ถึงยังไม่ชัดเจนว่า นโยบายยกระดับรายได้ของเกษตรกร ที่รัฐบาลเตรียมแถลงต่อรัฐสภาคืออะไร แต่เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่นั่งรัฐมนตรีว่าการทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ จะต้องผลักดันอย่างที่เคยหาเสียงไว้
ยิ่งผลสำรวจซูเปอร์โพล ชี้ว่านโยบายเร่งด่วนที่ประชาชนกลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพอยากเห็นรัฐบาลทำมากที่สุด คือการประกันรายได้สินค้าเกษตรด้วยเช่นกัน แบบนี้ยิ่งต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ดูจะขัดใจมวลชน
ตามที่พรรคการเมืองออกชุดนโยบายเอาไว้ ข้าวไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาท ปาล์มไม่ต่ำกว่า 10 บาท กรมการค้าภายในยืนยันเตรียมข้อมูลเอาไว้แล้ว ทั้งการประกันรายได้และประกันภัยสินค้าเกษตร
วิธีการประกันรายได้ที่อาจนำมาปัดฝุ่นใหม่ จากที่เคยถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เมื่อชาวนาขายข้าวให้โรงสี โรงสีบอกราคาตันละ 6,000 บาท แต่รัฐบาลอยากให้ชาวนามีรายได้ 10,000 บาท จึงต้องชดเชยส่วนต่างอีก 4,000 บาท นี่คือประกันรายได้ “ประกันรายได้” ถูกย้ำว่าไม่ใช่ “ประกันราคา” เพราะประกันราคาคือ การรับจำนำ ที่รัฐตั้งโต๊ะรับซื้อราคาสูงๆ
หากหยิบมาใช้ตอนนี้ เหมาะสมหรือไม่ สถานการณ์แรก...ไทยกำลังเกิดภาวะภัยแล้งเอลนิโญ ฝนน้อยน้ำน้อย ขาดน้ำทำนา โดยเฉพาะนาชลประทาน ที่ทำให้ข้าวนาปรังฤดูกาลหน้าเพาะปลูกไม่ได้ มีนโยบายออกมา ชาวนาก็ไม่ได้ประโยชน์ ส่วนข้าวหอมมะลิยังมีราคาสูง
ประเด็นต่อมา ถ้าทำจะเอาราคาไหนเป็นราคาอ้างอิง เพราะตลาดสินค้าเกษตล่วงหน้า (TFEX) และท่าข้าวต่างๆ ที่ทำหน้าที่ตลาดกลางได้สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเฉพาะท่าข้าวที่หมดประโยชน์ตั้งแต่มีโครงการรับจำนำ เพราะรัฐตั้งโต๊ะรับซื้อเอง
ขณะที่นโยบายประกันรายได้ชาวนา ที่เคยทำเมื่อปี 2552- 2553 ถูกนักวิชาการมองว่า ได้ให้ส่วนต่างราคาแก่ชาวนาก็จริง แต่กลับไปกดราคาตลาด เนื่องจากโรงสีกดราคารับซื้อจากชาวนา โดยบอกว่าชาวนาจะได้ส่วนต่างที่เหลือจากรัฐ
ผลที่ตามมาคือ ราคาข้าวในตลาดทั้งหมดตกต่ำลงตามราคาที่โรงสีกดจากชาวนา มิหนำซ้ำรัฐต้องเพิ่มงบประมาณจ่ายชดเชยมากขึ้นด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ นโยบายนี้ยังเร่งให้ชาวนาอยากปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น และเร่งให้ทันโครงการประกัน ผลผลิตข้าวได้ปรับสูงขึ้น จาก 30 ล้านตัน เป็น 37 ล้านตัน ยิ่งเพิ่มข้าวในตลาดราคายิ่งต่ำลง
ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่า การประกันรายได้ชาวนา ทำได้ชั่วคราวและทำได้จำกัด
หากวันหนึ่ง ต้องให้ ธกส.ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อดึงราคาขึ้น ก็ไม่ต่างกับการรับจำนำ ที่ต้องใช้เงินมหาศาลไปจ่ายทั้งหมด และยังขัดกับแนวทางเกษตรในปัจจุบันที่ควรคัดเฉพาะผลผลิตคุณภาพ
ขณะที่กระแสรักสุขภาพได้ทำให้แนวโน้มบริโภคข้าวขาวทั่วไปชะลอลง เกษตรกรจะปลูกแต่พืชเชิงเดี่ยวเห็นจะไม่รอด ปลูกอย่างเดียวแล้วหวังให้รัฐอุ้มราคาอยู่เรื่อยไป
ทั้งแห้งแล้ง ทั้งไม่มีราคาอ้างอิง ทั้งตลาดข้าวที่เปลี่ยนไป การอุดหนุนด้วยวิธีประกันรายได้ อาจไม่ใช่ทางออก เพราะไม่ส่งเสริมเกษตรกรให้เข้มแข็ง รัฐบาลอาจต้องย้อนกลับมามองว่าหน้าที่รัฐคือส่งเสริมการค้าให้เป็นธรรม ถ้าโรงสีกดราคา ก็เข้าไปดูว่าแก้ไขอย่างไร กำกับอย่างไร ไม่ใช่อุ้มทุกกรณี
พรพิมล ปัญญานะ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว
ที่มา : ไทยพีบีเอส วันที่ 22 ก.ค. 2562