น้ำทีท่วมขังในแปลงมามีการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ต้องปลูกเปียกสลับแห้ง ลดก๊าซและประหยัดน้ำ
การปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดจากการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา เพราะมีการย่อยสลายสารอินทรีย์ตามธรรมชาติของแบคทีเรียบางชนิดในสภาวะไม่มีอากาศ เช่น น้ำที่ท่วมขังในแปลงนา การย่อยอาหารของสัตว์ ซึ่งก๊าซมีเทนมีความรุนแรงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า นอกจากนี้ การไถพรวนเปิดหน้าดินหรือเผาฟางข้าวตอซัง เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ยังเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศซ้ำเติมโลกด้วย ซึ่งโดนกล่าวหาว่าทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งที่ภาคเกษตรกรเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฟ้าฝนไม่ตกตามฤดูกาล ต้องเผชิญภาวะภัยพิบัติถี่ขึ้น นำมาสู่โจทย์ท้าทายทำอย่างไร วิถีเกษตรถึงจะทำนาแบบยั่งยืน ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกอย่างไรถึงจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขยับตัวลดผลกระทบจากโลกร้อน จัดงานเปิดตัวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า โครงการ Thai Rice NAMA ขึ้นที่กระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันก่อน "โปรเจ็กต์ข้าวรักโลก" นี้ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร จาก "NAMA Facility" กองทุนที่ก่อตั้งโดยอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2561-2566) เพื่อดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกรหนึ่งแสนครัวเรือน ในเขต 6 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จ.ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ เป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (GAP++) มีมาตรการจูงใจสนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบในการลดการปล่อยก๊าซ
เปิดตัวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากทำนา
ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงที่มาว่า ต้นปี 2560 กรมการข้าวร่วมกับ GIZ เสนอแนวคิดโครงการ Thai Rice NAMA และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 7 โครงการ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน มีการจัดเตรียมข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ จากนั้นกรมการข้าวจัดส่งข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ให้พิจารณาช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ภายใต้โครงการนี้เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ประกอบด้วย การปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ จัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในช่วงปลูกข้าว ไม่ใช่ขังน้ำไว้ตลอด จัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รวมทั้งการจัดการฟางและตอซัง
“ เกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยเกินจำเป็นและใช้ปุ๋ยเคมีสำเร็จที่ขายตามโฆษณา ใช้ตามๆ กัน ใส่ปุ๋ยมาก ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยตามหลักวิชาการ หากมีการวิเคราะห์ดินจะรู้ว่าขาดธาตุอาหารชนิดใด นำมาสู่การผสมปุ๋ยที่เหมาะสมตามค่าดิน เกษตรกรลดต้นทุน โครงการจะสนับสนุนเทคโนโลยีผลิตข้าวเฉพาะพื้นที่ ประกอบด้วยพันธุ์ข้าวที่ปลูก วิธีปลูก การป้องกันกำจัดศัตรูข้าวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกร รวมทั้งการผลิตข้ามตามมาตรฐาน GAP ++ ที่มีความสมดุลใน 3 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อีกทั้งเป็นกลไกพัฒนาภาพลักษณ์ข้าวไทย เพิ่มศักยภาพแข่งขันทางการตลาดอีกทาง" ดุจเดือนกล่าว และว่า การบริหารโครงการได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด 6 จังหวัด เพื่อเดินหน้าโครงการบนพื้นที่เกษตรเกือบ 3 ล้านไร่ให้เป็นรูปธรรม
ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลังผุดโครงการมีการเชิญชวนเกษตรกรให้เข้าร่วม ปรากฏว่ามีชาวนากว่าแสนครัวเรือนในภาคกลางที่ตกลงใจจะร่วมแก้ "โลกร้อน” ซึ่งโครงการ Thai Rice NAMA ประเมินว่า จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นเกษตรกรและผู้ให้บริการเทคโนโลยีจำนวน 454,200 คน เป้าหมายเป็นพื้นที่เพาะปลูก 2.8 ล้านไร่ มีทั้งนาปีและนาปรัง คาดว่าจะได้ผลผลิตสูงสุด 4 ล้านตันต่อปี อีกทั้งจะมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนและให้การฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตข้าว ที่ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการนี้ยังดึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาร่วมปล่อยสินเชื่อสีเขียวอีกด้วย
แนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบปัจจุบันไปสู่การทำนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว แจกแจงว่า กลุ่มเป้าหมายโครงการคือ การเกษตรแบบแปลงใหญ่หรือ "นาแปลงใหญ่” ริเริ่มมา 2 ปีก่อน ต่อยอดสู่ "ข้าวรักโลก" แปลงนาที่เข้าร่วมโครงการจะมีตรวจวัดเป็นระยะเพื่อเก็บข้อมูล ก่อนเพาะปลูกและหลังเพาะปลูก ทำบัญชีครัวเรือนและตัวเลขผลผลิตต่อไร่ที่ทำได้ โครงการนี้จะควบคุมการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ส่วนการปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ เดิมเกษตรกรไม่นิยม เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้โครงการได้สนับสนุนสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้เกษตรกร
ขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว
รองอธิบดี อธิบายถึงวิธีการทำเกษตรแปลงนาลดโลกร้อนนี้ว่า เริ่มจากการปรับหน้าดินของแปลงนาให้เสมอกัน น้ำจะไหลไปทุกมุมของแปลง ไม่ต้องขังน้ำปริมาณมากไว้นาน วิธีนี้จะทำให้ค่าสูบน้ำเข้านาลดลง การปรับแปลงนาให้ได้ระดับสม่ำเสมอจะทำให้ต้นข้าวขึ้นสม่ำเสมอ ข้าวไม่เน่า และมีการนำเทคนิค วัดระดับด้วยเลเซอร์และออกแบบพื้นที่ ดินที่สูงเป็นนูนก็ปรับ ส่วนพื้นที่ต่ำก็เติมดินให้เต็ม ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิต ระยะเตรียมดินนี้จะติดตั้งท่อดู
อีกวิธีเป็นการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการใช้น้ำมากเกินความจำเป็น ชาวนาส่วนใหญ่คิดว่า ข้าวเป็นพืชน้ำและต้องแช่น้ำตลอดเวลา และคิดว่าถ้านาข้าวมีน้ำขังจะช่วยควบคุมวัชพืชได้ เนื่องจากข้าวเป็นพืชวิเศษหายใจได้แม้มีน้ำขัง แต่ในช่วงกล้ามีอายุ 15-20 วัน ข้าวไม่จำเป็นต้องแช่น้ำ แต่ใช้วิธีต้องรักษาระดับน้ำให้ความชื้นผิวดินเหมาะสม ช่วงระยะเวลาการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง หรือช่วงแตกกอ 30-35 วัน ให้น้ำเหนือผิวดิน 5 เซนติเมตร เมื่อเข้าระยะข้าวแต่งตัว ตั้งท้อง ถึงออกดอก 50 วัน อย่าให้ข้าวขาดน้ำ นอกจากใส่ปุ๋ยแล้ว ต้องเพิ่มระดับน้ำเป็น 10 เซนติเมตร เมื่อข้าวสุกแก่เกษตรกรต้องลดระดับน้ำให้แห้งเพื่อเร่งการสุกแก่
หลังปลูกข้าวทำอย่างไร รองอธิบดีบอกว่า ให้นำน้ำเข้าแปลงทีละน้อยไล่ระดับจนข้าวโตพอ ให้น้ำระดับความลึก 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน แล้วขังไว้ปล่อยให้น้ำลดระดับลงเองตามธรรมชาติ จนอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับผิวดิน 10 เซนติเมตร หรือท่วมปากท่อ และรักษาระดับไว้ จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์ ให้ระบายน้ำออก เทคนิคนี้จะช่วยลดการใช้น้ำทำนาถึงร้อยละ 20-50 แต่วิธีนี้ขึ้นกับชนิดดินและสภาพอากาศ ที่สำคัญก๊าซมีเทนจะระเหยและไม่สะสมในแปลงนา สำหรับท่อดูระดับน้ำกรมชลประทานพัฒนา ให้เป็นระบบเซ็นเซอร์อำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการทำนา อีกประเด็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกจะส่งเสริมพันธุ์ข้าวอายุสั้น จาก 120 วัน เป็น 105 วัน เก็บเกี่ยวได้ ช่วยลดการใช้น้ำ
การทำนาแบบยั่งยืนขั้นต่อไปคือ การใส่ปุ๋ยตามค่าดิน รองอธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า เดิมเกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เป็นสูตรสำเร็จ ขายตามท้องตลาด ซึ่งไม่ตรงกับสภาพดินและพันธุ์ข้าวที่ปลูกของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ไม่ตรงกับธาตุอาหารที่ต้องการ ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินมีแผนที่วิเคราะห์ดินระดับจังหวัด แต่ไม่มีระดับแปลง สำหรับโครงการ Thai Rice NAMA จะวิเคราะห์ดินรายแปลงนา เก็บตัวอย่างดิน ค่าที่ได้นำมาสู่การผสมปุ๋ยตามที่ข้าวต้องการ ข้าวมีคุณภาพที่ดีขึ้น เกษตรกรจะได้ปุ๋ยราคาถูก และส่งเสริมการรวมกลุ่มทำปุ๋ยต่อไป
" ชูหยุดเผาฟางข้าว ตอซัง ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน" วายร้ายเพิ่มอุณหภูมิโลก เป็นอีกเป้าหมายของโครงการ ขจร บอกว่า แนวทางการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว สร้างมูลค่าเพิ่มและลดการเผาฟางข้าวที่ก่อปัญหามลพิษและหมอกควัน มีการมัดฟ่อนเป็นอาหารสัตว์และการจำหน่ายเพื่อทำวัสดุตกแต่ง วัสดุเพาะเห็ด เชื้อเพลิง หรือใช้ปลูกผัก โดยโครงการทำความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านนี้ นอกจากนี้ แนะให้เกษตรกรไถกลบ พร้อมใส่สารจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายฟางข้าว สำหรับการผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนเป็นเรื่องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างถูกวิธี เพราะจะเพิ่มสารอาหารในข้าว
ที่ผ่านมายังไม่มีการวัดก๊าซมีเทนจากแปลงข้าวไทยอย่างจริงจัง แต่โครงการนี้ทีมนักวิจัยกำลังปรับปรุงและพัฒนาวิธีตรวจวัดก๊าซจากนาข้าว ผลการประเมินจะได้คำตอบที่ชัดเจน เป็นข้อเท็จจริงยืนยัน เพราะที่ผ่านมาภาคเกษตรไทยโดนโจมตีเรื่องนี้ การปลูกข้าวรักโลกจำเป็นในยุคนี้ ไม่ได้มองเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมิติเดียว แต่มีมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค " ขจร ย้ำเกษตรกรและภาครัฐร่วมใจขับเคลื่อนเป้าหมายลดก๊าซของไทย
ด้าน ดร.แมทเทียส บิกเคล ผู้อำนวยการภาคส่วนการเกษตรและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า โครงการ Thai Rice NAMA ซึ่งจะเปลี่ยนการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนควบคู่กับการลดโลกร้อน จะมีการสนับสนุนกลไกเชื่อมโยงตลาด เพื่อสร้างมาตรการดึงดูดใจชาวนา โดยมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ส่งออกข้าวหลายบริษัท, ผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีก ทำงานร่วมกันส่งเสริมการตลาดข้าวไทยและให้คนไทยได้บริโภคข้าวรักโลก ไทยถือเป็นประเทศแรกดำเนินโครงการนำร่องผลิตข้าวที่ยั่งยืน มีเรื่องราวดีๆ ของเกษตรกรไทยภาคอีสานเป็นที่พิสูจน์ เพราะข้าวไทยลดโลกร้อนได้รับรางวัลจานทองการันตีคุณภาพและอร่อยจริง แม้จะปลูกด้วยวิธีช่วยลดโลกร้อน มั่นใจว่าโครงการนี้จะสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยต่อไป
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 2 มิ.ย. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.