เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มาตรการทางเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลประกาศใช้ในปัจจุบัน คือ การ “ลดแหลก แจกเงิน” เพื่อประโยชน์ในระยะสั้น คือหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและได้ผลทางการกระจายรายได้อย่างไม่ยั่งยืน
เป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในสภาวะเศรษฐกิจซบเซา
ขณะเดียวกันได้ผลทางการเมือง ที่คนไทยจำนวนมากอยู่ในระบบอุปถัมภ์ หวังพึ่งเจ้านาย พึ่งรัฐอีกด้วย
แล้วเราจะใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการประชานิยมแบบนี้ โดยอ้าง “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ไปอย่างนี้ตลอดไปละหรือ มาตรการนี้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของไทยแข็งแกร่งยั่งยืนได้จริงหรือไม่
มาตรการประกันรายได้ให้เกษตรกร
รัฐบาลได้เลือกใช้การประกันรายได้ โดยไม่เข้าแทรกแซงตลาด หรือรับซื้อสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม และอื่นๆ เหมือนกับในอดีตที่รัฐต้องเอาหน่วยงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่มีความรู้ความสามารถในการซื้อขาย กักเก็บสินค้าเกษตรเหล่านี้มาดำเนินการซื้อขายทั้งประเทศ เปิดช่องให้มีการสมคบกับธุรกิจเอกชน โกง ทุจริต ในการดำเนินงาน
การตั้งราคาขั้นต่ำของสินค้าเกษตร และพร้อมจะจ่ายส่วนต่างของราคา หากราคาตลาดต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ
ในจำนวนที่จำกัด ให้แก่ชาวนาแต่ละครัวเรือนจึงเป็นนโยบาย มาตรการเฉพาะหน้าที่เหมาะสมมากกว่าการที่รัฐจะเข้าไปซื้อขายในตลาดกับเขาด้วย
งบประมาณที่รัฐจะสูญเสียน้อยกว่ากันมาก สามารถควบคุมยอดเงินงบประมาณได้ ถ้ามีการควบคุมการบริหารจัดการการแจกเงินให้ตรงตัว โดยจ่ายโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร โอกาสการโกงและต้นทุนบริหารจัดการก็น้อยลงมาก
แต่หากรัฐบาลจะสนใจเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเป็นปีๆ ไปเรื่อยๆ
ในระยะยาว ประเทศไทยในฐานะอู่ข้าว อู่น้ำ เป็นผู้ผลิตอาหารและส่งออกอาหารที่สำคัญจะยังคงยืนอยู่ได้อีกนานเท่าไร
เราจำเป็นต้องคิดปรับปรุงการผลิต การเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ จึงจะทำให้เราสามารถส่งออก แข่งขันกับต่างประเทศได้ในอนาคต
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง เรื่อง ข้าว เป็นตัวอย่างเพื่อจะได้ไม่ต้อง “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ไปเรื่อยๆ
รัฐบาลควรต้องคิดนโยบายทางการตลาด และนโยบายทางการผลิต (กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรฯ) ประสานกันดังนี้
1. กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งเสริมผู้ส่งออกของไทยขยายตลาดข้าวที่ไม่ใช่เพียงกินอิ่มแต่ต้องกินอร่อย “Tasty” กินแล้วปลอดภัย “Safety” และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ “Healthy”
ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการสินค้าดี มีลักษณะพิเศษและมีกำลังซื้อพร้อมจะจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้น
กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งเสริมการขายข้าวให้เป็นสินค้าเฉพาะ (Product) ไม่ใช่สินค้าดาษดื่น (Commodity)
จะทำให้ได้ราคาดี ครองใจผู้บริโภคในกลุ่มที่มีกำลังซื้อ
กระทรวงพาณิชย์ ต้องส่งเสริมชาวนาที่รวมตัวกัน เช่น ที่เกิดขึ้นในจังหวัดยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ ปลูกข้าวคุณภาพ ซึ่งนอกจากกินอร่อยยังปลอดสารพิษ ให้กลุ่มชาวนาเหล่านี้ได้มีโอกาสขายและส่งออกไปยังผู้บริโภคใน
ต่างประเทศได้สะดวกขึ้น
เปรียบเสมือน ส่งเสริมเรือลำเล็กให้เดินหน้าแสวงหาทางเลือกใหม่ แต่ก็ไม่ทิ้งเรือลำใหญ่ ที่ส่งออกข้าวจำนวนมาก
2. กระทรวงเกษตรฯ ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ได้ โดยเพิ่มผลผลิตเฉลี่ย
ต่อไร่ให้สูงขึ้นอีก 30% เมื่อต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันลดลง ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในการค้าข้าวได้
เพราะแม้ราคาข้าวจะตกต่ำเราก็อยู่ได้ เพราะต้นทุนของเราต่ำกว่า
2.1 ปัจจุบันชาวนาไทยที่มีความสามารถสูง ปลูกข้าวได้ผลผลิตต่อไร่สูง ไม่แพ้ชาติอื่นก็มี แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีคนที่ประกอบอาชีพชาวนามากแต่มีชาวนามืออาชีพน้อย ชาวนาส่วนหนึ่งประกอบอาชีพอื่นแต่ถึงเวลาทำนา เกี่ยวข้าวก็จะทำนาด้วยโทรศัพท์มือถือคือติดต่อจ้างไถ จ้างเก็บเกี่ยวการดูแลเอาใจใส่จึงน้อย
หากให้ชาวนาได้เรียนรู้วิธีการทำนาอย่างประณีตจากชาวนา “มืออาชีพ” เชื่อว่านอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนชาวนาที่เขาทำได้ประสบความสำเร็จ
2.2 รัฐบาลต้องใช้เทคโนโลยีในการสำรวจ (อาจด้วยระบบดาวเทียม) ว่าพื้นที่ใดมีคุณภาพดินที่จะต้องปรับปรุงอย่างไรและเร่งดำเนินการให้เป็นจริง
อาจต้องประสานชาวนาหลายแปลงให้ร่วมกันปรับระดับที่ดินให้เสมอกัน เพราะหลายแห่งเมื่อที่ดินลาดเอียง จำเป็นต้องทำคันนาเพื่อกักน้ำไม่ให้ไหลไปกองรวมอยู่ที่เดียว การที่มีนาแปลงใหญ่ขึ้นอาจสะดวกที่จะนำรถไถ รถเกี่ยวข้าว เข้าดำเนินการในต้นทุนต่ำกว่า
2.3 น้ำต้นทุนในการปลูกข้าวมีอยู่จำกัด ขณะนี้เราขยายน้ำต้นทุนได้ยากลำบาก และในปัจจุบันเราได้หยุดการพัฒนาคลองซอย คลองไส้ไก่ ที่จะส่งน้ำให้ถึงที่นาได้อย่างทั่วถึง
เมื่อน้ำมีอย่างจำกัด แต่ชาวนาที่อยู่ต้นน้ำจะใช้น้ำมากเกินความจำเป็น เพราะของฟรีใครๆ ก็อยากได้มาก ชาวนาปลายคลองส่งน้ำถึงขาดน้ำ
คงจะถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องมีการจัดเก็บค่าใช้น้ำ ใครใช้มากก็ต้องจ่ายมาก แต่เงินที่ชาวนาจ่ายควรเป็น
กองทุนของชุมชน เพื่อใช้ในการพัฒนาขยายแหล่งน้ำและ ดูแลการส่งน้ำให้ทั่วถึง ไม่ควรนำเข้าส่วนกลาง
ทั้งนี้ จะต้องทำความเข้าใจและให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินงาน เพราะชาวนาคุ้นชินกับของฟรี น้ำฟรีมาโดยตลอด
การรวมตัวของชาวนาในเรื่องบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน ท้องถิ่น จะช่วยให้เกิดการวางแผนกำหนดการใช้น้ำและกำหนดการปล่อยน้ำทิ้งเมื่อไม่ต้องการน้ำ
2.4 กรมการข้าวและหน่วยงานวิจัยของไทย มีฝีมือในการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ที่ดีอยู่แล้ว หากรู้เป้าประสงค์ของผลิตผลว่าต้องการข้าวชนิดที่ กินอร่อย ปลอดภัย รักษาสุขภาพ ก็สามารถดำเนินการได้ และสามารถเพิ่มผลผลิตให้ตรงกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
ควรให้ความรู้กับชาวนาว่า เพื่อให้ผลผลิตข้าวสูงเวลาเหมาะสมของข้าวแต่ละพันธุ์ที่จะปลูกเพื่อให้เวลาข้าวตั้งท้อง ไม่ตรงกับเวลาอุณหภูมิ ที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด จะต้องบริหารจัดการอย่างไร ทั้งนี้เพราะเวลาอุณหภูมิช่วง ร้อนจัด เย็นจัด หากตรงเวลาที่ข้าวตั้งท้องจะได้ผลผลิตที่ต่ำกว่า
เรื่องปุ๋ย เรื่องยาฆ่าแมลง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องบริหารจัดการโดยหน่วยงานต่างกรม ที่จะต้องส่งเสริมให้ชาวนาทำนาอย่างมีทางเลือก
ยังมีอีกมากที่กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จะได้ร่วมกันทำงานโดยไม่งัดข้อในเรื่องอำนาจหน้าที่และงบประมาณตามกฎหมาย
2.5 กระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในการจัดชั้นแบ่งเกรดของข้าวเปลือก
และข้าวสารให้ได้ เพราะปัจจุบันการจัดชั้นแบ่งเกรดยังมีปัญหามาก ชาวนาที่ปลูกข้าวได้คุณภาพดีกว่า แต่เมื่อการจัดชั้นแบ่งเกรดไม่ชัดเจนดีพอ พ่อค้าโรงสีก็ไม่กล้าซื้อในราคาแตกต่าง จึงไม่เป็นแรงจูงใจให้ชาวนาพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพดีขึ้น
3. รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่าต้องการให้ชาวนา “ได้กำไรสูงสุด ไม่ใช่ได้ราคาสูงสุด”
เพราะในปัจจุบันเราสนใจแต่จะทำให้ราคาสูง ส่วนผลผลิตจะมีต้นทุนสูงเนื่องจากผลผลิตต่อไร่ต่ำ เรากลับไม่ค่อยสนใจ
เป้าหมายจึงควรกำหนดให้ชาวนาได้ “กำไรสูงสุด” คือลดต้นทุนการผลิตโดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นจึงน่าจะเป็นนโยบายระยะยาวของรัฐบาล
ในโอกาสหน้า จะได้วิเคราะห์ถึงนโยบายพืชผลตัวอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบายและมาตรการ “ลดแหลก แจกเงิน”
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 3.16 แสนล้านบาท โดยเพิ่มเงินใส่บัตรคนจน เพิ่มเบี้ยยังชีพ และส่งเสริมให้คนออกท่องเที่ยว
แจกคนละ 1,000 บาท จะได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะผูกขาด มาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อพฤติกรรมของคนไทยที่ชอบรอของแจกฟรี โดยไม่ช่วยตนเองหรือไม่
และที่เลวร้ายที่สุด การยุยงส่งเสริมให้คนไทยใช้จ่ายมากขึ้น ท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น จะตรงข้ามและขัดแย้งกับสังคมสูงวัยของไทย ที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ที่เราจำเป็นต้องส่งเสริมการออมเพื่อให้คนวัยทำงานในปัจจุบัน สามารถเตรียมตัวว่าเมื่อตนเป็นผู้สูงอายุจะมีเงินออมไว้ใช้
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 2 ก.ย. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.