีไทยฯ เล่าต่อไปว่า “ทุกวันนี้เกษตรในกลุ่มปลูกพืชตามรายการที่ลูกค้าสั่ง” ถือว่ามีตลาดรองรับแน่นอน “ถ้าให้ทำเกษตรกันแบบไม่มีตลาดเกษตรกรก็ไม่รู้ว่าจะไปขายใคร” และเชื่อว่า “เกษตรอินทรีย์คือทางรอด” เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว “หนี้สินของเกษตรกรหลักๆ มาจากซื้อปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” แต่เกษตรอินทรีย์ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเพราะทำเอง หรือถ้าต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ 20 บาท ก็ต้องคำนวณว่าใช้ได้กี่ถาด และอนาคตหากเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เองต้นทุนตรงนี้ก็จะไม่มีอีกต่อไป
“เกษตรเคมีแรกๆ ผลผลิตอาจดี แต่พอผ่านไปไม่ดี ขณะที่เกษตรอินทรีย์แรกๆ ผลผลิตไม่ดี แต่หลังจากนั้นจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องใช้ความอดทน ปัจจุบันที่กลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรข้างเคียง เป็นศูนย์รวมของการส่งผักไปขายกรุงเทพฯ ผักที่นี่รับประกันได้เรื่องปลอดสารพิษ เพราะเราลงตรวจแปลงของเกษตรกรด้วยตัวเองทุกแปลง ซึ่งมีเงื่อนไขร่วมกันชัดเจนว่า หากมีสารปนเปื้อนจะไม่รับผักไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ปัจจุบันปลูกผักอยู่กว่า 10 ชนิด รวมถึงผักสลัดที่ปลูกมี กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักคอทมินิคอท ฟีลเลย์ และเรดโครอล” มัลลิกา ระบุ
ปธ.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีไทยฯ ยังกล่าวอีกว่า การที่มีผู้บริโภคเข้ามาสนับสนุนผู้ผลิตนั้นเปรียบเหมือนการ “ต่อลมหายใจ” ให้เกษตรกรมีแรงมีกำลังในการรักษาคุณภาพต่อไป เพราะมีเงินทุนมาหมุนสำหรับผลิตพืชผักดีๆ ออกสู่ท้องตลาด ทั้งนี้ “การส่งผักทุกชนิดจะพยายามใช้พลาสติกในการห่อให้น้อยที่สุด” โดยจะเก็บผักแต่เช้ามาล้างผึ่งให้แห้ง เพื่อเก็บความสด มีใบตองรองบรรจุในตะกร้าเพื่อรอนำส่งเข้ากรุงเทพฯ ช่วงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศไม่ร้อน ทำให้ผักไม่ช้ำ พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า..
“วันนี้ไม่ปวดหัว “ไมเกรนไม่ขึ้น”เหมือนสมัยอยู่เมืองกรุงอีกแล้ว” เรื่องหลักที่คิดอยู่คือทำอย่างไรจะพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นและส่งผลผลิตที่ดีมีคุณภาพสูงไปสู่ผู้บริโภค!!!
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 5 ส.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.