จากอดีตถึงปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรเป็นผู้ผลิตอาหาร มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคชนบทและสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกปีละหลายแสนล้านบาท ในทางกลับกันเราพบว่าพวกเขากำลังเผชิญกับภาวะบีบคั้นของปัญหาหนี้สินที่สูงกว่ารายได้ถึงสองเท่า มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินและที่รุนแรงสุดกลายเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินในที่สุด
สถานการณ์ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลาง หลายรายมีหนี้สินในแต่ละแหล่งไม่สูงมากแต่เนื่องจากมีหนี้หลายก้อนและเมื่อนำหนี้หลายก้อนมารวมกันจึงเป็นจำนวนหนี้ที่สูง สถานการณ์ชำระหนี้จึงมีลักษณะแบบหมุนหนี้หรือสามารถชำระได้เพียงดอกเบี้ยรายปีเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถหลุดจากวงจรหนี้ได้ บางรายต้องสูญเสียที่ดินเพราะถูกเจ้าหนี้นอกระบบโกง สำหรับสาเหตุของการเป็นหนี้สินนั้นส่วนใหญ่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูง ภัยธรรมชาติ สภาวะโลกร้อนส่งผลให้ผลิตออกมาน้อย ปัญหาแรงงานในครัวเรือนไม่เพียงพอโดยเฉลี่ยมีเพียงครอบครัวละ 1-2 คนเท่านั้น และต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูลูกหลาน ชาวนาส่วนมากมีรายได้ทางเดียวจากการทำนาในขณะที่มีรายจ่ายทุกวัน เห็นได้จากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ มีเพียง 71.59 ล้านไร่เป็นพื้นที่ของเกษตรกรเอง ที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ต้องเช่า และใน 71.59 ล้านไร่มีเกือบ 30 ล้านไร่ติดจำนอง อีก 1.15 แสนไร่อยู่ในช่วงการขายฝากโดยสาเหตุหลักของการสูญเสียที่ดินเพราะต้องการปลดหนี้ (เขมรัฐ เถลิงศรี,2557)
รัฐบาลหลายยุคสมัยรวมถึงรัฐบาลที่บริหารงานอยู่ขณะนี้ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรมาตลอดหากเราศึกษานโยบายที่พรรคการเมืองใหญ่ใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด คำแถลงนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันโอชา ประเด็นที่ภาคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และอนาคตใหม่ ตระหนัก ก็คือนโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในพืชหลัก เช่น ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา ด้วยวิธีการพักชำระหนี้ ปลดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และประกันราคาผลผลิตโดยเฉพาะข้าว ได้ประกันราคาข้าวเจ้าเกวียนละ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิสูงถึง 18,000 บาท ราคายางพาราไม่ต่ำกว่ากิโลละ 65 บาท ปาล์มน้ำมันราคากิโลละ 10 บาทรวมทั้ง ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการผลิต นับจากวันเลือกตั้งจนถึงปัจจุบันผ่านมาแล้ว4เดือนเกษตรกรยังเผชิญอยู่กับราคาผลผลิตตกต่ำ
แล้วทำไม???นโยบายที่ว่ามาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินหรือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ก็เป็นเพราะนโยบายหรือมาตรการเหล่านี้แก้ปัญหาระยะสั้นต่อลมหายใจชาวนา ใช้เป็นจุดขายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการเรียกคะแนนเสียงจากชาวนาไม่สามารถแก้หนี้ได้จริงไม่ได้สรุปบทเรียนความผิดพลาดอดีต จากงานศึกษาเรื่องพฤติกรรมและสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนที่มีปัญหาด้านหนี้สินได้มีความเห็นต่อนโยบายการพักชำระหนี้ของรัฐบาลที่ผ่านมาว่า โครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาลแม้ว่าเหมือนจะช่วยยืดระยะเวลาการชำระหนี้เงินต้นออกไปแต่ระหว่างที่ยึดพักก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ สำหรับเกษตรกรบางรายในช่วงเวลาปกติก็ชำระได้เพียงดอกเบี้ยอยู่แล้ว ซึ่งเท่ากับนโยบายพักชำระหนี้ไม่ใช่ทางออกของปัญหาหนี้เกษตรกรหากไม่มีแนวทางอื่น ๆ ร่วมด้วย (ชญานี ชวะโนทย์,สฤณีอาชวานันทกุล, 2562)
และหากรัฐบาลต้องการใช้นโยบายพรรคชำระหนี้ให้กับเกษตรกรสิ่งที่ต้องพิจารณาและขีดเส้นใต้คืออย่าพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นอย่างเดียวต้องหยุดดอกเบี้ยด้วย อีกทั้งให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาปรับระบบการผลิตพึ่งตนเองไม่สร้างหนี้เพิ่มและวางแผนการชำระหนี้ในระยะยาว นโยบายที่เป็นความคาดหวังของเกษตรกรที่ไม่ทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะวิกฤติเช่นปัจจุบันควรเป็นนโยบายนำไปสู่การรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร โดยตั้งกองทุนรักษาที่ดินหรือธนาคารที่ดิน จัดตั้งกองทุนเกษตรกรระยะปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ยกระดับพัฒนาช่องทางการตลาด โดยรัฐบาลต้องวางเป้าหมายและกำหนดตัวชี้วัดที่จะเกิดขึ้นของแต่ละนโยบายให้ชัดเจนกำหนดแผนปฏิบัติงานเชิงคุณภาพใน 5 ปี
รูปแบบแก้หนี้ชาวนาจากประสบการณ์ทำงานมูลนิธิชีวิตไท สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรหรือชาวนาดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะพวกเขายึดอาชีพหลักภูมิปัญญาดั้งเดิมคือ อยู่กับท้องไร่ท้องนา ประกอบอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น ทำน้ำตาลโตนด ปลูกพืชที่หลากหลายมากขึ้น ข้าวโพด แตงกวา ผักสวนครัว และหันมาแปรรูปผลผลิตจะได้มีรายได้ไม่ขาดมือและไม่ไปกู้หนี้เพิ่ม ทั้งนี้เพื่อรักษาที่ดินผืนสุดท้ายไว้ให้ลูกหลาน
มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เป้าหมายใน จ.ชัยนาท จ.สระบุรี และจ.ปราจีนบุรี ทำกองทุน “Crowd Funding แก้หนี้ชาวนารักษาที่ดินผืนสุดท้าย”ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรใน ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาทซึ่ งเบื้องต้นริเริ่มกับ เกษตรกร 5 ครอบครัวปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนและส่งขายให้มูลนิธิฯ โดยมูลนิธิร่วมรับความเสี่ยงในกรณีเกิดภัยธรรม เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงศัตรูพืชระบาดผลผลิตได้รับความเสียหายมากกว่า 90 % ทางมูลนิธิจะร่วมรับผิดชอบในส่วนต้นทุนการผลิตไม่เกินร้อยละ 30 % ที่เกษตรกรจ่ายนับจากวันที่เริ่มผลิต รวมทั้งผู้ที่ยังขาดเงินลงทุนสำหรับการปรับระบบการผลิต ซื้อปัจจัยการผลิตมูลนิธิสามารถให้การสนับสนุนได้ไม่เกินร้อยละ 30% ของราคาที่รับซื้อ โดยมูลนิธิจะรับซื้อข้าวที่มีความชื้นไม่เกิน 15% ในราคาเกวียนละ 12,000 บาท เพื่อนำมาจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภค สร้างมีรายได้ต่อเนื่อง ได้รับราคาที่เป็นธรรม และมีแรงบันดาลใจผลิตของดีที่มีคุณค่าต่อผู้บริโภคสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการออมในครัวเรือน
หนี้สินเกษตรกรเป็นเรื่องซับซ้อนเชื่อมโยงเสมือนใยแมงมุม ที่ไม่สามารถแก้ด้วยนโยบายใดนโยบายหนึ่ง เช่น ซื้อหนี้ ประกันราคาผลผลิต หรืออุดหนุนต้นทุน ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลควรตระหนักเดินหน้านโยบายที่เป็นประโยชน์กับชาวนาระยะยาวและสนับสนุนพื้นที่ต้นแบบ พื้นที่เครือข่ายให้สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่แบบมีส่วนร่วม
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 ส.ค. 2562
ผู้เขียน : สมจิต คงทน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.