เกษตรอินทรีย์ คือ การทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมี และหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนสารเคมีจากทั้งดิน น้ำ อากาศ เพื่อเป็นแนวทางการผลิตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ และความปลอดภัยอาหารของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ รวมถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมี สารสังเคราะห์ หรือสิ่งที่ได้จากการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งตรงกับกระแสโลกในยุคปัจจุบันที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ระบบการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันมีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของตลาดและหน่วยงานรับรอง ระบบชุมชนรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง ที่เหมาะกับเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อขายภายในชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเอง มุ่งเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการผลิตของตนเอง เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชุมชน ให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรับรอง (ควรมีการรวมกลุ่มตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป) สร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย นำไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน เกิดการเรียนรู้ในการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมโครงการส่งเสริมการผลิตพืชผักด้วยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) จังหวัดสระบุรี รุ่นที่ 1 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จัดโดยสหกรณ์บริการสินค้าเพื่อสุขภาพสระบุรี จำกัด ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ภายในกิจกรรมมีเกษตรกรทั้งจากพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เกษตรกรที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้มีความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมีและเริ่มต้นปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงของตนเองอยู่แล้ว บางส่วนได้ขายผลผลิตของตนเองสู่ตลาดท้องถิ่นบ้างแล้ว แต่ยังขาดระบบการตรวจรับรองมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการผลิตและตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น
จังหวัดสระบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 2,235,300 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1,196,872 ไร่ หรือร้อยละ 53.54 ของพื้นที่ทั้งหมด และมีพื้นที่ที่ทำเกษตรอินทรีย์เพียง 3,307 ไร่ ประกอบด้วย ข้าว 750 ไร่ พืช 437 ไร่ และปศุสัตว์ 2,120 ไร่ หรือเพียงร้อยละ 0.27 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยในปี 2564 จังหวัดสระบุรีมีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS)
เนื้อหาการอบรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายของวิทยากรจากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสระบุรี เรื่องบทบาทภาครัฐในการสนับสนุน PGS ที่ผ่านมาภาครัฐจะสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมเกษตรอินทรีย์ PGS ด้านปัจจัยการผลิต เช่น สารเร่งปุ๋ยหมัก สารย่อยสลายปุ๋ยหมัก สารป้องกันโรค เมล็ดพันธุ์พืชปรับปรุงบำรุงดิน เกษตรกรสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน จากนั้นหากเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว ภาครัฐจะสนับสนุนด้านการตลาด หรือเชื่อมโยงกลไกหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และการเชื่อมโยงตลาด
ช่วงต่อมาคุณนคร ลิมปคุปตถาวร หรือเจ้าชายผัก วิทยากรผู้มีความความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตพืชผักอินทรีย์ ได้บรรยายเพื่อทำความเข้าใจเรื่องหลักการทำเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน PGS เกษตรอินทรีย์ คือ การเข้าใจหลักของธรรมชาติและพึ่งพากลไกธรรมชาติ เข้าใจดิน เข้าใจพืช ทำอย่างไรให้พืชเติบโตเข้าหาแสง เข้าหาธรรมชาติ ให้พืชเป็นต้นไม้จริง ๆ เป็นลูกของโลก ของพระอาทิตย์ ทำอย่างไรให้ง่าย เตรียมดินครั้งเดียวแล้วไม่ต้องทำอีก ให้เป็นเกษตรยั่งยืน การทำให้ดินฟื้นฟูกลับคืนมา อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างระบบการหมุนเวียนธาตุอาหารภายในฟาร์ม ปรับปรุงดิน ไถโดยไม่พลิกดิน ทำให้อากาศลงไปในดินได้เยอะ ช่วยจุลินทรีย์ย่อยสลาย
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS ไม่เพียงเป็นกลไกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสนับสนุนการตลาดของเกษตรกรเท่านั้น PGS ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกกลุ่มเกษตรกร โดยมีองค์ประกอบด้านการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม การสร้างความไว้วางใจกัน การมีส่วนร่วม การสร้างความโปร่งใส และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
นอกจากนี้การทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เพียงการดูแลคุณภาพของผลผลิตเท่านั้น แต่เป็นการร่วมกันดูแลคุณภาพของ ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม พืช สัตว์ โดยมาตรฐานคือข้อตกลงขั้นต่ำที่ทางกลุ่มกำหนดขึ้นตามหลักการปฏิบัติเกษตรอินทรีย์ กำหนดเป็นกฎและกติกาด้านการผลิต และหากมีการละเมิดข้อตกลงก็จะมีบทลงโทษในขั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ ตักเตือน หยุดจำหน่าย ตัดสิทธิ เป็นต้น
ช่วงสุดท้ายของการฝึกอบรมเกษตรกรและผู้เข้าร่วมได้สะท้อนความรู้สึกที่ได้จากการเข้าร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ว่า ทำให้เกษตรกรมีความรู้และความเข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งมาจากพื้นที่ใกล้เคียงและต่างพื้นที่ ทราบถึงวิธีการป้องกันแปลงของตนเองจากการปนเปื้อนและปะปนผลผลิตเคมีจากพื้นที่ข้างเคียงว่าควรมีวิธีป้องกันอย่างไร เข้าใจแนวทางการปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ แนวกันชน การวางผังแปลง ปัจจัยการผลิตอะไรใช้ได้และห้ามใช้ เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ วัสดุปรับปรุงดิน เครื่องมือการเกษตร การจดบันทึกข้อมูลปัจจัยการผลิตและปริมาณผลผลิตสม่ำเสมอ เป็นต้น ตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงของตนเองให้ประสบความสำเร็จ พร้อมเดินไปสู่เป้าหมายการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยหลักการธรรมชาติและไม่ใช้สารเคมี เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในสังคม
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ก.ค. 2562
ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.